นางวรรณิภา ภักดีบุตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.โอสถสภา (OSP) ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคชั้นนำของไทยและในภูมิภาคอาเซียน กล่าวว่า บริษัทได้ลงนามในสัญญาแต่งตั้ง บล.บัวหลวง และ บล.ภัทร เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเดิมและหุ้นเพิ่มทุนที่จะเสนอขายต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) โดยบริษัทคาดว่าจะสามารถกำหนดและประกาศราคาเสนอขายหุ้นสุดท้ายได้ในวันที่ 5 ต.ค.61 ผ่านเว็บไซต์ของบริษัทฯ จากช่วงราคาที่กำหนดในเบื้องต้นที่ 22.00-25.00 บาทต่อหุ้น
พร้อมแต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์อีก 9 แห่ง ได้แก่ บล.กรุงศรี, บล.เคที ซีมิโก้, บล.ทิสโก้, บล.ไทยพาณิชย์, บล.โนมูระ พัฒนสิน, บล.ฟินันเซีย ไซรัส, บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) , บล.อาร์เอชบี (ประเทศไทย) และ บล.เอเซีย พลัส เป็นผู้ร่วมจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย
สำหรับการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในครั้งนี้ เพื่อเสริมศักยภาพการดำเนินธุรกิจให้มีความแข็งแกร่ง รองรับแผนการรุกขยายธุรกิจครั้งใหญ่ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของเราที่ต้องการผลักดันการเติบโตแบบก้าวกระโดด และรักษาความเป็นผู้นำตลาดในกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่ไม่ผสมแอลกอฮอล์และผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคลในภูมิภาคนี้
บริษัทมีจุดแข็งด้านแบรนด์ผลิตภัณฑ์ชั้นนำที่หลากหลายและได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคในวงกว้าง โดยปัจจุบัน OSP เป็นหนึ่งในผู้นำตลาดเครื่องดื่มบำรุงกำลังด้วยมูลค่าตลาดค้าปลีก คิดเป็นสัดส่วน 54.4% ของมูลค่าตลาดค้าปลีกของเครื่องดื่มบำรุงกำลังในประเทศสำหรับปี 60 (จากรายงาน Frost & Sullivan)
ขณะที่แบรนด์ ‘เบบี้มายด์’ เป็นผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กอันดับหนึ่งในประเทศไทย เมื่อพิจารณาจากมูลค่าตลาดค้าปลีกสำหรับปี 2560 โดยไม่รวมผลิตภัณฑ์ผ้าอ้อมเด็กทารก (จากรายงาน Nielsen) ซึ่งความสำเร็จดังกล่าวมาจากการวิจัยและพัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์ ความแข็งแกร่งในด้านกระบวนการผลิต การตลาดและการกระจายสินค้าเข้าสู่ช่องทางการจัดจำหน่ายที่ครอบคลุมผู้บริโภค โดยมีตลาดหลักได้แก่ เมียนมาร์ กัมพูชา และ ลาว และตลาดรองได้แก่ อินโดนีเซียและเวียดนาม
ปัจจุบัน OSP แบ่งการดำเนินธุรกิจออกเป็น 4 กลุ่มได้แก่ 1. ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม ประกอบด้วยเครื่องดื่มบำรุงกำลัง เครื่องดื่มเกลือแร่ กาแฟพร้อมดื่มและเครื่องดื่มที่มีการเติมส่วนผสมเพื่อให้ได้คุณสมบัติเฉพาะ โดยมีผลิตภัณฑ์หลัก เช่น เอ็ม-150, เอ็ม-สตอร์ม, ลิโพวิตัน-ดี, ฉลาม, ชาร์คคูลไบท์, โสมอิน-ซัม, เอ็มเกลือแร่ (M-Electrolyte), เอ็ม-เพรสโซ, และเปปทีน 2. ธุรกิจผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคล ที่ประกอบด้วยกลุ่มผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กภายใต้ แบรนด์ ‘เบบี้มายด์’ และกลุ่มผลิตภัณฑ์ความงามสำหรับผู้หญิงภายใต้แบรนด์ ‘ทเวลฟ์พลัส’
3.บริการบริหารจัดการด้านซัพพลายเชน ซึ่งรวมถึงการรับจ้างผลิตและ/หรือบรรจุหีบห่อผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มและของใช้ส่วนบุคคลประเภทให้กับกิจการร่วมค้าและบุคคลภายนอก (OEM) เช่น ซี-วิต และคาลพิส การจำหน่ายขวดแก้วตามสัญญาบริการผลิตสินค้า (OEM) และการผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพให้แก่กิจการร่วมค้าของบริษัทฯ และ 4. กลุ่มธุรกิจอื่นๆ ได้แก่ ธุรกิจผลิตภัณฑ์ลูกอมภายใต้แบรนด์ โอเล่ และโบตัน
นายวรารัตน์ ชุติมิต กรรมการผู้จัดการ บล.บัวหลวง กล่าวว่า ปัจจุบัน OSP มีทุนจดทะเบียน 3,003,750,000 บาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 3,003,750,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 1 บาทต่อหุ้น โดยมีทุนที่ออกและชำระแล้วทั้งหมด 2,497,000,000 บาท เป็นหุ้นสามัญจำนวน 2,497,000,000 หุ้น
และเตรียมเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนและหุ้นสามัญเดิม จำนวนไม่เกิน 603.75 ล้านหุ้น ซึ่งแบ่งเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายโดยบริษัทฯ จำนวนไม่เกิน 506.75 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดยผู้ถือหุ้นเดิม (บริษัท Orizon Limited และบริษัท Y Investment Ltd) จำนวนไม่เกิน 67,000,000 หุ้น และ 30,000,000 หุ้นตามลำดับ คิดเป็นไม่เกิน 20.1% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO
สำหรับเงินที่ได้จากการระดมทุนจะใช้พัฒนาธุรกิจทั้งในและต่างประเทศเพื่อสร้างความเข้มแข็งและเติบโตที่ดีต่อไปในอนาคตอย่างยั่งยืน โดยบริษัทฯ มีแผนสร้างโรงงานผลิตเครื่องดื่มแห่งใหม่ที่ประเทศเมียนมาร์ เพื่อให้สามารถควบคุมการลงทุนได้และมีความยืดหยุ่นในการตอบสนองความต้องการของตลาด รวมถึงพัฒนาปรับปรุงการผลิต การจัดจำหน่ายสินค้า ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและการดำเนินธุรกิจภายในของบริษัทฯ การนำไปชำระคืนเงินกู้ยืมสถาบันการเงินและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานต่อไป
ด้านนายอนุวัฒน์ ร่วมสุข กรรมการผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายตลาดทุน บล.ภัทร เปิดเผยว่า บริษัทได้กำหนดช่วงราคาเสนอขายหุ้นเบื้องต้นที่ระหว่าง 22.00-25.00 บาทต่อหุ้น โดย ณ วันจองซื้อ นักลงทุนทั่วไปจะต้องจองซื้อหุ้น IPO ที่ราคา 25.00 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นราคาสูงสุดของช่วงราคาเสนอขายเบื้องต้น โดยราคาเสนอขายหุ้นสุดท้ายจะถูกกำหนดโดยนักลงทุนสถาบันทั้งในประเทศและในต่างประเทศ โดยวิธี Bookbuilding หากราคาเสนอขายหุ้นสุดท้ายต่ำกว่าราคา 25.00 บาท นักลงทุนทั่วไปที่จองซื้อจะได้รับคืนเงินส่วนต่างระหว่างราคาจองซื้อหุ้น กับราคาเสนอขายหุ้นสุดท้าย
นอกจากนี้ มีนักลงทุนสถาบันชั้นนำทั้งในประเทศและในต่างประเทศที่เป็น Cornerstone Investors จำนวน 12 รายได้แก่ บลจ.บัวหลวง บลจ.ภัทร บลจ.กรุงไทย บลจ.ทิสโก้ บลจ.ไทยพาณิชย์ บลจ.อเบอร์ดีน สแตนดาร์ด (ประเทศไทย) AIA Company Limited, Thailand Branch, Aberdeen Standard Investment (Asia) Limited, Templeton Asset Management Ltd., York Capital Asset Management Global Advisory LLC และ The Segantii Asia-Pacific Equity Multi-Strategy Fund ได้ตกลงจองซื้อหุ้นของบริษัทฯ ที่เสนอขายครั้งนี้ เป็นจำนวน 259.34 ล้านหุ้น หรือประมาณ 43% ของจำนวนหุ้นที่เสนอขายทั้งหมด ที่ราคาเสนอขายสุดท้าย การแสดงความสนใจและเข้าทำสัญญาลงทุนในหุ้นของนักลงทุนสถาบันประเภท Cornerstone ทั้ง 12 แห่งนี้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในปัจจัยพื้นฐานและศักยภาพในการเจริญเติบโตของบริษัทฯ
นายเพชร โอสถานุเคราะห์ ประธานกรรมการบริหาร OSP กล่าวว่า การนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯในครั้งนี้ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงจากธุรกิจครอบครัวไปสู่ธุรกิจที่ทุกคนมีส่วนร่วม โดยมีผู้บริหารมืออาชีพเข้ามาบริหาร เพื่อทำให้บริษัทเติบโตทั้งในแง่รายได้และกำไร ซึ่งจะทำให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ แผนกลยุทธ์การเติบโตอย่างยั่งยืนบริษัทจะต้องมีการปรับสัดส่วนรายได้ของประเภทสินค้าที่ขาย พร้อมกับการขยายธุรกิจออกไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะในเอเชีย
นางวรรณิภา กล่าวอีกว่า แผนการเติบโตอย่างยั่งยืนของบริษัทจะเริ่มจากการปรับสัดส่วนรายได้ของผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับภาวะของตลาดและความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น โดยจะเน้นการเพิ่มสัดส่วนรายได้ของสินค้าประเภทเครื่องดื่มทางเลือก (Functional drink) ให้เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันมีสัดส่วนราว 10% เพื่อมาชดเชยกลุ่มเครื่องดื่มชูกำลัง (Energy drink) ที่มีสัดส่วนในปัจจุบันกว่า 70% เนื่องจากแม้กลุ่มเครื่องดื่มชูจะมียอดขายสูง แต่เป็นสินค้าที่ให้มาร์จิ้นต่ำ ประกอบกับการแข่งขันในตลาดเครื่องดื่มชูกำลังมีการแข่งขันที่สูงและแนวโน้มของตลาดในประเทศค่อยๆลดลง ขณะที่เครื่องดื่มทางเลือกเป็นตลาดที่ยังมีช่องว่างที่ยังมีโอกาสขยายตลาดได้กมากขึ้น จึงอยู่ระหว่างการศึกษาออกสินค้าใหม่เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่มีสินค้ากลุ่มนี้ คือ Pepteine และ C-Vit
นอกจากนี้ บริษัทจะหันมาเพิ่มสัดส่วนรายได้จากกลุ่มสินค้าของใช้ส่วนบุคคล (Personal care) ให้เพิ่มขึ้นมากกว่า 9% ในปัจจุบัน เพราะเป็นกลุ่มสินค้าที่มียอดขายในตลาดเติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งไนและต่างประเทศ และให้มาร์จิ้นสูง จึงจะเป็นอีกหนึ่งที่จะเป็นปัจจัยที่ช่วยผลักดันรายได้และกำไรของบริษัทในอนาคต รวมไปถึงการขยายตลาดในต่างประเทศจะเป็นปัจจัยที่เข้ามาเสริมความยั่งยืนให้แก่บริษัท โดยมีแผนจะรุกตลาดจีนและเวียดนามมากขึ้น เพราะทั้ง 2 ประเทศมีปริมาณการใช้สินค้าของใช้บุคคลเป็นจำนวนมาก ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างศึกษาการร่วมทุนกับพันธมิตรในการเข้าไปเปิดตลาดใหม่ๆ ซึ่งแผนในเบื้องต้นในปี 62 บริษัทจะนำสินค้าของ Baby Mild เข้าไปจำหน่ายในเวียดนาม
สำหรับตลาดในกลุ่ม CLMV บริษัทจะให้ความสำคัญกีบการผลักดันตลาดในประเทศเมียนมา หลังจากที่บริษัทได้ลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตเครื่องดื่มชูกำลัง ซึ่งจะแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 62 ทำให้บริษัทสามารถเดินหน้าขยายตลาดได้เต็มที่ และจะนำกลุ่มสินค้าที่เป็นของไช้ส่วนบุคคลเข้าไปจำหน่ายด้วย โดยบริษัทคาดว่าตลาดในเมียนมาจะมีความสำคัญเป็นอันดับสองรองจากประเทศไทยและยังเห็นโอกาสที่จะเติบโตได้อีกมาก
นางพรธิดา บุญสา รองกรรมการผู้จัดการสายการเงิน OSP กล่าวว่า การที่บริษัทเสนอขาย IPO ในครั้งนี้จะนำเงินไปใช้รองรับการขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการพัฒนาปรับปรุงการผลิต การจัดจำหน่าย การปรับปรุงประสิทธิภาพสินค้าและการดำเนินธุรกิจภายในของบริษัท และนำเงินไปใช้คืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน ซึ่งมีอยู่ 5.85 พันล้านบาท โเยจะชำระคืนหนี้ทั้งหมด ซึ่งจะทำให้บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ลดลงมาเป็น 0 เท่า จากปัจจุบันที่ 1.3 เท่า ทำให้บริษัทมีความสามารถในการกู้เพิ่มขึ้น และไม่มีภาระดอกเบี้ย พร้อมที่จะขยายการลงทุนอื่นๆต่อไป
ขณะที่ผลการดำเนินงานยังคงใหมความสำคัญกับการเติบโตของรายได้และกำไรที่ยั่งยืน จากการปรับโครงสร้างธุรกิจ การปรับสัดส่วนสินค้า และการขยายตลาดไนต่างประเทศ ทำให้ธุรกิจเกิดความสมดุล แม้ว่าในครึ่งปีแรกของปี 61 รายได้และกำไรสุทธิของบริษัทจะลดลงเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของปี 60 ซึ่งเป็นผลที่เกิดจากการปรับโครงสร้างธุรกิจในช่วงปี 60 ที่มีผลกระทบต่อเนื่องมาในครึ่งปีแรกของปีนี้ เพราะมีบางธุรกิจที่บริษัทได้เลิกทำและบางธุรกิจได้ขายออกไป และการปิดซ่อมเตาหลอมแก้วในช่วงปลายปี 60 ทำให้รายได้และกำไรของบริษัทในครึ่งปีแรกที่ผ่านมาได้รับผลกระทบ
โดยที่ครึ่งปีแรกของปี 61 บริษัทมีรายได้และกำไรสุทธิอยู่ที่ 1.25 หมื่นล้านบาท และ 1.44 พันล้านบาท ตามลำดับ เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของปี 60 ที่รายได้และกำไรสุทธิอยู่ที่ 1.31 หมื่นล้านบาท และ 1.73 พันล้านบาท ตามลำดับ อย่างไรก็ตามบริษัทยังคงเดินหน้าสร้างการเติบโตของผลการดำเนินงานอยทางต่อเนื่อง เพื่อทำให้การดำเนินธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนและทำให้ผู้ถือหุ้นทุกคนเชื่อมั่นในศักยภาพของบริษัท