กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFFIF) เตรียมเปิดขายหน่วยลงทุนในช่วงวันที่ 12-19 ต.ค.นี้ กรอบราคาราว 10 บาท/หน่วย จำนวนหน่วยลงทุนที่จะเสนอขายต่อประชาชนทั่วไปในครั้งแรก (IPO) อยู่ที่ 4,100- 4,570 ล้านหน่วย ซึ่งจะกำหนดราคาเสนอขายครั้งสุดท้ายในวันที่ 22 ต.ค.นี้ จำนวนหน่วยลงทุนขั้นต่ำในการจองซื้อจะอยู่ที่ 1,000 หน่วย และเพิ่มครั้งละ 100 หน่วย โดยจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ในวันที่ 31 ต.ค.61
นายอนุวัฒน์ ร่วมสุข กรรมการผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายตลาดทุน บล.ภัทร ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน TFFIF กล่าวว่า การเสนอขายหน่วยลงทุน TFFIF จะจัดสรรให้กับ 1.กระทรวงการคลังจำนวน 310-357 ล้านหน่วย จากนโยบายกระทรวงการคลังต้องถือหน่วยลงทุนไม่ต่ำกว่า 10% และต้องไม่ขายหน่วยลงทุนในช่วง 5 ปีแรก 2.ผู้จองซื้อพิเศษ หรือสถาบันต่างๆทั้งในประเทศและต่างประเทศ จำนวน 615-686 ล้านหน่วย
3.ผู้ลงทุนหลักโดยเฉพาะเจาะจง หรือผู้ลงทุนสถาบันขนาดใหญ่ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มีความรู้ ความเข้าใจเป็นอย่างดี จำนวนไม่เกิน 1,230-1,371 ล้านหน่วย และ 4. ประชาชนทั่วไป จำนวน 1,845-2,056 ล้านหน่วย
ทั้งนี้ สัดส่วนเบื่องต้นอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ แต่จะไม่เกิน 15-20% ของจำนวนหน่วยลงทุนที่จัดสรรให้ในแต่ละกลุ่ม ซึ่งจะประกาศให้ทราบอีกครั้งในวันที่ 12 ต.ค.61
นายอนุวัฒน์ คาดว่าจำนวนเงินเบื้องต้นที่จะได้จากการเสนอขายส่วนเพิ่มทุนจะอยู่ที่ 41,000-45,700 ล้านบาท โดยประมาณการดังกล่าวจะสามารถสรุปชัดเจนอีกครั้งในวันที่ 12 ต.ค.61
ขณะที่คาดว่าอัตราผลตอบแทนเงินปันผลปีแรก (ปี 62) จะอยู่ที่ 4.75-5.30% ซึ่งจะมีนโยบายการจ่ายปันผลขั้นต่ำจำนวน 2 ครั้งต่อปี และคาดหวังจะจ่ายเงินปันผลในทุกไตรมาส จากส่วนแบ่งรายได้ค่าผ่านทางรวมสุทธิ 45% โดยจะมีการประมาณการอัตราผลตอบแทนสุดท้ายในวันที่ 12 ต.ค.นี้
สำหรับการจองซื้อหน่วยลงทุน นักลงทุนสามารถจองซื้อกับสถาบันการเงินที่เป็นตัวแทนจำหน่ายหน่วยลงทุน ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกรุงเทพ สามารถซื้อได้ทุกสาขาทั่วประเทศในวันและเวลาทำการ และ บลจ.เอ็มเอฟซี (MFC), บลจ.กรุงไทย (KTAM) (จองซื้อได้ที่สำนักงานใหญ่ กรุงเทพฯ), บล.ฟินันเซีย ไซรัส รวมถึง บล.ภัทร (จองซื้อเฉพาะลูกค้า)
พร้อมกันนี้จะนำเงินที่ได้จากการโอนสิทธิในรายได้ดังกล่าวไปใช้ขยายโครงการก่อสร้างทางพิเศษ 2 สาย ได้แก่ 1.โครงการทางพิเศษพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก และ 2.โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 เชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออกและส่วนต่อขยายทดแทน ตอน N1 เพื่อบริการประชาชนได้ดียิ่งขึ้น
นายอนุวัฒน์ กล่าวว่า ส่วนโอกาสการนำทางหลวงพิเศษอื่นๆ เข้ามาระดมทุนเพิ่มเติมนั้น ขณะนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติให้ศึกษาการนำทางหลวงพิเศษหมาย 7 และหมายเลข 9 เข้าระดมทุนผ่าน TFFIF แล้ว ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมแก้ไขกฎหมายกรมทางหลวง ให้สามารถนำรายได้จากทางหลวงพิเศษดังกล่าวเข้ากองทุนฯ ได้
"การโรดโชว์ต่างประเทศที่ผ่านมา ถือว่านักลงทุนสถาบันได้ให้ความสนใจกับกองทุน TFFIF มากพอสมควร แต่จะให้เห็นถึงการเข้ามาลงทุนอาจจะเร็วเกินไป ซึ่งต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง"นายอนุวัฒน์ กล่าว