(เพิ่มเติม) บอร์ด กสทช.ระบุ DTAC ยังไม่เข้าเกณฑ์สมควรเข้าสู่มาตรการเยียวยาสัมปทานคลื่น 850 MHz

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday September 12, 2018 16:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายฐากร ตัณธสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการ กสทช.นัดพิเศษเพื่อทบทวนมติที่ประชุมกสทช.เรื่องการเข้าสู่มาตรการเยียวยาเมื่อสิ้นสุดสัญญาสัมปทานคลื่น 850 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) ของ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ว่า ที่ประชุมมีความเห็นว่า จากจำนวนผู้ใช้บริการคลื่นความถี่ 850 MHz ถือว่ายังไม่เข้าเกณฑ์ที่ DTAC สมควรเข้าสู่มาตรการเยียวยา เพราะเป็นจำนวนผู้ใช้บริการที่ไม่ได้มีมากจริง ประกอบกับ กสทช.ได้แจ้งให้ทาง DTAC ทำการโอนย้ายลูกค้าไปตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว

ทั้งนี้ จากจำนวนผู้ใช้บริการคลื่นความถี่ 850 เมกะเฮิรตซ์ ที่ DTAC แจ้งล่าสุด พบว่ามีจำนวนผู้ใช้บริการเหลืออยู่ 94,625 ราย เป็นผู้ใช้บุคคล 60,000 ราย ผู้ใช้ที่ใช้ซิมในอุปกรณ์ 20,000 ราย

"จำนวนผู้ใช้บริการ 60,000 ราย ถือว่ายังไม่เข้าเกณฑ์ที่ DTAC สมควรเข้าสู่มาตรการเยียวยา เพราะเป็นจำนวนผู้ใช้บริการที่ไม่ได้มีมากจริง ประกอบกับกสทช.ได้แจ้งให้ทาง DTAC ทำการโอนย้ายลูกค้าก่อนหน้านี้แล้ว"นายฐากร กล่าว

ส่วนเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่กรณีที่ผู้ชนะการประมูลจะต้องระบบป้องกันการรบกวน และตำแหน่งของคลื่นความถี่ที่ย้ายจากคลื่น 850 MHz ไปใช้คลื่น 900 MHz คณะกรรมการ กสทช.พิจารณาเห็นว่า แม้จะเป็นการผลักภาระให้ผู้ชนะประมูล แต่ กสทช.ได้เข้าไปกำกับดูแลเอง โดยให้หักเงินค่าทำระบบกับ กสทช.ได้ จึงไม่มีเหตุผลที่ DTAC จะไม่เข้าประมูล

นอกจากนี้ การที่ DTAC อ้างว่า กสทช.เคยยอมให้ผู้ประกอบการรายอื่นเข้าสู่มาตรการเยียวยาได้ คือบริษัท ทรู มูฟ จำกัด และ บริษัท ดิจิตอล โฟน จำกัด เป็นเพราะ กสทช.เห็นว่าในขณะนั้น กสทช.ไม่สามารถจัดประมูลได้ทันก่อนหมดสัญญาสัมปทาน เพราะบมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม ฟ้องร้องต่อศาลไม่ให้คลื่นที่หมดสัมปทานนำไปประมูล จนกระทั่งมีคำสั่งจากนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้เป็นอำนาจ กสทช. ดังนั้น กสทช.จึงดำเนินการจัดประมูลได้ ทำให้ทั้งสองบริษัทได้รับการเยียวยา โดยทรูมูฟมีลูกค้าเหลือในระบบ 2 แสนเลขหมาย และ ดีพีซี มีลูกค้าเหลือในระบบ 30,000 เลขหมายก่อนที่ซิมจะดับ

ส่วน DTAC มีการนำคลื่น 850 MHz ไปโรมมิ่ง ให้กับลูกค้า บริษัท ไตรเน็ต จำกัด จำนวน 1 ล้านเลขหมาย นั้น กสทช.เห็นว่ามาตรการเยียวยาใช้เฉพาะกับลูกค้า DTAC ที่กำลังจะหมดสัมปทานเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับ บริษัท ดีแทคไตรเน็ต ทำให้ประเด็นนี้ก็ไม่เข้าข่ายการเยียวยา เช่นกัน

"เมื่อพิจารณาข้ออ้างดังกล่าวแล้ว ไม่มีเหตุผลเพียงพอที่ DTAC จะไม่เข้าประมูล บอร์ดจึงได้ลงมติ ด้วยคะแนนเสียง 4 ต่อ 2 เสียง ไม่ให้ DTAC ได้รับมาตรการเยียวยา"นายฐากร กล่าว

หลังจากนี้ กสทช.จะทำหนังสือถึง DTAC เพื่อแจ้งมติบอร์ด และให้ DTAC แจ้งลูกค้าที่ใช้บริการอยู่ให้โอนย้ายภายในกรอบเวลาสิ้นสุดสัมปทาน แม้การโอนย้ายมีจำนวนการโอนย้ายลูกค้าจำกัดในแต่ละวัน และมีขั้นตอนทางเอกสาร กสทช.ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวขอเพียงให้ผู้ที่ต้องการโอนย้ายมาทำเรื่องเป็นเอกสารไว้แล้ว กสทช.จะช่วยดำเนินการเอง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ