นายรัฐชัย ธีระธนาวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม สายงานวาณิชธนกิจ-ด้านตลาดทุน บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน บมจ.ไทย อิงเกอร์ โฮลดิ้ง (TIGER) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้นับหนึ่งแบบไฟลิ่ง TIGER เมื่อวันที่ 12 ก.ย.61 โดยบริษัทมีแผนเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 122.28 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท หรือคิดเป็นไม่เกิน 26.58% ของทุนจดทะเบียนของบริษัทฯ ภายหลัง IPO โดยคาดว่าจะเสนอขายหุ้นไอพีโอและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ภายในปลายปี 61
ทั้งนี้ TIGER ประกอบธุรกิจลงทุนในบริษัทอื่น (Holding Company) โดยในปัจจุบันบริษัทฯ มีการถือหุ้น 99.99% ในบริษัท ไทย อิงเกอร์ จำกัด (TEC )หรือ บริษัทแกน ซึ่งเป็นบริษัทแกน (Core Company) ประกอบธุรกิจให้บริการรับเหมาก่อสร้างงานวิศวกรรมโยธาทุกประเภทรวมทั้งงานออกแบบวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม (Construction Contractor – Build & Design) นอกจากนี้ยังประกอบธุรกิจสนับสนุนงานรับเหมาก่อสร้าง ได้แก่ 1) ธุรกิจออกแบบและผลิต พร้อมติดตั้งอุปกรณ์จากกระจกและอลูมิเนียม สำหรับงานสถาปัตยกรรมและงานตกแต่งดำเนินการโดย บริษัท ทีอีจี อลูมินั่ม จำกัด หรือ TEA และ 2) ธุรกิจออกแบบและผลิต พร้อมติดตั้งระบบน้ำดีและน้ำเสีย รวมทั้งจัดหาและจำหน่ายวัสดุและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับงานก่อสร้างอื่นๆ ดำเนินการโดย บริษัท ทีอี แมค จำกัด หรือ TEM
ปัจจุบัน TIGER มีทุนจดทะเบียน 230 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 460 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท โดยเป็นทุนที่เรียกชำระแล้ว 168.86 ล้านบาท คิดเป็นหุ้นสามัญจำนวน 337.72 ล้านหุ้น
นายจตุรงค์ ศรีกุลเรืองโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TIGER และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TEC ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจรับเหมาก่อสร้างงานวิศวกรรมโยธาทุกประเภท กล่าวว่า บริษัทเตรียมนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการเพื่อขยายธุรกิจของทั้ง TEC TEA และ TEM
TEC เริ่มดำเนินธุรกิจรับเหมาก่อสร้างเมื่อปี 45 โดยให้บริการรับเหมาก่อสร้างงานวิศวกรรมโยธาทุกประเภทที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอาคารและสาธารณูปโภคตามแบบที่ลูกค้ากำหนด โดยแบ่งสามารถแบ่งได้เป็น 4 ลักษณะโครงการ ได้แก่ 1) โครงการโรงแรมและรีสอร์ท 2) โครงการอาคารสำนักงาน และอาคารอื่นๆ เช่น คอนโดมิเนียมแนวราบ 3) โครงการงานสาธารณูปโภคและงานภาครัฐ 4) โครงการและงานอื่นๆ เช่น บ้านเดี่ยวราคาสูง (High-end Home) และงานให้บริการงานระบบภายในตัวอาคาร เช่น งานระบบปรับอากาศ และงานปรับปรุงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ TEC มีทีมวิศวกรที่มีความชำนาญด้านงานวิศวกรรมก่อสร้าง และวิศวกรรมงานระบบที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอาคาร ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้งานก่อสร้างสำเร็จลุล่วงความเชี่ยวชาญ
นอกจากนี้ TEC ยังถือหุ้นในบริษัทย่อยอีก 2 บริษัท ได้แก่ 1) TEA ในสัดส่วน 99.99% ซึ่งดำเนินออกแบบและผลิต รวมทั้งติดตั้งอุปกรณ์สำหรับงานสถาปัตยกรรมและงานตกแต่งจากกระจกและอลูมิเนียม เช่น งานประตูจากอลูมิเนียม งานหน้าต่างจากอลูมิเนียม ผนังกระจก (Glass Curtain Wall) และแผ่นอลูมิเนียมคอมโพสิท (Aluminum Composite Cladding) เป็นต้น ให้แก่ลูกค้าทั่วไป โดยบุคลากรผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม และ 2) TEM สัดส่วน 70.00% ซึ่งดำเนินธุรกิจออกแบบพร้อมติดตั้งระบบน้ำดีและน้ำเสีย โดยปัจจุบัน TEM เป็นผู้ผลิตถังบำบัดน้ำเสียภายใต้ตราสินค้า FLOW?D รวมไปถึงการให้บริการดูแลและบำรุงรักษาระบบบำบัดน้ำเสียอีกด้วย
สำหรับผลการดำเนินงานย้อนหลังในปี 58-60 และ 6 เดือนแรกของปี 61 กลุ่มบริษัทมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 9.29 ล้านบาท 36.65 ล้านบาท 67.74 ล้านบาท และ 31.30 ล้านบาท ตามลำดับ คิดเป็นการเติบโตของกำไรสุทธิที่ 294.72% ในปี 59 และ 84.82% ในปี 60 และ 20.38% เมื่อเทียบ 6 เดือนแรกของปี 61 กับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยเมื่อพิจารณาเป็นอัตรากำไรสุทธิ กลุ่มบริษัทมีอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 2.51% 7.40% 10.99% และ 8.85% ในปี 58-60 และ 6 เดือนแรกของปี 61 ตามลำดับ