นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานกรรมการ บมจ.การบินไทย (THAI) เปิดเผยว่า บริษัทฯจะทบทวนแผนการจัดซื้อเครื่องบินรอบใหม่มูลค่า 1 แสนล้านบาท จำนวน 23 ลำ หลังจากปรับยุทธศาสตร์คาดว่าจะใช้เวลาภายใน 3 เดือน โดยไปพิจารณา Network และเส้นทางบิน เนื่องจากตนและนายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) THAI เพิ่งมารับตำแหน่งไม่นานจึงไม่เห็นแผนการจัดซื้อเครื่องบินดังกล่าว
"แผนที่เรากำลังจะทบทวน มันอาจจะไม่ใช่แสนล้านบาท เราอาจจะต้องมาทบทวนใหม่ สิ่งที่คุยกันไม่จำเป็นต้องเป็น 23 ลำ เราวาง strategy ใหม่ เส้นทางใหม่ route ต่างๆ เครื่องบินก็มีขนาดให้น้อยลง คือเรามีหลากหลายไม่ได้ ระยะทางต้องสอดคล้องกับ Network เพราะฉะนั้นเราจึงต้องกลับมาทบทวนใหม่ อย่างที่รองนายกฯ ให้เวลาเรา 3 เดือน เพราะฉะนั้นเรายังมีเวลา" นายเอกนิติ กล่าว
ส่วนแหล่งเงินนั้นยังไม่ได้พิจารณา เพราะต้องรอผลการทบทวนใหม่ว่าจะต้องใช้เครื่องบินกี่ลำ อย่างไรก็ดี การจัดซื้อเครื่องบินจะเป็นลักษณะการทยอยซื้อจะไม่ใช่ซื้อรวดเดียว ดังนั้นแหล่งเงินก็ต้องสอดคล้องกับการจัดซื้อด้วย
ส่วนแผนการลงทุนศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ที่สนามบินอู่ตะเภา มูลค่าโครงการราว 6,000 ล้านบาทนั้น ประธานกรรมการ THAI กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการการบินไทยเมื่อวานนี้ (19 ก.ย.) ได้อนุมัติผลการศึกษาการลงทุนศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ที่สนามบินอู่ตะเภาแล้ว โดยคงแผนลงทุนของการบินไทยสัดส่วน 50% และเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (คณะกรรมการ EEC) ที่จะพิจารณาแผนในเดือนตุลาคมนี้ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และคาดว่าจะเปิดประกาศร่างเอกสารคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน (TOR) ได้ในปลายปีนี้
นายเอกนิติ กล่าวอีกว่า ในการจัดงานเสวนา "สานพลังพันธมิตร เพื่อไทยก้าวไกลอย่างยั่งยืน"วันนี้ได้เปิด Facebook Live เพื่อจะสื่อสารถึงพนักงานทุกคนทั่วโลกทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งผู้บริหารและกรรมการบริษัท รวมทั้งสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทยด้วย โดยกล่าวถึงแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งการบินไทยมีเป้าหมายในปี 65 ที่ติดสายการบินชั้นนำใน 5 อันดับแรกของโลกที่ลูกค้าพึงพอใจ (TOP 5) และสามารถแก้ไขปัญหาขาดทุนสะสมได้ภายในปี 65 รวมทั้งเป็น National Premium Airline จึงมีการร่วมมือกับรัฐวิสาหกิจไทย 3 รายด้วยกันได้แก่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) ธนาคารกรุงไทย (KTB) และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ร่วมมือด้านการบินและการท่องเที่ยว
ด้านนายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ THAI กล่าวเพิ่มเติมว่า แผนการจัดซื้อเครื่องบินของการบินไทย อาจจะไม่ใช่แค่แสนล้านบาท โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2556-2561) การบินไทยมีจำนวนเครื่องบินเพิ่มมาเพียง 3 ลำ เป็น 103 ลำ ขณะที่ส่วนแบ่งการตลาดกลับปรับลดลงเหลือ 27.3% จาก 37.1% หรือส่วนแบ่งตลาดหายไป 10% ดังนั้นจะน่าตระหนกมากว่าหากผ่านไปอีก 5 ปี จะหายไปอีก 10% ถ้าเราไม่ทำอะไร ถ้าการบินไทยมีเครื่องบินที่น้อยจนเกินไป หรือไม่สอดคล้องกับอุตสาหกรรมการบิน การบินไทยก็จะหายไป ต่อให้ต้องจัดซื้อเท่าไร ก็ต้องมีแผนและยุทธศาสตร์ ซึ่งจะไม่ใช่เพียงแค่เรื่องการจัดซื้อเครื่องบิน โดยหากสั่งวันนี้จะได้เครื่องบินในอีก 24 เดือน
ทั้งนี้ การบินไทยเพิ่งได้แจ้งกับคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ว่า อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) ที่ 80% แต่ yield อ่อนตัว แต่เทียบกับคู่แข่งที่มี yield ลดลงมากกว่าการบินไทย ส่วนค่าใช้จ่ายน้ำมันและซ่อมบำรุงสูงขึ้น ขณะที่มีสิ่งที่ยังไม่ตอบโจทย์เรื่องเทคโนโลยี เรื่องดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง ซึ่งต้องปรับปรุงไม่ใช่แค่เพียงเป็นการขายตั๋วผ่านอินเตอร์เน็ต แต่จะมีการขายผ่านแพลตฟอร์มอื่นได้ด้วย
"วันนี้ สิ่งที่จะทำตามแผนยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้ เราเดินตาม ผมมาใหม่ ผมมองอีกภาพหนึ่ง บางภาพที่เห็นไม่เหมือนกัน ที่มายุทธศาสตร์เรา 23 ลำไม่ใช่คำตอบ การท่องเที่ยวเราเติบโต เราเอาสุวรรณภูมิเป็นตัวตั้ง สุวรรณภูมิที่ขยายเป็นแสนเที่ยวบิน เราก็มีการเติบโต Catering ก็เพิ่ม Cargo ก็เพิ่ม บริการภาคพื้นก็โต มองให้ดีตลาดเปิดให้เรา" นายสุเมธ กล่าว
*THAI คาดปี 63 หยุดขาดทุน
กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ THAI กล่าวว่า ในปี 63 จะหลุดพ้นจากการขาดทุนและมีกำไรอย่างยั่งยืน โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การบินไทยมีกำไรจากการดำเนินงาน แม้มาร์จิ้นจะบางลงเรื่อยๆ จากต้นทุนสูงขึ้น และการใช้เครื่องบินหลากหลายประเภท การทำให้มีกำไรและยั่งยืนขึ้นมาได้ต้องมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาการบินไทยทำรายได้ดี มี Cabin Factor ระดับ 80% สิ่งที่ต้องทำต่อไปที่วางแผนไว้ จะเพิ่มดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง รวมทั้งจะเพิ่มรายได้จากธุรกิจซ่อมบำรุงอากาศยานทั้งในอู่ตะเภา และที่ดอนเมือง รวมทั้งธุรกิจครัวการบิน
ทั้งนี้ กลยุธ์บริษัทกำหนดไว้ 5 ข้อ ดังนี้ A : Aggressive Profit, B : Business Portfolio, C : Customer Experience, D : Digital Technology และ E : Effective Human Capital Management
โดยเป้าหมายเพิ่มรายได้จากการขายตั๋วโดยสาร ตั้งเป้า Cabin factor เท่ากับหรือมากกว่า 80% และเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด การปรับปรุงรายได้ต่อหน่าย (yield) เน้นทำตลาดองค์กร ขณะที่จะเพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจที่ไม่ใช่การบินเพิ่มขึ้น 15-20% จากเดิม 10%ของรายได้รวม ส่วนรายได้เสริมอื่นจะเพิ่มสัดส่วนเป็น 5-20% ต่อปี จาก 2.2% ของรายได้รวม
พร้อมกันนั้นมีการขยายพันธมิตรทั้งใและต่างประเทศ โดยทีมไทยแลนด์ ได้แก่ การบินไทย, ไทยสมายล์, นกแอร์, บางกอกแอร์เวยส์, ไทยไลอ้อนแอร์, แอร์เอเชีย, AOT, KTB, ททท. และสำนักงานการบินพลเรือแห่งประเทศไทย (กพท.) โดยเร็วๆ นี้จะมีความร่วมมือกับ ททท.
สำหรับงานเสวนา "สานพลังพันธมิตร เพื่อไทยก้าวไกลอย่างยั่งยืน" ทางรัฐวิสาหกิจพันธมิตรของการบินไทย ทั้ง AOT KTB ททท. พร้อมให้การสนับสนุนและทำงานร่วมกับการบินไทย ทั้งในด้านธุรกิจการท่องเที่ยวที่เป็นรายได้หลักของประเทศ โดยเฉพาะยุทธศาสตร์การส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง จะมีส่วนสนับสนุนธุรกิจการบิน รวมทั้งสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับทุกภาคส่วนในประเทศ ซึ่งการบินไทยสามารถนำนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเข้าสู่เมืองรอง โดย ททท. สามารถสนับสนุนทางด้านโฆษณาและประชาสัมพันธ์
ด้านอุตสาหกรรมการบิน ในส่วนของการบินไทยในฐานะสายการบินแห่งชาติ ที่มีเที่ยวบินเข้า-ออก ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมากที่สุด ดังนั้น หากได้ผนึกกำลังร่วมกับ AOT จะเป็นการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นฮับในการขนส่งทางอากาศที่แข็งแกร่งในภูมิภาคนี้
ด้านข้อมูลข่าวสารในยุคดิจิทัล เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 รัฐวิสาหกิจชั้นนำต้องสนับสนุนซึ่งกันและกัน ในเรื่อง Big Data โดยการบินไทย ททท. AOT และ KTB ร่วมพัฒนาข้อมูลใน Segment ของนักท่องเที่ยว และพัฒนาด้าน Payment Gateway ในโครงการ "เป๋าตุง" ขายคล่องรับเงินสะดวกทุกธนาคาร แจ้งเตือนเมื่อเงินเข้า ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการขายให้การบินไทยได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว