นางพิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสูงสุด SME Segment ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) คาดว่าสินเชื่อเอสเอ็มอีที่เป็นสินเชื่อปล่อยใหม่ในไตรมาส 3/61 จะเติบโตได้ราว 4% หรือคิดเป็นสินเชื่อปล่อยใหม่ในไตรมาส 3/61 กว่า 2 หมื่นล้านบาท มากกว่าไตรมาส 2/61 ที่เติบโต 1% หรือคิดเป็นวงเงิน 1.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งธนาคารยังคงเป้าหมายสินเชื่อเอสเอ็มอีที่ปล่อยใหม่ในปีนี้เติบโต 7% โดยที่ในครึ่งปีหลังนี้ธนาคารได้เตรียมวงเงินใปล่อยให้กับลูกค้าราว 5-6 หมื่นล้านบาท เพื่อรองรับกับลูกค้าที่จะเข้ามาขอกู้สินเชื่อเพิ่มมากขึ้น จากแนวโน้มความต้องการใช้สินเชื่อในครึ่งปีหลังที่คาดว่าจะกลับมาฟื้นขึ้นจากครึ่งปีแรก เพราะลูกค้าเริ่มกลับมาลงทุนมากขึ้น ซึ่งตั้งแต่ช่วงต้นไตรมาส 3/61 ถึงปัจจุบันนั้นธนาคารได้มีสินเชื่อใหม่ที่รอบุ๊คจากลูกค้าอยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท
ส่วนสินเชื่อคงค้างของสินเชื่อเอสเอ็มอีในปัจจุบันอยู่ที่ 3.44 แสนล้านบาท จากต้นปีที่ 3.4 แสนล้านบาท โดยที่สัดส่วนของพอร์ตสินเชื่อแบ่งเป็นกลุ่มเอสเอ็มอีขนาดเล็ก 5 หมื่นล้านบาท กลุ่มเอสเอ็มอีขนาดกลาง 3 หมื่นล้านบาท และกลุ่มสินเชื่อเอสเอ็มอีขนาดใหญ่ 2.6 แสนล้านบาท โดยกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีของธนาคารจะต้องมียอดขายไม่เกิน 500 ล้านบาท ซึ่งหากมียอดขายเกิน 500 ล้านบาท ธนาคารจะปรับกลุ่มลูกค้าไปที่กลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่ เพื่อให้การนำเสนอผลิตภัณฑ์มีความเหมาะสมกับระดับของธุรกิจมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารได้โอนพอร์ตลูกค้าเอสเอ็มอีไปสุ่ลุกค้าขนาดใหญ่แล้ว 2 หมื่นล้านบาท
ด้านสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของสินเชื่อเอสเอ็มอีในปีนี้จะควบคุมให้อยู่ในระดับ 8.25-8.5% จากปัจจุบัน NPL อยู่ที่ 8.25% เพิ่มขึ้นจากต้นปีที่ 6-7% เนื่องจากมีการโอนพอร์ตสินเชื่อลูกค้าเอสเอ็มอีที่มียอดขายเกิน 500 ล้านบาท ไปที่กลุ่มสินเชื่อขนาดใหญ่ แต่ปัจจุบัน NPL ของลูกค้าเอสเอ็มอียังไม่เห็นสัญญาณการเพิ่มขึ้น และคาดว่าจะทรงตัวในระดับ 8.25% ไปจนถึงสิ้นปี
นอกจากนี้ธนาคารได้กำหนดวงเงินเพื่อปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และสตาร์ทอัพ เพื่อนำไปลงทุนด้านเทคโนโลยี อยู่ที่ 2 หมื่นล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 5% ต่อปี ซึ่งจะเป็นวงเงินที่สนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพที่จดทะเบียนกับกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งมีจำนวนผู้ประกอบการในกลุ่มดังกล่าวอยู่กว่า 10,000 ราย
โดยที่ธนาคารมีความตั้งใจผลักดันให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพมีการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยการปรับปรุงและพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจของลูกค้าและเป็นตัวที่ช่วยผลักดันยอดขายให้เติบโตขึ้น ซึ่งธนาคารจะมีการสนับสนุนด้านการพัฒนาแพลตฟอร์มและองค์ความรุ้ต่างๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการมีความรู้และมีความสามารถเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากการให้เงินกู้ยืมสินเชื่อเพียงอย่างเดียว
อีกทั้งธนาคารยังเล็งเห็นว่าเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการในกลุ่มเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มลุกค้าสตาร์ทอัพที่ปัจจุบันเป็นกลุ่มลุกค้าที่มีความสนใจในการพัฒนาและลงทุนด้านเทคโนโลยีมาก แต่เข้าถึงแหล่งเงินถึงได้น้อย เพราะเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูง แต่ธนาคารมองว่าเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของที่ธนาคารต้องการเข้าไปขยายฐาน เพราะธนาคารต้องการผลักดันให้มีการลงทุนและเทคโนโลยีมากขึ้น และเทคโนโลยีของลูกค้าสามารถนำไปต่อยอดในด้านอื่นๆได้ ซึ่งธนาคารพร้อมที่จะรับลูกค้าเข้ามาในแพลตฟอร์มของธนาคาร
"เรายังคงเป้าสินเชื่อเอสเอ็มอีปล่อยใหม่ไว้ที่ 7% เพราะเราไม่อยากจะชักเงินที่รองรับไว้ให้ลูกค้าออก เพื่อที่ทำให้ลูกค้ายังสามารถใช้บริการเราได้อยู่ และเป็นการสนับสนุนเอสเอ็มอีให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วย อีกทั้งเราเพิ่มเข้ามาสุ่ตลาดในกลุ่มสินเชื่อประเภทนี้ก็อยากขยายฐานลูกค้าให้มากขึ้น ซึ่งตอนนี้ก็มีมาร์เก็ตแชร์อันดับ 3 หรือ 4 ในตลาด ส่วนกลุ่มลูกค้าที่ตอนนี้มีการเติบโตมากและมีความต้องการขอสินเชื่อมากนั้นก็เป็นกลุ่มที่ได้รับอานิสงส์จากการกระตุ้นการท่องเที่ยว เช่น กลุ่มอาหาร และกลุ่ม wellness โดยเฉพาะกลุ่มอาหารที่มีการใช้วงเงินสินเชื่อเติบโตขึ้นเท่าตัว"นางพิกุล กล่าว