นายทัตซึยะ โคโนชิตะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.กรุ๊ปลีส (GL) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าหมาย 5 ปี (ปี 61-65) ผลักดันพอร์ตสินเชื่อรวมเป็น 1.21 หมื่นล้านบาทภายในปี 65 จากปี 60 มีพอร์ตสินเชื่อรวมอยู่ที่ 7.9 พันล้านบาท โดยเน้นการพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการจากการเป็น"ดิจิทัลไฟแนนซ์" ไปสู่การเป็น "ไลฟ์ไซเคิลไฟแนนซ์" และจากบริษัทลิสซิ่งเป็นบริษัทมัลติไฟแนนซ์ โดยการเพิ่มความหลากหลายของสินเชื่อนอกเหนือจากลีสซิ่งและสินเชื่อเช่าซื้อ พร้อมกับการพัฒนาประสิทธิภาพของระบบเครือข่ายไปพร้อมกับการสร้างระบบเครือข่าย POS ที่มีต้นทุนต่ำและมีประสิทธิภาพ
ขณะที่เป้าหมายสัดส่วนของพอร์ตสินเชื่อรวมในแต่ละประเทศในปี 65 นั้นจะเป็นพอร์ตสินเชื่อในประเทศไทย 55% จากปี 60 ที่ 63% กัมพูชา 17% จาก 26% เมียนมา 18% จาก 3% อินโดนีเซีย 6% จาก 3% และลาว 4% จาก 5% โดยช่วงแผน 5 ปีนี้บริษัทคาดว่าจะยังไม่มีการขยายธุรกิจไปยังประเทศใหม่ๆ
แม้ว่าปัจจุบันบริษัทจะมีความสนใจเข้าไปลงทุนในเวียดนาม เพราะเป็นประเทศที่ประชาชนใช้รถมอเตอร์ไซด์เป็นจำนวนมาก แต่ประชากรเวียดนามส่วนใหญ่มีการใช้สินเชื่อซื้อรถมอเตอร์ไซด์ค่อนข้างมากแล้ว โดยมีสัดส่วนการใช้สินเชื่อสูงถึง 70% ทำให้บริษัทมองว่าเป็นตลาดที่ยังมีความเสี่ยงในด้านหนี้เสีย เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่มีภาระหนี้สินค่อนข้างมาก ทำให้บริษัทหันมาเน้นการทำตลาดในเมียนมาแทน ซึ่งเป็นตลาดที่มีการขยายตัวของสินเชื่อดี และมีคุณภาพสินเชื่อที่ดี เพราะประชาชนกว่า 80% ยังปลอดหนี้ และมีวินัยในการชำระหนี้
นายทัตซึยะ กล่าวว่า การสร้างพอร์ตสินเชื่อให้มีการขยายตัวขึ้น ถือเป็นสิ่งสำคัญในการผลักดันผลการดำเนินงานของบริษัท ซึ่งตั้งเป้ารายได้ในปี 65 อยู่ที่ 4.6 พันล้านบาท หรือเติบโต 74% จากปีก่อนที่มีรายได้อยู่ที่ 2.7 พันล้านบาท โดยรายได้จะเติบโตเร็วกว่าขนาดของพอร์ตสินเชื่อ เพราะมีบางส่วนไม่ได้มาจากฐานในพอร์ต เช่น การประมูลหนี้และการบริการด้านธุรกิจ เป็นต้น ขณะที่บริษัทคาดการณ์ว่าในปี 65 กำไรก่อนหักดอกเบี้ยและภาษี (EBIT ไม่รวมเงินสำรองพิเศษและ CCF) จะเติบโต 103% หรืออยู่ที่ 1.9 พันล้านบาท และกำไรก่อนหักภาษี ซึ่งรวมกำไรจากการลงทุนใน CCF คาดว่าจะเติบโต 164% หรืออยู่ที่ 1.8 พันล้านบาท จากปี 60 ที่ 700 ล้านบาท
พร้อมกันนั้น บริษัทยังวางเป้าหมายการควบคุมสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในช่วงแผน 5 ปีนี้ให้ไม่เกิน 6% จากปี 61 จะควบคุมให้ไม่เกิน 4.5% ซึ่ง NPL ส่วนใหญ่เกิดมาจากสินเชื่อที่ปล่อยในประเทศไทย โดยในช่วงปีที่ผ่านมาบริษัทได้มีการเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเพิ่มมากขึ้น พร้อมกับมีการนำเทคโนโลยีที่ทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลของลูกค้าได้มากขึ้นเพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์พิจารณาการปล่อยสินเชื่อ โดยอัตราการปฏิเสธสินเชื่อของบริษัทในปัจจุบันได้เพิ่มขึ้นเป็น 34% จากปี 60 ที่ 28% และแนวโน้ม NPL ของบริษัทในช่วงที่เหลือของปี 61 บริษัทจะพยายามควบคุมให้อยู่ในระดับแม่เกิน 4.5%
ด้านแนวโน้มของต้นทุนทางการเงินของบริษัท ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยในช่วงขาขึ้น คาดว่าต้นทุนทางการเงินจะเพิ่มขึ้นตาม โดยคาดว่าจะเพิ่มขึ้นมาเป็น 6.2-7.5% จากปัจจุบันอยู่ที่ 5.2% ซึ่งบริษัทมองว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของผลการดำเนินงานของบริษัทมากนัก เพราะบริษัทจะจัดหาแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนทางกลรเงินที่ดีที่สุด โดยส่วนใหญ่แหล่งเงินทุนของบริษัทจะมาจากเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน และเงินจากการดำเนินงาน
นายทัตซึยะ กล่าวอีกว่า บริษัทมีความตั้งใจมุ่งเน้นในการสร้างกำไรให้เติบโตอย่างต่อเนื่องในทุกปี โดยที่ไนปีนี้จะเป็นปีแรกที่พลิกฟื้นบริษัทกลับมา หลังจากเผชิญกับปัญหาต่างๆ ซึ่งแนวโน้มผลกานดำเนินงานในปีนี้พยายามจะทำกำไรให้ดีที่สุด หลังจากที่ครึ่งปีแรกบริษัทมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 226 ล้านบาท และเป็นปีที่กลับมามีกำไรได้อีกครั้ง หลังจากปีก่อนขาดทุนไป 1.6 พันล้านบาท โดยในปีนี้บริษัทจะไม่มีปัจจัยกดดันของการตั้งสำรองรายการพิเศษเข้ามากดดันผลการดำเนินงานของบริษัท
"ผมจะทำผลงานให้ดีที่สุดและเติบโตอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ 2 ปีที่ผ่านมาอาจจะทำให้นักลงทุนผิดหวัด ซึ่งการทำงานเราให้ความสำคัญกับการทำกำไร พร้อมกับการควบคุมความเสี่ยงและคุณภาพหนี้ที่ดี ตอนนี้ก็พร้อมกลับมาเดินหน้าธุรกิจอย่างเต็มที่เพื่อสร้างการเติบโตให้ได้ตามเป้าหมาย 5 ปีที่ตั้งไว้"นายทัตซึยะ กล่าว