(เพิ่มเติม) PTTAR เผยแผนลงทุน 5 ปีกว่า 1 พันล้านดอลล์/คาดปี 51 กำไรใกล้เคียงปี 50

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday January 2, 2008 12:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายเพิ่มศักดิ์ ชีวาวัฒนานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น (PTTAR)เปิดเผยว่า บริษัทตั้งงบลงทุนในแผนธุรกิจ 5 ปี(ปี 51-55)ในโครงการอะโรเมติกส์และการกลั่นไม่น้อยกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อรองรับการลงทุนอย่างต่อเนื่อง และสร้างรายได้เพิ่มให้กับบริษัทในอนาคต 
ทั้งนี้ หลังจากที่โรงแยกคอนเดนเสท หน่วยที่ 2 แล้วเสร็จจะทำให้บริษัทมีกำลังผลิตเพิ่มอีก 6.5 หมื่นบาร์เรล/วัน เป็น 2.8 แสนบาร์เรล/วัน นับเป็นเป็นอันดับ 1 ของประเทศ
ขณะที่บริษัทคาดว่าในปี 51 จะทำกำไรได้ใกล้เคียงปี 50 เนื่องจากบริษัทยังมีภาระที่จะต้องลงทุนเพื่อสร้างผลกำไรในอนาคต โดยตั้งเป้าหมายว่าในช่วงปี 53-54 จะมีกำไรเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน
อนึ่ง ในปี 50 ที่เพิ่งผ่านมาคาดว่ากำไรของบริษัทเติบโตขึ้น 20% จากปี 49
นายเพิ่มศักดิ์ กล่าวว่า ในงบลงทุน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จะแบ่งเป็นการลงทุนในปี 51 จำนวน 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐในโครงการ synergy 5 โครงการหลักของบริษัท และอีก 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐจะลงทุนใน Styrene Monomer ซึ่งเป็นอะโรเมติกส์ขั้นกลาง และที่เหลือจะลงทุนในผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลาย (Downstream)
"เงินเบื้องต้น 300 ล้านดอลล์ได้รับอนุมัติจากบอร์ดแล้ว และจะนำเงินจาก cash flow มาลงทุน แต่โครงการ Styrene Monomer อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน ซึ่งหากมีการลงทุนจะลงทุนประมาณ 500 ล้านดอลล์จากเงินกู้ทั้งหมด...สำหรับการลงทุนเบื้องต้น 300 ล้านดอลล์ จะช่วยให้บริษัทมีกำไรเพิ่มขึ้นปีละ 200 ล้านดอลล์" นายเพิ่มศักดิ์ กล่าว
ด้านนายชายน้อย เผื่อนโกสุม กรรมการผู้จัดการใหญ่ PTTAR กล่าวถึงธุรกิจโรงกลั่นว่า ในปีนี้บริษัทยังคงโครงการผลิตร่วมกับ
โรงกลั่นน้ำมันสตาร์ปิโตรเลียมรีไฟน์นิ่ง(SPRC) จนกว่าจะหมดสัญญาในต้นปี 52 ซึ่งเป้าหมายการกลั่นยังคงต้องทำภายใต้ข้อกำหนดร่วมกัน
ส่วนค่าการกลั่นปี 51 คงจะผันผวนตามราคาน้ำมัน ซึ่งเชื่อว่าราคาจะยังอยู่ในระดับสูง เฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 80 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล
สำหรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่บมจ.โรงกลั่นน้ำมันระยอง (RRC) ที่เคยเสียภาษีเงินได้ในอัตรา 25% นั้น หลังจากควบรวมแล้วบริษัทต้องจ่ายเพิ่มเป็นอัตรา 30% โดยทำให้บริษัทมีภาระภาษีเพิ่มประมาณ 500 ล้านบาท/ปี แต่ถือว่าคุ้มค่ากับการที่จะมีกำไรประมาณ 200 ล้านดอลลาร์หลังการควบรวม
นายชายน้อย กล่าวว่า นอกจากนี้บริษัทยังอยู่ระหว่างศึกษาที่จะวางกลยุทธทางธุรกิจ(synergy)ร่วมกับบมจ.ไทยออยล์ (TOP) แต่ไม่ได้ควบรวมกิจการกัน ซึ่งคาดว่าจะเห็นความร่วมมือเกิดขึ้นในช่วงกลางปี 51
"แม้แผนการลงทุนของเราใน 5 ปีข้างหน้าจะเยอะ แต่คงจะเป็นการเลือกวิธีการกู้มากกว่าการที่จะเพิ่มทุน และเราก็เร่งที่จะหาพาร์ทเนอร์มาทำธุรกิจ Downstream ขณะที่โรงงานแห่งที่ 2 จะเสร็จไตรมาส 2 ปี 51... และการกู้เงินจะไม่มีผลต่อการดำเนินงานและไม่กระทบ D/E ที่วางไว้ 1.1 เท่าจากปัจจุบันที่อยู่ที่ 0.57 เท่า" นายชายน้อย กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ