(เพิ่มเติม) AOT คาดออก TOR ประมูลพื้นที่ดิวตี้ฟรีสุวรรณภูมิ ต.ค.นี้ รับมีโอกาสสูงรวมพื้นที่อาคารผู้โดยสาร 2, ประมูล Runway 3 ปลายปี

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday September 26, 2018 16:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) คาดว่าจะเปิดให้เอกชนเข้ามาประมูลสิทธิบริหารจัดการพื้นที่ปลอดภาษีอากร (ดิวตี้ฟรี) ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้ในเดือน ต.ค.นี้ ซึ่งอาจรวมกับการประมูลสิทธิการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ของอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ที่อยู่ระหว่างเตรียมการก่อสร้างด้วย

ขณะนี้ AOT อยู่ระหว่างรอผลการประชุมคณะอนุกรรมการด้านกฎหมายเพื่อจะพิจารณาประเด็นเกี่ยวกับข้อกฎหมาย ข้อพิพาทต่างๆ รวมถึงด้านเทคนิค และประเด็นหมิ่นเหม่ต่อข้อกฎหมาย ก่อนที่จะอนุมัติและเซ็นสัญญากับกลุ่มดวงฤทธิ์ บุนนาค ซึ่งเป็นผู้ชนะการออกแบบอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 หลังจากมีข้อครหาการคัดเลือกผู้ออกแบบรายนี้

"เรามั่นใจว่าการประมูล (งานออกแบบ) เป็นไปอย่างรัดกุมและรอบคอบ แต่ต้องรอคณะอนุฯก่อน และคุยกับการบินไทยด้วย ดังนั้นคาดว่าในเดือน ต.ค.นี้ TOR ตัวดิวตี้ฟีน่าจะออกมาได้"นายนิตินัย กล่าว

ทั้งนี้ AOT ได้เตรียมร่าง TOR พื้นที่ดิวตี้ฟรีไว้ 2 ชุดทั้งชุดที่รวมและไม่รวมพื้นที่อาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ส่วนจะให้อายุสัมปทานเท่าไร ขึ้นกับผลการศึกษาทางด้านการเงิน ว่ากิจการจะคุ้มทุนในระยะเวลากี่ปี อย่างไรก็ตาม หากรวมอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ซึ่งอยุ่ระหว่างเจรจากับบมจ.การบินไทย (THAI) ว่าต้องการใช้พื้นที่เท่าไร เพราะการบินไทยมีจำนวนผู้โดยสารของสายการบินราว 25 -26 ล้านคน ซึ่งหากผุ้ประมูลได้พื้นที่อาคาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 จะเป็นจุดที่น่าสนใจมากเพราะมีจำนวนผู้โดยสารมาก

พร้อมกันนั้น AOT คาดว่าปลายปีนี้หรือราวเดือน ธ.ค.นี้จะสามารถเปิดประมูลงานก่อสร้างทางวิ่งอากาศยาน (Runway) เส้นที่ 3 ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มูลค่างาน 2.2 หมื่นล้านบาท (รวมค่าชดเชยผลกระทบ) และงานก่อสร้างพื้นที่ส่วนต่อขยายด้านตะวันตก (West Wing) ของอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 มูลค่างาน 6.6 พันล้านบาท

ขณะที่งานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 มูลค่า 4.2 หมื่นล้านบาทคาดว่าจะเปิดประมูลได้ราวปลายปี 62

นายนิตินัย กล่าวว่า ขณะนี้ทั้ง 3 โครงการดังกล่าว รวมมูลค่า 7.06 หมื่นล้านบาท อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ (สศช.) และคาดว่าจะนำเสนอต่อครม.ปลายปีนี้

นายเอนก ธีระวิวัฒน์ชัย รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามแผนเดิม ทอท.จะเปิดประมูล Runway เส้นที่ 3 ในเดือนพ.ย. ขณะนี้รอกระบวนการจัดทำรายงานผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (EHIA) ซึ่งรอนำเข้าคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.)อีกครั้งหลังได้ตอบข้อซักถามมา 2 ครั้งแล้ว โครงการนี้ จะใช้เวลาก่อสร้าง 33 เดือน คาดเปิดใช้ในปี 65 ซึ่งหากกระบวนการ EHIA ยังไม่ผ่านก็จะยังไม่สามารถลงนามได้ตามม.44 ขณะที่งานก่อสร้าง West Wing จะปรับแบบจากเดิมนำแบบใช้สร้างส่วนต่อขยายด้านตะวันออก (East Wing) ของอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 ใช้เวลาก่อสร้าง 30 เดือน แล้วเสร็จในปี 64

ส่วนอาคารผู้โดยสาร หลังที่ 2 นั้น ต้องรอการออกแบบให้เสร็จ ที่จะใช้เวลา 10 เดือน จากนั้นคาดว่าจะเปิดประมูลปลายปีหน้า โดยกำหนดให้ระยะเวลาก่อสร้าง 25 เดือน และคาดว่าเปิดให้บริการปี 65

*ปรับ Master Plan ตามอุตฯการบิน

กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT กล่าวว่า บริษัทได้ปรับแผนแม่บท (Master Plan)ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่ได้จัดทำมาเมื่อปี 36 หรือ 26 ปีที่แล้วเพื่อให้ทันสถานการณ์ของอุตสาหกรรมการบินที่ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก ทั้งขนาดและคุณสมบัติของเครื่องบิน และจำนวนเที่ยวบินรวมทั้งจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้การปรับแผนแม่บทดังกล่าวเป็นไปตามข้อเสนอแนะขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)ที่ผ่านมามีการปรับปรุงทุก 5 ปี

โดยสาระสำคัญคือ 1) ปรับระยะเวลาการก่อสร้างให้สอดคล้องกับความเป็นจริง กล่าวคือ โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ(ทสภ.)ระยะที่ 2 ซึ่งประกอบด้วย อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite 1) ส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสาร ระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) ส่วนต่อขยายอุโมงค์เชื่อมระหว่างอาคารผู้โดยสารและอาคารเทียบเครื่องบิน รวมถึงระบบสาธารณูปโภคต่างๆ เดิมวางแผนที่จะสร้างระหว่างปี 54 - 60 แต่เนื่องจากโครงการมีความล่าช้าเกี่ยวกับการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (EHIA) จึงสามารถเริ่มก่อสร้างได้เมื่อเดือนก.ย.59 ทอท.จึงได้ปรับกรอบระยะเวลาการก่อสร้างใหม่เป็นระหว่างปี 59 - 63

2) ในระหว่างที่การก่อสร้างอาคาร Satellite 1 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนา ทสภ.ระยะที่ 2 จะแล้วเสร็จในปี 63 และจะมีการก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 2 (Satellite 2) ต่อเนื่องไปทางทิศใต้ระหว่างปี 64 - 69 ตามโครงการพัฒนา ทสภ.ระยะที่ 4 นั้น เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวจำนวนผู้โดยสาร ของ ทสภ. จะเกินศักยภาพที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิรองรับได้ ดังนั้น ทอท.จึงต้องหาพื้นที่เพื่อขยายศักยภาพของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ คู่ขนานกันไป โดยไม่ต้องรอการก่อสร้างอาคาร Satellite 1 แล้วเสร็จ อันนำมาซึ่งการเพิ่มการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (Terminal 2) เพิ่มเติมในโครงการพัฒนา ทสภ.ระยะที่ 3 ตาม Master Plan ปัจจุบัน ซึ่งเป็นไปตามที่ ICAO และ IATA ได้ดำเนินการศึกษาไว้ในการจัดทำแผนแม่บท เมื่อปี 54

"ปัจจุบัน ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิรองรับผู้โดยสารประมาณปีละ 60 ล้านคน ซึ่งเกินศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารที่ 45 ล้านคนต่อปี และคาดว่าเมื่อโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 แล้วเสร็จ และเปิดให้บริการในปี 63 จะทำให้ศักยภาพท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในการรองรับผู้โดยสารเพิ่มจาก 45 ล้านคนต่อปีเป็น 60 ล้านคนต่อปี ซึ่ง ณ ขณะนั้น คาดว่าจะมีผู้โดยสารมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 70 ล้านคนต่อปี และหาก ทอท.ยังคงใช้ Master Plan เดิม ซึ่งจะก่อสร้างอาคาร Satellite 2 และส่วนต่อขยายอาคารหลักที่เหลืออีกด้านหนึ่งแล้วเสร็จในปี 69 ซึ่งก่อนที่จะสร้างแล้วเสร็จ ตาม Master Plan เดิมนั้น จะมีจำนวนผู้โดยสารมาใช้บริการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิประมาณ 100 ล้านคน ในขณะที่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารได้เพียง 60 ล้านคนเท่านั้น ดังนั้น หาก ทอท.ไม่ปรับ Master Plan ใหม่โดยเพิ่มอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ตามคำแนะนำของ ICAO เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการผู้โดยสารแล้ว จะต้องประสบปัญหาความแออัดที่จะต้องดำเนินการแก้ไขไปตลอด"นายนิตินัย กล่าว

ทั้งนี้ เมื่อรวมทั้ง 3 เฟส จะทำให้ในปี 64 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิสามารถรองรับผู้โดยสารได้ทั้งหมด 90 ล้านคน/ปี

ส่วนงานก่อสร้างพื้นที่ส่วนต่อขยายด้านตะวันตก (West Wing) ของอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 และ พื้นที่ส่วนต่อขยายด้านตะวันออก (East Wing) ของอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 จะขยายพื้นที่ Land sideให้กับอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 จะช่วยรองรับผู้โดยสารได้อีกฝั่งละ 15 ล้านคน/ปี แต่การก่อสร้างส่วนต่อขยายทั้ง 2 ฝั่งพร้อมกันนั้น จะทำให้เสียพื้นที่บริเวณเคาน์เตอร์เช็คอินของสายการบินไปราวครึ่งหนึ่งของที่มีอยู่ในปัจจุบัน และจะส่งผลกระทบต่อการให้บริการอย่างมากและเป็นระยะเวลายาวนาน จึงไม่สามารถสร้างพร้อมกันได้ จึงกำหนดให้สร้าง West Wing ก่อน เพื่อให้งานก่อสร้างในระหว่างดำเนินการ (operate)เป็นไปอย่างราบรื่น ดังนั้น งานก่อสร้าง West Wing จะเป็นงานสุดท้ายของพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภุมิ ระยะที่ 2 ขณะที่ส่วนงานก่อสร้าง East Wing จะไปรวมอยุ่ในเฟส 4 ที่มีงานก่อสร้างอาคาร Satellite 2 ไว้ด้วยกัน ในปี 64-69 ซึ่งรองรับจำนวนผู้โดยสาร ได้ 105 ล้านคน/ปี

ส่วนโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรณณภูมิ ระยะที่ 5 จะเป็นงานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 และ Runway เส้นที่ 4 ในปี 68-73 รองรับผู้โดยสารเพิ่มเป็น 150 ล้านคน/ปี

*พร้อมร่วมประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา

นายนิตินัย กล่าวว่า ทอท.มีความสนใจเข้าร่วมประมูลโครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา มูลค่า 2 แสนล้านบาท ที่คาดว่าจะประกาศเชิญชวนภาคเอกชนร่วมลงทุนได้ภายในเดือนต.ค.61 เพราะบริษัทมีประสบการณ์งานบริหารท่าอากาศยานของทอท. และได้ปรับโครงสร้างองค์กรใหม่รองรับการดำเนินธุรกิจเกี่ยวเนื่องมา 2 ปีแล้ว ได้แก่ บริษัทขนส่งสินค้าอากาศยาน (Cargo) เป็นต้น ประกอบกับ ฐานะการเงินก็มีความพร้อม และคาดว่าจะไม่กระทบกับโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในเฟสต่อไป

"เราสนใจเข้าประมุลของสนามบินอู่ตะเภา ตอนนี้รอดู TOR ถ้า TOR น่าสนใจเราพร้อมเข้าไป bid ...เงินเราก็โอเค" นายนิตินัย กล่าว

ขณะที่การรับมอบท่าอากาศยาน 4 แห่งจากกรมท่าอากาศยาน ได้แก่ อุดรธานี สกลนคร ตาก และ ชุมพร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT กล่าวว่า นายกรัฐมตรีได้มีคำสั่งให้ดำเนินการจึงเท่ากับ ครม.มีมติอนุมัติแล้ว และขณะนี้ได้จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินการโอนย้าย 4 สนามบิน ซึ่งจะพิจารณาประเด็นเกี่ยวข้องกับกฎหมาย และกรมธนารักษ์ ซึ่งเป็นที่ของราชพัสดุ โดยจะมีการปรับแก้ไขกฎหมายรองรับ และจะนำเข้ารายงานและขออนุมัติงบประมาณการปรับปรุง 4 สนามบินกับครม.ในช่วงต้น พ.ย.นี้

ทั้งนี้ งบประมาณในการปรับปรุง 4 สนามบินรวม 3.5 พันล้านบาทแบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกใช้งบ 1.5 พันล้านบาท หลักๆนำไปปรับปรุงท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี จำนวน 1.2 พันล้านบาท เพื่อให้ตรงตามมาตรฐานของ ICAO ส่วนช่วงที่ 2 จะใช้งบ 2 พันล้านบาท

นายนิตินัยกล่าวว่า การปรับปรุงท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี จะช่วยทำให้เพิ่มเที่ยวบินและเส้นทางบินตรงจากฝั่งประเทศยุโรป มาที่จ.อุดรธานี โดยไม่ต้องบินเข้ามาที่กรุงเทพฯก่อน โดยที่ผ่านมาท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี มีจำนวนผู้โดยสาร 5 แสนคน/ปี โดยใน 3.5 แสนคน/ปีมาจากยุโรป ซึ่งจะทำการเพิ่มตารางบิน และเที่ยวบินได้มากขึ้น โดยคาดว่าจะเริ่มใช้ตารางบินฤดูหนาว ปี 63 ขณะเดียวกันตารางบินที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะมีที่ว่างเพิ่มรองรับให้สายการบินอื่นๆได้ ทั้งนี้ ทอท.จะเข้าบริหารท่าอากาศยานทั้ง 4 แห่งในไตรมาส 3/62


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ