นายสมคิด เวคินวัฒนเศรษฐ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ที.เค.เอส.เทคโนโลยี (TKS) เปิดเผยว่า บริษัทมีความมั่นใจว่าการเติบโตของรายได้รวมในปี 61 จะทะลุเป้าหมายที่วางไว้ 2,300 ล้านบาท จากปี 2560 ที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 1,645.96 ล้านบาท หลังมองผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งหลังปีนี้ จะเติบโตดีกว่าในช่วงครึ่งปีแรก สอดคล้องกับภาพรวมอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ ที่จะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากช่วงครึ่งปีแรก ตามทิศทางเศรษฐกิจภายในประเทศที่ฟื้นตัว
ประกอบกับได้รับผลบวกจากการบันทึกรายได้การจ่ายปันผลของบริษัทย่อย บมจ.ไทยบริติชซีเคียวริตี้ พริ้นติ้ง (TBSP) ซึ่ง TKS มีสัดส่วนการถือหุ้นในปัจจุบันอยู่ที่ 77.74% เข้ามาเพิ่มเติม นอกจากนี้ TBSP อยู่ระหว่างลุ้นงานบัตรสวัสดิการของรัฐ ทำให้ผลการดำเนินในช่วงครึ่งปีหลังจะมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ประกอบกับมีงานในมือ (Backlog) ที่รอรับรู้รายได้จากทั้งในส่วนของ TKS และTBSP ประมาณ 700-800 ล้านบาท ที่จะรับรู้รายได้ในครึ่งปีหลังนี้
บริษัทคาดว่าหลังมีการประกาศการเลือกตั้งชัดเจนจะทำให้เกิดความเชื่อมั่น และมีการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนในประเทศเพิ่มมากขึ้น ตามโรดแมพของรัฐบาลคาดว่าอย่างเร็วที่สุดจะเกิดขึ้นเดือนก.พ.62 ขณะที่ก่อนเลือกตั้งใหญ่คาดว่าจะมีการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นจากการดำเนินการของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จากเดิมที่มีการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นจากกระทรวงมหาดไทย ซึ่งจะเป็นอานิสงส์เชิงบวกต่อธุรกิจสิ่งพิมพ์ ที่จะทำให้มีกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเกิดขึ้น
ก่อนหน้านี้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีการยับยั้งการเลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่งหากมีการเปิดการเลือกตั้งคาดว่าจะทยอยเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ โดยบริษัทมองว่าเป็นโอกาสได้รับอานิสงส์จากการเลือกตั้งในการทำบัตรเลือกตั้งในช่วงไตรมาสที่ 4/61 คาดว่ามีมูลค่าราว 50-60 ล้านบาท อย่างไรก็ดี มูลค่าและการแข่งขันจะขึ้นอยู่กับความยากง่ายในการผลิต ซึ่งแต่ละพรรคการเมืองจะมีหมายเลขในแต่ละเขตการเลือกตั้งที่แตกต่างกัน และยังต้องติดตามวิธีการจัดซื้อจัดจ้างจากกกต.
"ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำหนดให้บัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขตและแบบ party list อยู่ในบัตรเดียวกัน ซึ่งทำให้แต่ละเขตต้องมีบัตรในรูปแบบของตัวเอง โดยบริษัทมีประสบการณ์การทำบัตรเลือกตั้งกว่า 7 ครั้ง ยังต้องดูวิธีการจัดซื้อจัดจ้างของกกต. หากบัตรมีความยุ่งยากคู่แข่งก็จะน้อย" นายสมคิด กล่าว
นายสมคิด กล่าวอีกว่า สำหรับกลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์ (Packaging) ล่าสุดการติดตั้งเครื่องจักรใหม่ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้วเมื่อเดือนส.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้กำลังการผลิตในช่วงที่เหลือของปีนี้เพิ่มมากขึ้น และเพียงพอรองรับ ออร์เดอร์จากลูกค้าในอนาคตโดยจะเน้นงานที่มีมาร์จิ้นสูง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ คาดว่าไตรมาส 4/61 น่าจะได้ข้อสรุป
ส่วนกลุ่มธุรกิจบริหารจัดการคลังสิ่งพิมพ์ (Ware House) ล่าสุดบริษัทได้ทำการรีโนเวทใหม่ บริษัทมีแผนที่จะขยายสัดส่วนสินค้าที่ไม่ใช่สิ่งพิมพ์ (Non-Printing) เข้ามาเพิ่มเติมเพื่อต่อยอดให้กับกลุ่มลูกค้าอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) โดยมีจุดเด่นจากบมจ.ซินเน็ค (ประเทศไทย) (SYNEX) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ที่ดำเนินธุรกิจขายอุปกรณ์ไอทีมากกว่า 50 แบรนด์ชั้น เริ่มนำ Product ของ SYNEX เข้ามาใช้บริการแล้ว
ขณะเดียวกันบริษัทจะปรับใช้กลยุทธ์เชิงรุกในกลุ่มธุรกิจ อี-ฟอร์ม (E-Forms) ปัจจุบันได้มีการให้บริการด้าน E-Ticket และ E-Invoice มาแล้วในช่วงที่ผ่านมา แต่ยังไม่แพร่หลายเนื่องจากมีต้นทุนในการจัดจ้างที่ค่อนข้างสูง ส่งผลให้ลูกค้ายังใช้การออกใบเสร็จที่เป็นกระดาษเช่นเดิม ทั้งนี้มองว่าหากภาครัฐ มีนโยบายออกกฎหมายบังคับให้ผู้ประกอบการใช้การยื่นส่งภาษีในรูปแบบดิจิตอลแพลตฟอร์มจะส่งผลดีกับบริษัทในอนาคต
ทั้งนี้บริษัทมองว่าเป็นโอกาสหากมีการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว เนื่องจากบริษัทมีประสบการณ์สูงจากในอดีตที่ผ่านมามีการให้บริการกับโบรกเกอร์ระยะเวลากว่า 5-6 ปี อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนระบบเข้ามาบนดิจิทัลแพลตฟอร์มจะทำให้มีความสามารถทำกำไร (มาร์จิ้น) ได้สูงกว่าและใช้งบลงทุนที่ต่ำกว่าแบบกระดาษ