GLOW ศึกษาลงทุนโรงไฟฟ้าพลังน้ำในเมียนมา 640 MW รอลุ้นลงนามสิทธิพัฒนาโครงการปี 62

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday September 24, 2018 10:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปจงวิช พงษ์ศิวาภัย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายการเงิน บมจ.โกลว์ พลังงาน (GLOW) เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำในเมียนมา ขนาด 640 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งขณะนี้กระทรวงพลังงานของเมียนมาได้อนุมัติผลการศึกษาด้านเทคนิคแล้ว และจะคาดว่าจะสามารถลงนามสัญญาสิทธิการพัฒนาโครงการได้ในปี 62 หลังจากนั้นก็จะศึกษารายละเอียดของการลงทุน ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1.5-2 ปี

นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างเจรจาเพื่อดำเนินโครงการติดตั้งและผลิตไฟฟ้าบนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) ในรูปแบบของ Private PPA ซึ่งปัจจุบันเจรจากับลูกค้าหลายราย มีกำลังการผลิตรวมกันประมาณ 100 เมกะวัตต์ และปัจจุบันมีลูกค้าตอบรับแล้ว 3 ราย แบ่งเป็นโรงงานอุตสาหกรรม 2 ราย และโรงแรมในจังหวัดภูเก็ต 1 ราย ขนาดกำลังการผลิตรวม 2.5 เมกะวัตต์ ขณะที่โครงการโซลาร์รูฟท็อปมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นตามความต้องการของลูกค้า และยังสอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ (PDP) อีกด้วย

นายปจงวิช กล่าวอีกว่า สำหรับความคืบหน้าการต่ออายุสัญญาโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก (SPP) ประเภทโคเจนเนอเรชั่น ของกลุ่มบริษัทที่ใกล้จะหมดอายุนั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอความชัดเจนจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) คาดว่าจะมีการพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป เพื่อพิจารณาภาพรวมสำหรับโรงไฟฟ้า SPP ประเภทโคเจนเนอเรชั่นที่จะหมดอายุในช่วงปี 60-68 ว่าจะต่ออายุโรงไฟฟ้าดังกล่าวในรูปแบบใด

อนึ่ง GLOW มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า SPP กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทั้งหมด 11 สัญญา โดยมี 7 สัญญาที่มีปริมาณขายไฟฟ้ารวม 500 เมกะวัตต์ ประเภทโคเจนเนอเรชั่นจะหมดอายุในช่วงปี 60-68 โดย SPP ที่หมดสัญญาในปี 60 จำนวน 2 สัญญา ปริมาณขายไฟฟ้าสัญญาละ 90 เมกะวัตต์ รวม 180 เมกะวัตต์ ได้ต่ออายุสัญญาไปแล้วเป็น 3 ปี โดยปริมาณรับซื้อไม่เกิน 60 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นไปตามมติกพช.เดิมเมื่อวันที่ 30 พ.ค.59

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดกระทรวงพลังงานได้ปรับปรุงแนวทางการต่ออายุสัญญาสำหรับ SPP ประเภทโคเจนเนอเรชั่นใหม่ โดยอยู่ระหว่างเตรียมนำเสนอต่อ กพช.ให้พิจารณาอนุมัติต่อไป ขณะที่ SPP ประเภทโคเจนเนอเรชั่น ซึ่งจะสิ้นสุดอายุสัญญาขายไฟฟ้าในปี 60-68 มีทั้งสิ้น 25 ราย คิดเป็นปริมาณสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากว่า 1,700 เมกะวัตต์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ