สภาธุรกิจตลาดทุนไทย เผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Invester Confidence Index) ประจำเดือน ก.ย.61 ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (พ.ย.61) เพิ่มขึ้นเล็กน้อย อยู่ในเกณฑ์ทรงตัว (Neutral) ช่วงค่าดัชนี 80-120 โดยเพิ่มขึ้น 1.24% มาอยู่ที่ระดับ 109.45
ดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศลดลงเล็กน้อยจากการสำรวจเดือนก่อน ยังคงอยู่ที่ Zone ร้อนแรง (Bullish) ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ และกลุ่มนักลงทุนรายบุคคลปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่นักลงทุนกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ไม่เปลี่ยนแปลง โดยทั้งสามกลุ่มยังอยู่ใน Zone ทรงตัว (Neutral)
"ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในเกณฑ์ทรงตัว (Neutral) เป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน จากผลสำรวจนักลงทุนมีความเชื่อมั่นภาวะเศรษฐกิจในประเทศ และผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน เป็นตัวหนุนความเชื่อมั่น ขณะที่กังวลนโยบายกีดกันทางการค้าและการลงทุน และการไหลเข้าออกของเงินทุน เป็นตัวฉุดความเชื่อมั่น"นายไพบูลย์ นิลินทรางกูร ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ระบุ
ผลสำรวจยังระบุว่า หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดธนาคาร (BANK) หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดธุรกิจสื่อและสิ่งพิมพ์ (MEDIAS) ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ ภาวะเศรษฐกิจในประเทศ ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ
นายไพยูลน์ กล่าวว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยในเดือน ส.ค.61 มีการเคลื่อนไหวค่อนข้างทรงตัวในช่วงระหว่าง 1680-1720 จุด ภายหลังจากที่ดัชนีฟื้นตัวขึ้นช่วงเดือน ก.ค.61 โดยดัชนีฯช่วงปลายเดือนมาเคลื่อนไหวบริเวณ 1720 จุด จากแรงขายสุทธิของนักลงทุนต่างประเทศที่ลดลงเป็นเดือนที่สามติดต่อกัน นับจากที่มียอดขายสุทธิสูงสุดในช่วงเดือน ก.ค.61 ตัวเลขเศรษฐกิจภายในประเทศที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ขยายตัวต่อเนื่องในไตรมาส 2 และผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 2 เป็นที่น่าพอใจ
ผลสำรวจชี้ว่าทิศทางการลงทุน ในอีก 3 เดือนข้างหน้า นักลงทุนมีความเชื่อมั่นภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมถึงผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไทย ทั้งนี้นักลงทุนยังคงเฝ้าติดตามทิศทางการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐและประเทศคู่ค้า ภายหลังจากที่มีนโยบายกีดกันทางการค้าและปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างกัน ว่าจะมีทิศทางผ่อนคลายหรือมีทางออกในการเจรจาในลักษณะใด รวมถึงการประเมินผลกระทบที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ Emerging Market เช่นตุรกี อาร์เจนติน่า ที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีและค่าเงินที่ปรับตัวลดลงมาก โดยหากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศรุนแรงขึ้นจะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง
นอกจากนี้ ประเด็นหลักที่ต้องพิจารณาคือ ทิศทางนโยบายทางการเงินของสหรัฐที่คาดว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้จากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐฯ ขณะที่เศรษฐกิจจีนและยุโรปส่งสัญญาณชะลอตัวลง ทิศทางนโยบายทางการเงินของธนาคารยุโรปที่มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยตลอดปีนี้ ทิศทางนโยบายทางเศรษฐกิจของจีนที่มีต่อสงครามทางการค้า รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่จะมีผลต่อภาวะเศรษฐกิจในภูมิภาค"
ดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Expectation Index) เดือน ก.ย.61 ผลจากดัชนีคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะทรงตัวที่ระดับ 1.50% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี และ 10 ปี มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ปัจจัยหลักมาจากการคาดการณ์การขยายตัวที่ดีทางเศรษฐกิจของไทยและแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น
นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Expectation Index) เดือน ก.ย.61 ดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบเดือน ก.ย.นี้ อยู่ที่ระดับ 56 เป็นการปรับตัวสูงสุดในรอบปีที่ผ่านมา สะท้อนความเชื่อมั่นของตลาดว่า กนง. จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% ในการประชุมที่จะถึงนี้
โดยปัจจัยที่มีผลต่อการคาดการณ์ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของกลุ่ม Bond Dealers และกลุ่ม Fund Managers มีความแตกต่างกันใน 2 อันดับแรก โดยกลุ่ม Bond Dealers ให้น้ำหนักกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อเป็นหลัก ในขณะที่กลุ่ม Fund Managers ให้ความสำคัญกับ Fund Flow และทิศทางดอกเบี้ยในตลาดโลกมากกว่า
ส่วนดัชนีคาดการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 5 ปี และ 10 ปี ในช่วงประชุม กนง. รอบเดือน พ.ย.61 (ประมาณ 11 สัปดาห์ข้างหน้า) อยู่ที่ระดับ 94 และ 91 ตามลำดับ ซึ่งดัชนีคาดการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 5 ปี ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 93 ในขณะที่รุ่นอายุ 10 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากจาก 87 โดยดัชนีทั้งสองยังอยู่ในระดับที่สะท้อนถึงทิศทางการปรับตัวสูงขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทั้ง 5 ปี และ 10 ปี ซึ่งกลุ่ม Bond Dealers และกลุ่ม Fund Managers ให้ความสำคัญกับปัจจัยต่างๆ คล้ายคลึงกัน โดยปัจจัยที่ให้ความสำคัญมากที่สุดในขณะนี้ คือ อุปสงค์และอุปทานในตลาดตราสารหนี้ ส่วนปัจจัยที่ให้ความสำคัญรองลงมา ได้แก่ Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติ และทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลก