นายเอกพันธ์ วนโกสุม ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เค.ดับบลิว.เม็ททัล เวิร์ค (KWM) เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์" ว่า บริษัทตั้งเป้าหมายเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายอุปกรณ์สำหรับใช้ในการเกษตรแบบครบวงจรภายใน 5 ปี (ปี 61-65) จากการต่อยอดผลิตภัณฑ์เหล็กที่มีอยู่แล้วให้มีมาตรฐานและมีคุณภาพสูงขึ้น สามารถแข่งขันได้ในอุตสาหกรรมการเกษตร
พร้อมทั้งต่อยอดการผลิตเครื่องจักรที่จะช่วยทุ่นแรงในการทำการเกษตร รวมถึงการสร้างตลาดใหม่ ๆ เพื่อลดการพึ่งพิงรายได้หลักจากการรับจ้างผลิตสินค้า (OEM) ให้กับบริษัท สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด (คูโบต้า) เพื่อขยายไปยังตลาดอื่นๆ ทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน โดยบริษัทคาดหวังผลักดันรายได้และกำไรเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ย 20-30% ต่อปี
"การต่อยอดผลิตภัณฑ์เหล็ก อะไรที่เป็นเกษตรตั้งแต่ในดิน จนถึงการทำให้เป็นต้นไม้ มีผลผลิตขึ้นมา และอะไรที่เป็นเครื่องจักรที่ทำให้การเกษตรดีขึ้น เราจะต่อยอด ซึ่งปัจจุบันเราได้แค่ดินอย่างเดียว เรายังไม่ได้ลงลึกไปถึงการขุดดิน ปลูกหญ้า มองว่ายังมีโอกาสอีกมากมายในด้านทางการเกษตร"นายเอกพันธ์ กล่าว
ปัจจุบัน KWM มีสัดส่วนรายได้หลักจากการรับจ้างผลิตสินค้า ให้กับบริษัท คูโบต้า คิดเป็น 80% ส่วนที่เหลือจะมาจากการผลิตสินค้าให้กับพันธมิตรทางการเกษตรรายอื่นๆ เช่น โรงสีข้าว, โรงซีเมนต์ เป็นต้น และมีผลิตภัณฑ์เหล็กอยู่ 4 ประเภท ได้แก่ ใบผาล, โครงผาลหรือผาลไถ, ใบดันดิน และใบเกลียว โดยรายได้จากการขายใบผาลและโครงผาลคิดเป็นสัดส่วนหลักที่ 64.73% ในปี 60
นายเอกพันธ์ กล่าวว่า บริษัทมีการวิจัยและพัฒนาคุณภาพของอุปกรณ์การเกษตรด้วยตนเอง จากปัจจุบันที่มีทีมงานวิจัยและพัฒนา (R&D) จำนวน 8-10 คน ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีการวิจัยและพัฒนาสินค้าที่มีอยู่เดิมเพื่อเพิ่มความแข็งแรงทนทานมากขึ้น โดยใช้วัตถุดิบที่มีชื่อทางการตลาดเรียกว่า เหล็กโบรอน นำมาใช้สำหรับเครื่องจักรกลทางการเกษตรที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งเข้ามาช่วยชดเชยตลาดที่คูโบต้าไม่มี โดยเฉพาะตลาดรถไถเจาะกลุ่มลูกค้าในทวีปยุโรป ด้วยการขยายการจำหน่ายผ่านตัวแทนขายรถไถ หรือเข้าไปกับตลาดอะไหล่ ทั้งนี้ จากการสำรวจความต้องการผลิตภัณฑ์ใบผาลทั่วโลกต่อปีมีมากกว่า 1 ล้านใบ ขณะที่บริษัทฯ มีการผลิตใบผาลอยู่ที่ 2 แสนใบ ถือว่ายังมีโอกาสขยายตลาดอีกพอสมควร
นอกจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเหล็กโบรอนแล้ว ปัจจุบันบริษัทยังอยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์ทางการเกษตรอีก 9 โครงการ ด้วยการนำผลิตภัณฑ์เหล็กไปต่อยอด, ผลิตเครื่องจักรอื่นๆ เช่น เครื่องผสมปุ๋ย เป็นต้น คาดว่าจะเห็นความชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรมได้ภายใน 5 ปี หรือตามเป้าหมายที่บริษัทวางกรอบไว้
สำหรับผลการดำเนินงานในปีนี้บริษัทฯ คาดว่าผลการดำเนินงานเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ 20% จากปีก่อน โดยครึ่งปีแรกที่ผ่านมาสามารถทำกำไรได้แล้ว 16.69 ล้านบาท เกือบเท่ากับทั้งปีก่อนที่มีกำไร 20.83 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทเน้นการลดต้นทุนการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลดพนักงานงานเชื่อมโครงผาล จากอดีตที่มีอยู่ 13 คน ปัจจุบันเหลือเพียง 2 คน และนำหุ่นยนต์ที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสิทธิภาพการทำงานได้มากกว่าเข้ามาทดแทน ซึ่งขณะนี้มีการใช้งานอยู่ทั้งหมด 4 ตัว
บริษัทยังมีแผนนำหุ่นยนต์เข้ามาทดแทนแรงงานคนเพิ่มเติมอีกในงานประเภทอื่นๆ จะเห็นได้จากโรงงานใหม่ หรือโรงงานแห่งที่ 2 ที่นิคมอีสเทิร์นซีบอร์ด ก็ได้นำหุ่นยนต์เข้ามาใช้งานแล้วจำนวน 1 ตัว ซึ่งสามารถลดความเสียหายลงได้ค่อนข้างมาก
นายเอกพันธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทถือว่าเป็นบริษัทน้องใหม่ที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) โดยเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนใหม่ครั้งแรก (IPO) จำนวน 120 ล้านหุ้น ที่ราคาหุ้นละ 1.30 บาท โดยเสนอขายต่อประชาชนทั่วไป 115.50 ล้านหุ้น และเสนอขายให้กรรมการและผู้บริหารของบริษัทไม่เกิน 4.5 ล้านหุ้น และจะนำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาด mai ในวันที่ 1 ต.ค.นี้เป็นวันแรก
วัตถุประสงค์ในการระดมทุนครั้งนี้เพื่อนำชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้สถาบันการเงิน 75 ล้าบาทในปี 62 และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ 81 ล้านบาทในปี 62
นายเอกพันธ์ กล่าวอีกว่า บริษัทก็มีความพร้อมอย่างมากที่จะทำงาน โดยภายหลังจากการเข้าจดทะเบียนในตลาด mai จะเป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินลงทุนได้ง่ายมากขึ้น เพื่อนำมาต่อยอดธุรกิจในการผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้สามารถแข่งขันได้ในอุตสาหกรรมการเกษตร โดย KWM มองอุตสาหกรรมการเกษตรในประเทศไทยยังมีโอกาสในการเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากเป็นแหล่งเพาะปลูกที่ดีที่สุด
https://youtu.be/A5OV_7tMtt4