โบรกฯเชียร์"ซื้อ"DTAC ความเสี่ยงลดหลังศาลคุ้มครอง 3 เดือน-กำไรโตหลังต้นทุนเช่าอุปกรณ์ CAT ต่ำกว่าคาด

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday September 19, 2018 13:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โบรกเกอร์ต่างเห็นพ้องแนะนำ"ซื้อ"หุ้น บมจ.โทเทิ่ลแอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ได้รับปัจจัยบวก 2 ปัจจัยได้แก่ ศาลปกครองกลางคุ้มครองชั่วคราวให้ลูกค้า DTAC ได้รับบริการบนคลื่น 850 MHz ได้ต่ออีก 3 เดือน หลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานสิ้นสุดในวันที่ 15 ก.ย.61 ที่ผ่านมา ช่วยลดความเสี่ยงต่อการดำเนินงานของ DTAC ในช่วงที่บริษัทยังขยายโครงข่ายคลื่น 2300 MHz ไม่เสร็จ และน่าจะทำให้ความกังวลของผู้ใช้บริการคลี่คลายลงไป

นอกจากนี้ บริษัทได้ระงับข้อพิพาทกับ บมจ.กสท.โทรคมนาคม (CAT) พร้อมเช่าเสาสัญญาณ และอุปกรณ์ที่เคยใช้ได้เช่าใช้ต่อเนื่องไปในราคาต่ำกว่าคาดอยู่ที่ 3.7 พันล้านบาท/ปี จากเดิมคาดไว้ 9 พันล้านบาท/ปี ทำให้ปรับประมาณการกำไรขึ้น ขณะที่การประหยัดค่าตัดจำหน่ายสินทรัพย์สัมปทานมีน้ำหนักมากกว่าต้นทุนที่เพิ่มเข้ามา ทำให้กำไรของ DTAC เติบโตแข็งแกร่งในปี 62

โบรกเกอร์บางแห่งมองว่ากำไรสุทธิปี 61-62 ของ DTAC จะดีขึ้นกว่าคาดมาก เพราะต้นทุนการเช่าใช้อุปกรณ์ต่ำกว่าคาดไว้มาก ขณะที่การลงทุนในปีนี้ลดลงเพราะประมูลคลื่น 1800 MHz ไว้เพียง 5MHz จากเดิม 15 MHz ทำให้ปรับราคาเป้าหมายเพิ่มขึ้นตามไปด้วย และราคายังมี Upside พอสมควร

ราคา DTAC ปิดช่วงเที่ยงวันนี้ที่ 47.50 บาท ลดลง 0.25 บาท (-0.52%) เทียบกับดัชนี SET ที่ +0.96%

          โบรกเกอร์                    คำแนะนำ             ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น)
          เอเซีย พลัส                     ซื้อ                    62.00
          กสิกรไทย                       ซื้อ                    59.60
          ทิสโก้                          ซื้อ                    58.00
          เคจีไอ                       Outperform              56.00
          เคทีซีมิโก้                     Outperform              54.00
          ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี                 ซื้อ                    54.70
          กรุงศรี                       Outperform              53.00
          ดีบีเอสวิคเคอร์ส                  ซื้อ                    52.75

น.ส.วราภรณ์ วิบูลคณารักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.เคที ซีมิโก้ แนะนำ"ซื้อ"DTAC จากปัจจัยบวก 2 เรื่องในเวลาไล่เลี่ยกัน คือ ศาลปกครองกลางคุ้มครองชั่วคราวให้ลูกค้า DTAC ได้รับบริการบนคลื่น 850 MHz ได้ต่ออีก 3 เดือน หลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานสิ้นสุดในวันที่ 15 ก.ย.61 ที่ผ่านมา ช่วยทำให้ปกป้องส่วนแบ่งตลาดของ DTAC ได้ดี และไม่เกิดความเสี่ยง โดยบริษัทเร่งจัดการขยายโครงข่ายรองรับลูกค้า

ขณะเดียวกันบริษัทได้ระงับข้อพิพาทกับ บมจ.กสท.โทรคมนาคม (CAT) พร้อมเช่าเสาสัญญาณ และอุปกรณ์ที่เคยใช้ได้เช่าใช้ต่อเนื่องไปในราคาเช่าที่ต่ำกว่าคาดอยู่ที่ 3.7 พันล้านบาท/ปี จากเดิมคาดไว้ 9 พันล้านบาท/ปี ทำให้ปรับประมาณการกำไรขึ้น ขณะที่การประหยัดค่าตัดจำหน่ายสินทรัพย์สัมปทานมีน้ำหนักมากกว่าต้นทุนที่เพิ่มเข้ามา ทำให้กำไรของ DTAC เติบโตแข็งแกร่งในปี 62

น.ส.วราภรณ์ กล่าวว่า เอไอเอสยังคงครองส่วนแบ่งตลาดด่านรายได้ (Revenue Market Share) เป็นอันดับหนึ่ง มีสัดส่วนตลาด 48% รองลงมาเป็น TRUE อยู่ที่ 28% และ DTAC เป็นอันดับสามอยู่ที่ 23% (ข้อมูล ณ สิ้น มิ.ย.61) อย่างไรก็ตามในไตรมาสล่าสุดโมเมมตัมลูกค้า DTAC ที่ยกเลิกลดลง

พร้อมให้ความเห็นว่า DTAC ไม่ได้มีเป้าหมายจะกลับมาเป็นอันดับ 2 แต่สิ่งที่ต้องการเป็นเรื่องกำไรมากขึ้น และ มี cash flow มากกว่า จะเห็นได้ว่าการลงทุนมีความระมัดระวังมากขึ้น และยังต้องการได้คลื่นความถี่ที่สามารถครอบคลุมได้กว้างขึ้น

นายสุวัฒน์ วัฒนพรพรหม นักวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า DTAC ได้รับการคุ้มครองจากศาลปกครองกลางทำให้การเปลี่ยนผ่านจากสัญญาสัมปทาน 850 MHz เป็นไปอย่างราบรื่น ซึ่งช่วย DTAC มีเวลาลงทุนขยายโครงข่ายเพิ่ม 3 เดือน ขณะที่ต้นทุนค่าเช่าอุปกรณ์จาก CAT ลดลงต่ำกว่าคาดปีละ 3.7 พันล้านบาท ถูกกว่าตั้งไว้ที่ 9 พันล้านบาท

ดังนั้น จึงปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 61-62 เพิ่มขึ้น หลักๆ เป็นเหตุผลจากการปรับลดต้นทุนลง รับผลบวกต้นทุนคลื่น 1800 MHz ที่ประมูลกลับมา 5 MHz ต่ำกว่าสมมติฐานที่ 15 MHz, ค่าเช่าอุปกรณ์สัมปทานต่ำกว่าคาด และแม้จะปรับเพิ่มงบลงทุนภายใต้หลักอนุรักษ์นิยม และปรับลดรายได้ค่าบริการลง ยังได้กำไรใหม่ปี 61 อยู่ที่ 2.9 พันล้านบาท (จากเดิมคาด 287 ล้านบาท) เติบโต 39% และจะเติบโตแรง 160% ในปี 62 เป็น 7.9 พันล้านบาท (จากเดิมคาด 4.9 พันล้านบาท) ซึ่งเป็นผลบวกการหยุดรับรู้ค่าตัดจำหน่ายอุปกรณ์สัมปทานไตรมาสละ 4.5 พันล้านบาท สูงกว่าต้นทุนใหม่ คือ ค่าคลื่น 1800+2300 MHz เต็มปี, ค่าเช่าอุปกรณ์สัมปทานและต้นทุนตามมาจากการลงทุนเพิ่ม

"คำตัดสินของศาล คาดช่วยลดความกังวลวามเสี่ยงรอยต่อธุรกิจ DTAC ไปมาก ซึ่งตามมาด้วยการพลิกกลับของผลประกอบการที่โดดเด่น ขณะที่มูลค่าพื้นฐานภายใต้ประมาณการใหม่ อิง DCF (9.63%, Growth 1.5%) แม้เหลือ 62 บาท (เดิม 68 บาท) แต่ยังให้ Upside สูงเกือบ 40% แนะนำ "ซื้อ""

ด้าน บล.เคจีไอ(ประเทศไทย)ระบุในบทวิเคราะห์ว่า DTAC มีปัจจัยบวกต่อกิจการ 2 ปัจจัย ได้แก่ ศาลปกครองกลางมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติ กสทช.ที่ไม่อนุญาตให้ DTAC รับสิทธิคุ้มครองคลื่นความถี่ 850 MHz หลังจากที่สัมปทานหมดอายุในวันที่ 16 กันยายน 2561 โดยให้ DTAC ได้รับสิทธิใช้คลื่นความถี่ 850 MHz ต่อไปได้จนถึง 15 ธ.ค.61 และ DTAC เซ็นสัญญากับ บมจ.กสท โทรคมนาคม (CAT) สำหรับสิทธิในการใช้เสาสัญญาณ สายส่ง และอุปกรณ์โครงข่าย 2G, 3G และ 4G ของ CAT เป็นเวลา 8 ปี จ่ายปีละ 3.7 พันล้านบาท ตั้งแต่กลางเดือน ก.ย.61 เป็นต้นไป ซึ่งค่าใช้จ่ายก้อนนี้ต่ำกว่าประมาณการเดิมของเราที่คาดไว้ปีละ 7.6 พันบ้านบาท

การที่ DTAC สามารถใช้คลื่น 850 MHz ต่อไปได้ในช่วงเยียวยาสามเดือนจะเป็นปัจจัยบวกระยะสั้นต่อการดำเนินงานของ DTAC ในช่วงที่บริษัทยังขยายโครงข่ายคลื่น 2300 MHz ไม่เสร็จ และน่าจะทำให้ความกังวลของผู้ใช้บริการคลี่คลายลงไป แต่อย่างไรก็ตามเราไม่คิดว่าจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญกับผลประกอบการของ DTAC เพราะเหลือผู้ใช้บริการที่ยังใช้คลื่น 850 MHz แค่ไม่ถึง 100,000 ราย และบริษัทต้องโอนกำไรที่เกิดจากการใช้คลื่น 850 MHz ในช่วงเยียวยาไปให้กับ กสทช.

เพื่อให้สอดคล้องกับสัญญาที่ DTAC เพิ่งเซ็นไปซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่าประมาณการเดิมของเรา ดังนั้น จึงต้องปรับเพิ่มประมาณการกำไรสุทธิของ DTAC โดยปรับลดประมาณการต้นทุนลง 1.9-7.3% ในปี 61-62 ตามลำดับ จากการปรับลดสมมติฐานค่าเช่าที่ต้องจ่ายให้กับ CAT ลง ซึ่งส่งผลให้ประมาณการกำไรสุทธิปี 61 เพิ่มขึ้นจากเดิม 66% เป็น 2.3 พันล้านบาท (+9% YoY) และประมาณการกำไรปี 62 เพิ่มขึ้นถึง 52% เป็น 7.3 พันล้านบาท (+217% YoY)

ภายใต้ประมาณการใหม่ ราคาเป้าหมายสำหรับครึ่งแรกปี 61 ของเราเพิ่มขึ้นจากเดิม 48.00 บาท เป็น 56.00 บาท (คำนวณโดยวิธี DCF ใช้ WACC ที่ 11.4%) ซึ่งยังมี upside จากราคาตลาดอีก 26%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ