เอเซีย พลัส มอง SET ไตรมาสสุดท้ายแกว่งผันผวนสูงตามปัจจัยบวก-ลบ แต่ยังมีลุ้นขึ้นแตะ 1,790-1,848 จุด

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday September 26, 2018 12:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางภรณี ทองเย็น รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 61 คาดว่าจะแกว่งตัวผันผวนสูงในกรอบ 1,620-1,733 จุด เนื่องจากจะมีทั้งปัจจัยบวกและลบเข้ามา แต่เชื่อว่ายังมีช่องให้ดัชนีปรับขึ้นไปแตะระดับ 1,790-1,848 จุดได้หากเงินทุนต่างชาติไหลกลับเข้าตลาดหุ้นไทยอย่างชัดเจน

"ช่วงที่เหลือของปีนี้ ตลาดหุ้นไทยยังผันผวนสูงมาก รับปัจจัยลบที่ยังมีน้ำหนักมากก็คือสงครามการค้า โดยเฉพาะสหรัฐกับจีน ยังไม่มีทีท่าจะผ่อนคลาย กระทบการค้าและเศรษฐกิจโลกช่วงปลายปีนี้และปีหน้าแน่นอน ส่วนฝั่งของปัจจัยบวกก็คือการเลือกตั้งในบ้านเรา"นางภรณี กล่าว

สำหรับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและประเทศคู่ค้าในขณะนี้ขยายตัวเป็นวงกว้าง และพบว่ายอดวงเงินที่มีมาตรการกีดกันการค้าสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่มีมูลค่าการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสูงถึง 2.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ผลักดันให้ต้นทุนสินค้าปรับตัวสูงขึ้น และอาจทำให้อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐขยับขึ้น ขณะที่เชื่อว่าผลกระทบจะมีต่อการค้าโลกอย่างชัดเจนปลายปีนี้และกดดันเศรษฐกิจโลกมากขึ้นในปี 62

เมื่ออัตราเงินเฟ้อของสหรัฐสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะยิ่งเป็นการเร่งให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ย โดยตลาดฯ คาดว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้งในปีนี้ ขณะที่ในปี 62 และ 63 เฟดน่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 3 ครั้ง และ 2 ครั้ง ตามลำดับ แต่สายงานวิจัยของ บล.เอเซีย พลัส เชื่อว่ากรอบการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดน่าจะหยุดไว้ที่เพียงปี 62 เพราะการกีดกันการค้าจะมีผลกระทบต่อผู้บริโภคและภาคการผลิตในวงกว้าง ซึ่งจะกดดันให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะชะลอตัวในปี 62

นอกจากนั้น เศรษฐกิจโลกยังถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาค่าเงินของประเทศในตลาดเกิดใหม่หลายแห่ง ซึ่งเกิดจากปัญหาพื้นฐานของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการขาดดุลการค้า การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และภาระหนี้ต่างประเทศ ขณะที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศมีน้อย จึงกดดันให้ค่าเงินตกต่ำ เช่นใน ตุรกี เวเนซุเอล่า และอาร์เจนติน่า เป็นต้น

ขณะที่ประเทศในเอเชียส่วนใหญ่ยังคงแข็งแกร่ง โดยเฉพาะไทยที่เกินดุลบัญชีเดินสะพัดและเกินดุลการค้าติดต่อกัน 4 ปี ประกอบกับมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับสูง แต่บางประเทศ เช่น อินเดีย ยังมีปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดนานเกิน 13 ปี และขาดดุลการค้าตั้งแต่ปี 45 จนถึงปัจจุบัน นอกจากนั้นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศยังอยู่ระดับต่ำ รวมถึงอินโดนีเซียที่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดติดต่อกันราว 6 ปี มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศต่อหนี้ต่างประเทศต่ำ

"จากนี้ไปจึงต้องมีการเฝ้าสังเกตผลกระทบจากปัจจัยต่าง ๆ ที่มีต่อเศรษฐกิจโลก ซึ่งถือว่าในช่วงนี้เป็นการเข้าสู่รอบปีที่ 10 นับจากเกิดวิกฤติซับไพรม์ในสหรัฐฯ เมื่อช่วงปี 51-52 ด้วย"นางภรณี กล่าว

นางภรณี กล่าวต่อว่า อีกปัจจัยที่จะกดดันตลาดหุ้นไทย คือ กำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เนื่องจากกำไร บจ.งวดครึ่งปีแรกคิดเป็น 50% ของประมาณการทั้งปี 61 ตามที่สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส จัดทำไว้ราว 1.1 ล้านล้านบาท หรือ กำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) อยู่ที่ 110.78 บาท

แต่เมื่อพิจารณารายบริษัทแล้ว พบว่าบางบริษัทมีการบันทึกรายการพิเศษขนาดใหญ่, บางบริษัทมีกำไรจากการดำเนินงานต่ำกว่าคาด, บางบริษัทมีการเข้าซื้อกิจการส่งผลให้เกิดภาระดอกเบี้ยจ่ายสูงจนกระทั่งไปกดดันกำไร ดังนั้น สายงานวิจัยฯ จึงได้ปรับลดประมาณการกำไร บจ.ปี 61 ลงราว 2.65 หมื่นล้านบาท หรือลดลง 2.4% จากคาดการณ์เดิม ส่งผลให้กำไรสุทธิของ บจ.ปีนี้ลดลงมาที่ 1.07 ล้านล้านบาท EPS อยู่ที่ 108 บาท เติบโต 10.3% จากปีก่อน

ขณะที่ในปี 62 ได้ปรับลดประมาณการกำไร บจ.ลงเล็กน้อยราว 3.1 พันล้านบาท หรือ 0.27% จากประมาณการเดิม ส่งผลให้คาดการณ์กำไร บจ.ปีหน้าอยู่ที่ 1.15 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น EPS ราว 115.5 บาท เติบโต 6.9% จากปีนี้ ทั้งนี้ แม้ว่าสายงานวิจัยฯ ปรับลดประมาณการกำไรตลาดหุ้นไทยลง แต่อัตราการเติบโตใกล้เคียงตลาดหุ้นภูมิภาค

ส่วนปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นไทย คือ การเมืองในประเทศคลี่คลายลง หลังมีการประกาศบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มา ส.ว.และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 61 ทำให้กำหนดการเลือกตั้งครั้งใหม่มีความชัดเจนมากขึ้น กล่าวคือ การเลือกตั้งต้องเกิดขึ้นภายในกรอบเวลา 240 วัน ซึ่งตามเงื่อนไขเวลาน่าจะเป็นไปได้ทั้งวันที่ 24 ก.พ.62 หรือวันที่ 31 มี.ค.62 แต่ต้องไม่เกินวันที่ 5 พ.ค.62

และ โดยภาพรวมของสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ปัจจุบันถือได้ว่าความเสี่ยงที่จะทำให้การเลือกตั้งทั่วไปไม่เกิดขึ้นนั้นน้อยลง จากนี้ไปการทยอยประกาศปลดล็อคทางการเมืองน่าจะส่งผลดีต่อตลาดหุ้นในระยะสั้น แต่สถานการณ์การเมืองหลังการเลือกตั้งยังเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามกันต่อไป

ด้านทิศทางการไหลเข้า-ออกของเงินลงทุนจากต่างประเทศนั้น นางภรณี เชื่อว่า ในระยะนี้คงยังไม่เห็นเงินทุนไหลเข้ามามากนัก แต่ก็คงไม่ได้ไหลออกไปมาก เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาเงินทุนต่างชาติไหลออกไปแล้วกว่า 5.5 แสนล้านบาท โดยที่เป็นการไหลออกของช่วงปีนี้ 2 แสนล้านบาท เนื่องจากในมุมมองของนักลงทุนต่างชาติยังเห็นว่าตลาดหุ้นไทยไม่น่าสนใจนักเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่น ๆ เนื่องจากราคาหุ้นมีระดับ P/E ค่อนข้างสูง และมีผลตอบแทนที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในขณะเดียวกันอัตราดอกเบี้ยสหรัฐอยู่ในช่วงขาขึ้นด้วย

นางภรณี แนะนำกลยุทธ์การลงทุนในภาวะตลาดที่ยังผันผวนสูง ให้เน้นหุ้นที่พึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศที่ได้รับผลดีจากกระแสเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในไตรมาส 1/62 คือ หุ้นกลุ่มอุปโภคบริโภค ได้แก่ BJC, ADVANC, DTAC กลุ่มวัสดุก่อสร้างและที่อยู่อาศัย ได้แก่ DCC, SEAFCO, LPN กลุ่มสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ได้แก่ EASTW, BGRIM, RJH กลุ่มสื่อนอกบ้าน และมีเงินสดสุทธิ ได้แก่ MACO รวมถึงหุ้นส่งออกที่คาดกำไรโดดเด่นในไตรมาส 2/61 แต่ราคาหุ้นยัง Laggard ได้แก่ TU, CPF


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ