(เพิ่มเติม) KTBST จับมือ Unicapital Group ขยายโอกาสลงทุนในตลาดทุนให้นลท.ไทย-ฟิลิปปินส์ ,ยื่นไฟลิ่งขาย IPO สิ้นปีนี้ดันเข้า SET ปี 62

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday October 3, 2018 15:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บล.เคทีบี (ประเทศไทย) (KTBST) เปิดเผยว่า บริษัทได้ลงนามและแสดงเจตจำนงความร่วมมือทางธุรกิจด้านวาณิชธนกิจ และนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์กับ บริษัท Unicaptal, Inc.กลุ่มบริษัทผู้ให้บริการด้านการลงทุนครบวงจรชั้นนำของฟิลิปปินส์

ความร่วมมือทางธุรกิจในครั้งนี้ครอบคลุม 3 กิจกรรมทางธุรกิจ ได้แก่ 1. การแนะนำให้ผู้ลงทุนสถาบันของประเทศไทยกับฟิลิปปินส์มาลงทุนในสินทรัพย์ตลาดทุนต่าง ๆ เช่น หุ้น ตราสารหนี้ และกองทุน 2. ความร่วมมือในการทำ Dual-listing หรือการนำบริษัทจดทะเบียนชั้นนำในฟิลิปปินส์เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และนำบริษัทจดทะเบียนชั้นนำในไทยเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฟิลิปปินส์ และ 3. การร่วมมือจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานที่น่าสนใจจากสินทรัพย์หรือโปรเจคใน 2 ประเทศ เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ (Geothermal power plant) เป็นต้น

ทั้งนี้ KTBST ตัดสินใจร่วมมือกับ Unicapital เนื่องจาก ทั้ง 2 บริษัทมีความเป็นเอกเทศไม่ขึ้นอยู่กับกลุ่มธนาคารพาณิชย์ มีโครงสร้างการบริหารงานและบุคคลากรที่ทำงานคล้ายคลึงกัน อีกทั้งมีความเชี่ยวชาญในธุรกิจ และเข้าใจตลาดทุนอย่างลึกซึ้ง โดยการทำบันทึกข้อตกลงนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการขยายธุรกิจของ KTBST สู่ระดับสากล ตามวิสัยทัศน์ของบริษัทที่มุ่งจะเป็น "สถาบันการเงินของไทยที่โดดเด่น" (Outstanding financial Institutional in Thailand) และเพิ่มโอกาสในตลาดหุ้นต่างประเทศ

นายวิน กล่าววว่า ปัจจุบัน KTBST ให้ความสำคัญกับการเพิ่มโอกาสการลงทุนและการกระจายการลงทุนให้กับลูกค้าและนักลงทุน ขณะเดียวกันฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในตลาดที่มีการเติบโตสูงในอาเซียนและมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และมีบริษัทจดทะเบียนที่มูลค่าทางการตลาดที่ใหญ่ โดยตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ มีกลุ่มอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ กลุ่มอุปโภคบริโภค, กลุ่มธุรกิจบันเทิง , กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่ม , กลุ่มธุรกิจสาธารณูปโภค (Utility) รวมถึงกลุ่มธุรกิจพลังงานที่หลากหลาย ซึ่งต้องถือว่าเป็นตลาดที่ค่อนข้างใหม่และน่าสนใจสำหรับนักลงทุนไทย

ขณะที่ตลาดหุ้นไทยนั้นเป็นตลาดที่มีความคึกคักมากที่สุดในอาเซียน มีกลุ่มธุรกิจสถาบันการเงินที่โดดเด่น รวมถึงกลุ่มธุรกิจพลังงานระหว่างประเทศที่แข็งแกร่งอย่างกลุ่ม PTT ที่มีธุรกิจอุตสาหกรรมด้านเคมีภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน และมีธุรกิจอุปโภคบริโภคพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น CPN CPALL และ BJC ซึ่งน่าจะดึงดูดนักลงทุนจากฟิลิปปินส์เข้ามาลงทุนได้เช่นเดียวกัน

"ตลาดหุ้นไทยมีความพร้อมและความสมบูรณ์มาก ด้วยการมีบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (IPO) จำนวนมาก รวมทั้งตลาดตราสารหนี้ที่มีผู้ออกตราสารจำนวนมาก แสดงให้เห็นถึงการมีสภาพคล่อง (Market liquidity) ของตลาดที่สูง ซึ่งจะจูงใจให้มีเม็ดเงินลงทุน (Fund Flow) จากนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ (High Net Worth) ของฟิลิปปินส์เข้ามาลงทุนมากขึ้น นอกจากนี้ KTBST ต้องขอขอบคุณทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่เปิดช่องทางในการให้นักลงทุนสามารถขยายการลงทุนไปยังอาเซียนได้"นายวิน กล่าว

นายวิน กล่าวอีกว่า ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการเจรจางานวาณิชธนกิจร่วมกับพันธมิตรจำนวน 5 ราย เพื่อนำภาคธุรกิจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย อาทิ ความร่วมมือการทำ Dual listing, การตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยคาดว่าจะสามารถตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานได้ก่อนเป็นอันดับแรกเนื่องจากการเข้ามาแบบ Dual listing จำเป็นต้องใช้ระยะเวลานาน โดยคาดว่าจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาท อย่างไรก็ดี บริษัทจะมีการขยายไปสู่ดีลในทุกรูปแบบอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ในส่วนการดำเนินงานของบริษัท ยังอยู่ระหว่างการเตรียมพร้อมเพื่อยื่นแบบรายงานข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (ไฟลิ่ง) ให้กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ภายในสิ้นปี 61 โดยตั้งเป้าจะเข้าจดทะเบียนและเริ่มซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ภายในปี 62 จากปัจจุบันบริษัทมีทุนจดทะเบียนทั้งหมดจำนวน 670 ล้านบาท เป็นทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว 555 ล้านบาท โดยคาดว่าจะมีการเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) อีกราว 120 ล้านบาท โดยบริษัทได้มีการแต่งตั้งบริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด (APM) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

สำหรับผลการดำเนินงานในปีนี้ บริษัทคาดว่าจะสามารถทำกำไรได้อยู่ที่ระดับ 50-60 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนที่ระดับ 40 ล้านบาท ซึ่งมาจากการเติบโตจากทุกกลุ่มธุรกิจ ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ของบริษัทมาจากธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) ราว 50-60% และธุรกิจวาณิชธนกิจ (IB) ราว 25-30% และส่วนที่เหลือมาจากธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง โดยมองว่าปัจจุบันธุรกิจวาณิชธนกิจมีโอกาสเติบโตได้สูงที่สุด

นายเจม เจ มาร์ติเรซ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Unicapital Group กล่าวว่า Unicapital เล็งเห็นการเติบโตและโอกาสการลงทุนในฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะในธุรกิจพลังงานทดแทน โครงสร้างพื้นฐาน โรงแรมและการท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ การขยายตัวของเมืองต่าง ๆ นอกตัวเมืองมะนิลา ธุรกิจ อี-คอมเมิร์ซ และเทคโนโลยี และเกษตรกรรม

ด้านโอกาสในการลงทุนในกลุ่มธุรกิจบริการทางการเงิน อ้างถึงข้อมูลของธนาคารโลกในปี 2014 ระบุว่า ประชากรฟิลิปปินส์เข้าถึงระบบธนาคารเพียง 31% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานสากล ขณะที่ประชากรฟิลิปปินส์มีบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์เพียง 1% ของจำนวนประชากรทั้งหมดเท่านั้น ดังนั้น ในมุมมองของกลุ่มบริษัท Unicapital จึงเห็นโอกาสการขยายธุรกิจไปสู่ลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเป็นประชากรชนชั้นกลางของประเทศ ซึ่งจากมุมมองที่เป็นบวกต่อเศรษฐกิจฟิลิปปินส์แล้วจะช่วยผลักดันให้ธุรกิจบริหารสินทรัพย์เติบโตได้ดี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ