นางอาภา อรรถบูรณ์วงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ริชี่เพลซ 2002 (RICHY) ในฐานะนายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า การจัดเก็บภาษีลาภลอยเป็นการจัดเก็บภาษีที่มีความซ้ำซ้อน โดยเฉพาะการเก็บภาษีลาภลอยเพิ่มเข้ามาในโครงการคอนโดมิเนียม เนื่องจากปกติการขายโครงการคอนโดมิเนียมจะต้องถูกเก็บภาษีเงินได้ 20% ซึ่งภาษีในส่วนนี้ได้คิดจากราคาประเมินจากกรมที่ดินแล้ว และยังมีภาษีลาภลอยที่เข้ามาเก็บเพิ่มเติมอีกในอัตราไม่เกิน 5% ซึ่งโครงการคอนโดมิเนียมที่พัฒนาแล้วได้มีการรวมในส่วนของผลประโยชน์ต่าง ๆ ไปแล้ว ซึ่งรวมในส่วนที่เป็นลาภลอยไปแล้ว หากจะมีการเก็บภาษีลาภลอยเพิ่มเข้ามาจะเป็นการเก็บส่วนที่ได้รวมจากราคาประเมินที่ได้รวมไป
ทั้งนี้ กรณีการเก็บภาษีดังกล่าวจะมีผลต่อต้นทุนของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียม ซึ่งจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น ก็จะสะท้อนไปที่ราคาขายอสังหาริมทรัพย์ที่สูงขึ้น ทำให้มีผลกระทบไปถึงผู้ซื้อที่จะต้องใช้เงินมากขึ้นในการซื้อที่อยู่อาศัย และทำให้การมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองในอนาคตจะลำบากมากขึ้น โดยประเมินว่าประชาชนระดับกลาง-ล่างจะมีความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยลดลง เพราะความสามารถในการซื้อหรือรายได้ มีไม่เพียงพอต่อการซื้อที่อยู่อาศัย ซึ่งทางสมาคมอาคารชุดไทยได้ไปชี้แจงประเด็นดังกล่าวไปแล้วว่าไม่ควรจัดเก็บภาษีลาภลอยกับโครงการคอนโดมิเนียม ซึ่งมีผลกระทบมากที่สุดเมี่อเทียบกับโครงการแนวราบและการขายที่ดินเปล่า
ส่วนการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาเตือนให้สถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยมากขึ้นนั้น มองว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ธปท.ยังมีความเป็นห่วงการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่มากเกินไป ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบให้หนี้เสียในระบบเพิ่มขึ้น และกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจประเทศไทย อย่างไรก็ตามมองว่าธปท.สามารถออกมาเตือนและควบคุมการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินได้ แต่ไม่ควรออกมาตรการมาสกัดกั้น เพราะจะทำให้ภาพรวมของตลาดอสังหาริมทรัพย์และสินเชื่อที่อยู่อาศัยหยุดชะงัก ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อภาพรวมของเศรษฐกิจ ควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกของตลาด แต่มีการติดตามดูสถาณการณ์อยทางต่อเนื่อง
ด้านนายฤทธิ์ ศยามานนท์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายภาษี สำนักเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง กล่าวว่า พ.ร.บ.ภาษีการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐพ.ศ. ... (พ.ร.บ.ภาษีลาภลอย) ที่มีการกำหนดเพดานภาษีสูงสุดไม่เกิน 5% ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งยังไม่สามารถประเมินได้ว่าสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจะพิจารณาได้แล้วเสร็จช่วงใด หากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้วเสร็จจะส่งให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาต่อไป ซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลาในการพิจารณาตรวจสอบอีกครั้ง หากไม่มีการปรับแก้ก็จะสามารถประกาศลงราชกิจานุเบกษาได้ ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินช่วงเวลาที่จะประกาศใช้กฏหมายภาษีลาภลอยได้แน่นอน
ทั้งนี้ หากพิจารณาเสร็จทันก่อนการเลือกตั้งช่วงเดือนก.พ. 62 ก็มีโอกาสที่ประกาศใช้ทัน แต่หากพิจารณาไม่เสร็จทันเลือกตั้ง กฏหมายภาษีลาภลอยก็จะตกไปและขึ้นอยู่กับดุลพิจนิจของรัฐบาลชุดใหม่ที่จะนำกฏหมายภาษีลาภลอยกลับมาพิจารณาอีกหรือไม่
นายฤทธิ์ กล่าวว่า ภาษีลาภลอยมีหลักการจัดเก็บจากราคาประเมินที่เปรียบเทียบระหว่างก่อนที่จะเกิดขึ้นของโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐด้านคมนาคม กับหลังเกิดการลงทุนดังกล่าวแล้ว หากพบว่ามีราคาสูงขึ้น ส่วนต่างราคาดังกล่าวถูกจัดเก็บเป็นภาษีลาภลอย ซึ่งไม่เจาะจงเฉพาะคอนโดมิเนียมเท่านั้น รวมถึงอสังหาริมทรัพย์ทุกประเภท และที่ดินเปล่า หากเกิดการขายในช่วงที่กฎหมายฉบับนี้มีผลแล้ว และราคาสูงขึ้นก็จะโดนเก็บภาษี โดยจัดเก็บภาษีลาภลอยในระยะรัศมีไม่เกิน 5 กิโลเมตรรอบพื้นที่โครงการโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐเข้าไปพัฒนา ในอัตราเพดานภาษีไม่เกิน 5% โดยที่จะจัดเก็บในส่วนของผู้ที่ครอบครองที่ดินและห้องชุด เชิงพาณิชย์มูลค่าเกิน 50 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งภาษีลาภลอยนี้จะคำนวณเฉพาะส่วนต่างของราคาที่เพิ่มขึ้นเมื่อโครงการสาธารณูปโภคจากภาครัฐสร้างเสร็จ
ส่วนโครงการแนวราบมีผลกระทบน้อย เพราะการซื้อเพื่อการเก็งกำไรมีไม่มาก และระยะทางของบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ ส่วนใหญ่จะเกิดในนอกระยะทางเกินรัศมี 5 กิโลเมตร รอบพื้นที่โครงการโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐเข้าไปพัฒนาเป็นส่วนใหญ่