สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า บมจ.โอสถสภา จะเสนอขายหุ้นสามัญให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 603.75 ล้านหุ้น แบ่งเป็น หุ้นเพิ่มทุนของบริษัทฯจำนวนไม่เกิน 506.75 ล้านหุ้น , หุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย ORIZON LIMITED ไม่เกิน 67 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย Y INVESTMENT LTD ไม่เกิน 30 ล้านหุ้น โดยกำหนดช่วงราคาเสนอขาย IPO ที่ 22-25 บาท/หุ้น มูลค่าการเสนอขาย 13,282,500,000 – 15,093,750,000 บาท
บริษัทกำหนดสัดส่วนการเสนอขายหุ้นให้กับผู้ลงทุนในประเทศจำนวนรวม 392.25 ล้านหุ้น คิดเป็น 65% แบ่งเป็น บุคคลตามดุลยพินิจของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ 24.2% ,ผู้ลงทุนสถาบันในประเทศ 34.5% , ผู้มีอุปการคุณของบริษัท 3% , บุคคลที่มีความสัมพันธ์ของบริษัท (กรรมการและผู้บริหาร) 0.5% และพนักงานของบริษัท 2.7% ขณะที่กำหนดสัดส่วนการเสนอขายหุ้นให้กับผู้ลงทุนในต่างประเทศผ่านผู้ซื้อหุ้นเบื้องต้นในต่างประเทศจำนวนรวมประมาณ 211.5 ล้านหุ้น คิดเป็น 35%
ทั้งนี้ กำหนดระยะเวลาจองซื้อหุ้น IPO ในวันที่ 1-4 ตุลาคม 2561 สำหรับบุคคลตามดุลยพินิจของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ผู้มีอุปการคุณของบริษัทฯ พนักงานของบริษัทฯ และบุคคลที่มีความสัมพันธ์ของบริษัทฯ ซึ่งเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัทฯ และจองซื้อหุ้น IPO ในวันที่ 8-10 ตุลาคม 2561 สำหรับผู้ลงทุนสถาบัน (รวมถึงผู้ลงทุนสถาบันที่เป็น Cornerstone Investors ในประเทศไทย ผู้ซื้อหุ้นเบื้องต้นในต่างประเทศ และผู้ลงทุนสถาบันที่เป็น Cornerstone Investors ต่างประเทศ
โดยมีผู้จัดการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นในครั้งนี้ คือ บล.บัวหลวง และบล.ภัทร
ด้านแหล่งข่าวจากบล.บัวหลวง เปิดเผยกับ"อินโฟควสท์"คาดว่า จะเคาะสรุปราคาเสนอขายหุ้น IPO ของ"โอสถสภา"ได้ในช่วงต้นเดือนตุลาคม และคาดว่าจะเข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในวันที่ 17 ตุลาคม 2561
บมจ. โอสถสภา ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค โดยมีกลุ่มผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มและกลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคล และธุรกิจให้บริการผลิตสินค้า บรรจุภัณฑ์ และจัดจำหน่ายสินค้า
วัตถุประสงค์การใช้เงิน 1. เงินทุนสำหรับการขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการพัฒนาปรับปรุงการผลิต การจัดจำหน่ายสินค้า การปรับปรุงประสิทธิภาพสินค้า และการดำเนินธุรกิจภายในของบริษัทฯ ได้แก่ การก่อสร้างโรงงานผลิตเครื่องดื่มแห่งใหม่ในเมียนมา คาดว่าจะใช้เงิน 2,424 ล้านบาท, การสร้างเตาหลอมแก้วใหม่ที่โรงงานผลิตขวดแก้วของบริษัทฯ จำนวนเงินที่ใช้ประมาณ 1,800 ล้านบาท, การก่อสร้างโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคลประเภทแป้งแห่งใหม่ จำนวนเงินที่ใช้ประมาณ 167.3 ล้านบาท และโครงการอื่น ๆ รวมถึง การซ่อมบำรุงเครื่องจักรและอุปกรณ์ รายจ่ายฝ่ายทุนในกระบวนการผลิตขวดแก้วให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การปรับปรุงที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และโรงงานต้นแบบที่ใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อทดสอบคุณภาพ จำนวนเงินที่ใช้ประมาณ 1,002.7 ล้านบาท รวมใช้เงินประมาณ 5,394 ล้านบาท คาดว่าจะใช้เงินในช่วงปี 2561-2562
2. ชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน คาดว่าจะใช้เงินประมาณ 5,408.4 – 5,700.0 ล้านบาท ระยะเวลาที่ใช้เงินประมาณปี 2561 และ 3. เงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานของบริษัทฯ คาดว่าจะใช้เงินประมาณ 0 - 1,198.2 ล้านบาท ระยะเวลาที่ใช้เงินประมาณปี 2561-2562