นายเติมชัย บุนนาค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) เปิดเผยกรณีที่มีการท้วงติง GPSC เกี่ยวกับการจะเข้าซื้อหุ้นใน บมจ.โกลว์ พลังงาน (GLOW) ว่า วัตถุประสงค์สำคัญของการผนึกกำลังร่วมกับ GLOW ในครั้งนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ สร้างเสถียรภาพด้านไฟฟ้าให้กับผู้ลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพิ่มความมั่นใจให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ขณะเดียวกันช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ส่งผลดีทั้งต่อลูกค้า และ GPSC เอง
ส่วนกรณีที่มีข้อกังวลจากลูกค้าบางส่วนของ GLOW นั้น ทาง GPSC ได้เร่งนัดหมายเพื่อชี้แจงสร้างความเข้าใจ และเตรียมจัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับลูกค้าเพื่อลดข้อกังวลและให้ความมั่นใจว่าจะไม่ให้มีการบริการใด ๆ ในลักษณะที่เป็นการเลือกปฏิบัติ โดยไม่เป็นธรรมต่อลูกค้า
"ข้อกังวลที่ว่าการเข้าซื้อ GLOW ของ GPSC ทำให้เกิดการผูกขาดของกลุ่ม ปตท.ในพื้นที่มาบตาพุดนั้น ขอชี้แจงว่า GPSC เป็นบริษัทเอกชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งมีกฎระเบียบข้อบังคับที่เข้มงวด อีกทั้ง GPSC มีการดำเนินธุรกิจที่เป็นเอกเทศชัดเจน ดังนั้นการบริการซื้อขายไฟฟ้าและไอน้ำให้กับบริษัทในกลุ่ม ปตท.ก็อยู่ภายใต้ข้อกำหนดและมาตรฐานเทียบเท่ากันกับลูกค้านอกกลุ่ม ปตท."นายเติมชัย กล่าว
นายเติมชัย กล่าวว่า การเข้าซื้อหุ้นครั้งนี้ลูกค้า GLOW จะไม่ได้รับผลกระทบ โดยเงื่อนไข สัญญาราคาและการบริการลูกค้าทุกราย จะยังคงดำเนินการภายใต้กรอบสัญญาเดิมทุกประการ เพราะธรรมชาติของธุรกิจไฟฟ้าจะเป็นสัญญาระยะยาว มีการระบุถึงราคา ปริมาณซื้อขายที่ชัดเจน ส่วนการกำหนดราคาซื้อขายจะเป็นไปตามราคาตลาด หรือ บนพื้นฐานของ Arm’s Length Basis ทั้งนี้สัญญาของลูกค้า GLOW ที่มีอยู่เฉลี่ยมีระยะเวลามากกว่า 10 ปี
อีกทั้งยังมีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะหน่วยงานกลาง ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจไฟฟ้า คอยตรวจสอบและกำกับการดำเนินการต่างๆ เพื่อให้ความมั่นใจอีกชั้นหนึ่งว่า การดำเนินธุรกิจไฟฟ้าถูกต้อง เป็นธรรม และไม่เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบทางธุรกิจ ซึ่งทั้ง GPSC และ GLOW ได้มีการให้ข้อมูลกับ กกพ.เพื่อประกอบในการพิจารณาเรียบร้อยแล้ว
"GPSC มุ่งเน้นการทำธุรกิจโดยให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงและพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการด้านพลังงานของประเทศ ซึ่งทุกขั้นตอนการดำเนินงานจะต้องมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้และตั้งอยู่บนพื้นฐานด้านจริยธรรมของการทำธุรกิจ โดยพิสูจน์ได้จากผลตอบรับที่ดีของผู้ถือหุ้นต่อการดำเนินงานของบริษัท รวมถึงลูกค้าที่อยู่นอกกลุ่ม ปตท.ซึ่งคิดเป็น 49 % ต่างให้ความไว้วางใจใช้บริการและให้คะแนนความพึงพอใจในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง"นายเติมชัย กล่าว
นอกจากนี้ สถานการณ์ธุรกิจไฟฟ้าของไทยในปัจจุบันที่ได้มีการเปลี่ยนแปลง โดยภาครัฐตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน เปิดเสรีให้เอกชนสามารถเข้ามาแข่งขันกันได้มากขึ้น โดยเฉพาะการเปิดเสรีนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ดังจะเห็นได้จากการให้ข่าวของ กฟผ.ซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าหลักของประเทศจะเริ่มทดลองนำเข้า LNG ในเดือนตุลาคมนี้ เช่นเดียวกับเอกชนรายอื่นๆ ก็เตรียมนำเข้าเช่นเดียวกัน