GPSC ยืนยันเดินหน้าซื้อกิจการ GLOW พร้อมเดินสายเคลียร์ใจลูกค้าหลักเครือเอสซีจีก่อนชงข้อมูลให้ กกพ.ชี้ขาด

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday September 18, 2018 16:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุรงค์ บูลกุล ประธานกรรมการ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ยืนยันว่าบริษัทจะยังคงเดินหน้าซื้อกิจการ บมจ.โกลว์ พลังงาน (GLOW) แม้ว่าจะมีกระแสการคัดค้านจากบางกลุ่ม เนื่องจากบริษัทมองว่าการซื้อกิจการครั้งนี้จะเป็นการช่วยสร้างความมั่นคงด้านระบบของไฟฟ้า ซึ่งจะสามารถดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะในพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักการลงทุนของรัฐบาล

ขณะเดียวกัน ยืนยันว่าการเข้าลงทุนครั้งนี้ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 75 และการซื้อขายมีความโปร่งใส ไม่ได้ผูกขาด และไม่มีผลประโยชน์ทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่เพื่อความมั่นใจของลูกค้า ซึ่ง GLOW ก็พร้อมที่จะเดินสายชี้แจงและทำข้อตกลงร่วม เบื้องต้นเจรจาลูกค้ารายแรกได้รับการตอบรับที่ดี และช่วงเย็นวันนี้จะหารือร่วมกับนายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) หรือเอสซีจี ซึ่งเป็นลูกค้าหลักของ GLOW ในพื้นที่มาบตาพุด

ทั้งนี้ หลังจากพบลูกค้าทั้งหมดแล้วก็เตรียมจะนำเสนอข้อมูลให้กับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อประกอบการพิจารณาในการอนุมัติให้บริษัทเข้าซื้อกิจการ GLOW ได้หรือไม่ต่อไป

"ยืนยันเราไม่มีเจตนาที่จะผูกขาด ทำไม่ได้ ไม่ใช่เพราะกฎหมาย แต่ทำไม่ได้เพราะเราไม่มีความสามารถ ลูกค้าก็ยังมีทางเลือกในมาบตาพุดซึ่งมีผู้ผลิตไฟฟ้าหลายราย ...ตามที่ปรากฎข่าวว่าลูกค้าหลาย ๆ กลุ่มอย่างเอสซีจี ห่วงเรื่องการผูกขาด การมีอำนาจเหนือตลาด ซึ่งเรายืนยันไปกับกกพ.ว่าจะปฏิบัติตามเงื่อนไขทุกประการ ซึ่งเย็นนี้ก็จะพบกับ CEO ของเอสซีจี เพื่อหารือร่วมกันว่ามีอะไรห่วง มีอะไรข้องใจก็คุยกันได้ เพราะเอสซีจีและปตท.เป็นพันธมิตรที่ดีกันมาตลอด"นายสุรงค์ กล่าว

นายสุรงค์ กล่าวว่า การที่ GPSC จะเข้าซื้อกิจการ GLOW ไม่ได้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 75 (2) ที่ห้ามภาครัฐทำธุรกิจแข่งขันกับเอกชน เพราะแม้ว่า GPSC จะเป็นบริษัทในกลุ่ม บมจ.ปตท. (PTT) แต่ GPSC ถือว่าเป็นบริษัทเอกชน เพราะปตท.ถือหุ้นทางตรงอยู่ราว 22% และการซื้อขายมีความโปร่งใส เป็นไปตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และเป็นการซื้อขายตามปกติในเชิงพาณิชย์ที่ผู้ซื้ออยากจะซื้อและผู้ขายอยากจะขาย ขณะเดียวกันการเข้าซื้อกิจการก็ไม่ได้เป็นการผูกขาดการผลิตไฟฟ้า เพราะเมื่อซื้อกิจการ GLOW จะมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมราว 6.9% ของกำลังการผลิตรวมทั้งประเทศ คิดเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนอันดับ 3 หรือ 4 ของประเทศ

ขณะเดียวกันยืนยันว่าการที่ GPSC จะเข้าไปถือหุ้น GLOW จะอยู่ในฐานะผู้ถือหุ้นไม่ใช่ผู้บริหาร ซึ่งจะไม่มีสิทธินำข้อมูลทางการค้าของลูกค้าซึ่งเป็นความลับมาเปิดเผยหรือนำไปใช้เพื่อความได้เปรียบทางการค้า ซึ่งก็จะเร่งทำความเข้าใจกับกลุ่มลูกค้าต่อไป โดยการหารือกับลูกค้ารายแรกคือ บมจ.ลินเด้ (ประเทศไทย) จำกัด ก็มีความเข้าใจมากขึ้น และก็จะมีการทำบันทึกความเข้าใจร่วมกัน และหลังจากหารือร่วมกับเอสซีจีในวันนี้แล้ว ก็จะเดินสายพบกับกลุ่มดาว เคมิคอลส์ ต่อไป ซึ่งหากรายใดต้องการที่จะให้ทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันก็พร้อมที่จะดำเนินการให้เพื่อความสบายใจของลูกค้า

"จากการหารือกับลูกค้า สิ่งที่ลูกค้ากังวลมากสุดคือเรื่องการผูกขาด การขายจะเท่าเทียมกันหรือไม่ จะมีใครได้เปรียบเสียเปรียบหรือไม่ ถ้าลูกค้ารายใดต้องการทำ MOU เราก็พร้อมที่จะทำเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า"นายสุรงค์ กล่าว

นายสุรงค์ กล่าวว่า หลังเดินสายหารือกับลูกค้าแล้วก็จะนำข้อมูลทั้งหมดเสนอต่อ กกพ.ชุดใหม่เพื่อนำไปประกอบการพิจารณา ซึ่งกกพ.มีกรอบการพิจารณาประมาณ 90 วัน หลังจากที่บริษัทได้ส่งเรื่องให้เมื่อปลายเดือน มิ.ย. และจะครบกำหนดในวันที่ 27 ก.ย. และมีสิทธิที่จะขยายเวลาได้อีก 15 วัน หาก กกพ.ไม่อนุมัติการเข้าซื้อกิจการบริษัทก็พร้อมที่จะน้อมรับ และหากดีลการซื้อกิจการ GLOW ไม่สำเร็จตามกรอบระยะเวลาตามสัญญา บริษัทจะต้องถูกปรับตามสัญญาที่ทำไว้กับกลุ่ม Engie ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น GLOW หรือไม่นั้น ยังไม่สามารถบอกรายละเอียดได้เพราะเป็นความลับทางสัญญา

นอกจากนี้ หากไม่สามารถซื้อกิจการ GLOW ได้ตามแผน บริษัทก็จะยังคงเดินหน้าเพื่อมองโอกาสการขยายงานต่อไป โดยยังเน้นการลงทุนผลิตไฟฟ้าเพื่อรองรับการดำเนินงานของกลุ่มปตท.ในประเทศเป็นหลัก หลังจากนั้นจะมองโอกาสการขยายลงทุนต่างประเทศ และการลงทุนด้านพลังงานรูปแบบใหม่อย่างแบตเตอรี่ เป็นต้น

แต่หากกกพ.อนุมัติให้ซื้อกิจการ GLOW ได้ บริษัทก็พร้อมที่จะดำเนินการกู้เงินจากกลุ่มสถาบันการเงินราว 1 แสนล้านบาทเพื่อใช้ซื้อกิจการ GLOW จากกลุ่ม Engie ต่อไป

ด้านนายเติมชัย บุนนาค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ GPSC กล่าวว่า การเข้าซื้อกิจการ GLOW จะเป็นการสร้างความมั่นคงด้านระบบไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นสิ่งดึงดูดนักลงทุนในเข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ของประเทศ และจะทำให้ระบบไฟฟ้าของทั้ง 2 บริษัทมีโอกาสที่จะ Synergy กันได้ และนำเทคโนโลยีใหม่ อย่างระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) มาเสริมกันได้ ก็จะช่วยสนับสนุนการลงทุนของประเทศได้ต่อไปในอนาคต

สำหรับการเข้าซื้อกิจการ GLOW จะทำให้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าของกลุ่มบริษัทเพิ่มเป็นราว 5,000 เมกะวัตต์ (MW) โดยกำลังผลิตไฟฟ้าส่วนใหญ่อยู่ในประเทศไทยเป็นหลัก และมีการลงทุนในต่างประเทศบ้าง เช่น ลาว, ญี่ปุ่น ขณะที่ GLOW ยังมีการโครงการในมือ ซึ่งเป็นโครงการพลังน้ำในเมียนมาด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ