บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด คงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บมจ.โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (BH) ที่ระดับ "A+" โดยอันดับเครดิตสะท้อนสถานะความเป็นผู้นำในธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนสำหรับผู้มีรายได้สูงของไทย ตลอดจนชื่อเสียงซึ่งเป็นที่ยอมรับทั้งในกลุ่มผู้ป่วยในประเทศและต่างประเทศ และฐานะการเงินที่แข็งแรงของบริษัทจากอัตราการทำกำไรที่อยู่ในระดับสูงและภาระหนี้ที่อยู่ในระดับต่ำ
อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจให้บริการด้านสุขภาพทั้งในตลาดภายในประเทศและตลาดระหว่างประเทศ รวมถึงข้อจำกัดของบริษัทจากการมีโรงพยาบาลหลักเพียงแห่งเดียว และการชะลอตัวของอัตราการเติบโตของปริมาณผู้ป่วยของบริษัทโดยเฉพาะผู้ป่วยจากประเทศในตะวันออกกลาง
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
เป็นผู้นำในธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนของไทย บริษัทเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำของประเทศไทย โดยบริษัทดำเนินงานโรงพยาบาล 1 แห่งภายใต้ชื่อ "โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล" ในกรุงเทพฯ ซึ่งเน้นให้บริการผู้ป่วยภายในประเทศและผู้ป่วยชาวต่างชาติ รายได้ของบริษัทจัดอยู่ในอันดับที่สองของผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจในประเทศไทยและในภูมิภาคตะวันออกกลางยังคงชะลอตัว แต่รายได้และอัตราการทำกำไรของบริษัทยังคงเติบโตในอัตราที่น่าพอใจ โดยบริษัทมีอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยต่อปีของรายได้จากการให้บริการผู้ป่วยที่ระดับ 6.38% และกำไรสุทธิที่ระดับ 11.84% ในระหว่างปี 2556-2560
ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าบริษัทน่าจะสามารถทรักษาสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งเอาไว้ได้ในช่วงระยะปานกลางถึงระยะยาว ความสามารถในการสร้างรายได้ที่แข็งแกร่งและมั่นคงเกิดจากการมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและผลงานทางการแพทย์ที่เป็นที่ยอมรับของบริษัท นอกจากการมีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีคุณภาพสูงแล้ว บริษัทยังมีการลงทุนด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เป็นเทคโนโลยีขั้นสูงอย่างต่อเนื่องอีกด้วย ดังนั้น บริษัทจึงมีศักยภาพในการรักษาโรคที่มีความซับซ้อนสูงและสามารถคิดค่าบริการในราคาที่สูงได้ ในขณะที่ความรุนแรงของโรคก็เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างการเติบโตของรายได้ของบริษัทในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในหมู่ลูกค้าชาวต่างชาติ บริษัทมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในหมู่ผู้ป่วยทั้งที่เป็นชาวไทยและต่างชาติ โดยรายได้ประมาณ 65% ของรายได้รวมของบริษัทมาจากผู้ป่วยต่างชาติโดยเฉพาะผู้ป่วยจากประเทศในแถบตะวันออกกลาง ซึ่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาผู้ป่วยจากภูมิภาคดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วน 20%-22% ของรายได้รวม ทั้งนี้ สถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในตลาดผู้ป่วยต่างชาติเกิดจากการที่บริษัทมีชื่อเสียงในด้านบริการทางการแพทย์และมีราคาค่าบริการที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับโรงพยาบาลในประเทศที่พัฒนาแล้ว
ทริสเรทติ้งมองว่าสัดส่วนผู้ป่วยต่างชาติที่เพิ่มขึ้นนั้นช่วยกระจายแหล่งรายได้ของบริษัท อีกทั้งยังลดการพึ่งพาความต้องการภายในประเทศ และลดความกดดันจากการแข่งขันระหว่างโรงพยาบาลคู่แข่งภายในประเทศด้วยกันเอง นอกจากนี้ จำนวนผู้ป่วยต่างชาติยังช่วยทำให้เกิดการประหยัดต่อจากขนาดด้วยเนื่องจากต้นทุนดำเนินการของโรงพยาบาลที่รักษาผู้ป่วยต่างชาตินั้นค่อนข้างสูง แม้ว่าจำนวนผู้ป่วยต่างชาติจากประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จะลดลง แต่จำนวนผู้ป่วยต่างชาติจากประเทศอื่น ๆ เช่น เมียนมา โอมาน และบังกลาเทศที่เพิ่มขึ้นก็ช่วยชดเชยจำนวนผู้ป่วยจากประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้บางส่วน ดังนั้น จำนวนผู้ป่วยต่างชาติของบริษัทจึงยังคงทรงตัวในปี 2560 จนถึงช่วง 7 เดือนแรกของปี 2561
ความเสี่ยงจากการมีโรงพยาบาลเพียงแห่งเดียว สถานะเครดิตของบริษัทมีข้อจำกัดจากการมีความเสี่ยงเรื่องสถานที่ตั้งของโรงพยาบาลหลักที่มีเพียงแห่งเดียว บริษัทสร้างรายได้เกือบทั้งหมดจากโรงพยาบาลในเขตกรุงเทพฯ ที่บริษัทมีอยู่เพียงแห่งเดียวซึ่งต่างจากผู้ประกอบการโรงพยาบาลรายอื่นที่ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิต ในขณะที่สัดส่วนรายได้จากการลงทุนในโรงพยาบาล Ulaanbaatar Songdo ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเอกชนในประเทศมองโกเลียนั้นยังคงมีเพียงเล็กน้อยและไม่สามารถที่จะเติบโตได้มากนักในระยะปานกลาง นอกจากนี้ บริษัทยังได้ชะลอแผนการก่อสร้างโรงพยาบาลขนาด 200 เตียงบนที่ดินที่ถนนเพชรบุรีมาแล้วหลายครั้งเนื่องจากจำนวนผู้ป่วยต่างชาติเติบโตน้อยกว่าคาด ประกอบกับการที่บริษัทขยายความสามารถในการให้บริการที่โรงพยาบาลที่มีอยู่เพียงแห่งเดียวได้ บริษัทมีอัตราเฉลี่ยของการใช้บริการของผู้ป่วยนอกที่ระดับ 52% ของความสามารถในการให้บริการต่อวัน ในขณะที่อัตราการครองเตียงของผู้ป่วยในอยู่ที่ระดับ 63% ทั้งนี้ คาดว่าโรงพยาบาลของบริษัทจะยังคงสามารถรองรับปริมาณผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นได้ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า
บริษัทตัดสินใจชะลอโครงการบนถนนเพชรบุรีออกไปเป็นปี 2563 หรือจนกว่าจะมีความต้องการเตียงเพิ่มขึ้นในอนาคต ดังนั้น ความกังวลเรื่องการมีโรงพยาบาลหลักเพียงแห่งเดียวจึงยังคงมีอยู่ อย่างไรก็ตาม บริษัทวางแผนที่จะขยายพื้นที่หลักของโรงพยาบาลในปัจจุบันไปยังถนนสุขุมวิท ซอย 1 เพื่อบรรเทาความแออัดของพื้นที่โรงพยาบาลหลัก สำหรับโครงการบนถนนสุขุมวิท ซอย 1 นั้นบริษัทจะพัฒนาเป็นอาคาร 3 หลัง โดยอาคารแรกจะเป็นที่จอดรถ อาคารที่ 2 จะเป็นศูนย์อบรมบุคลากร และอาคารที่ 3 จะเป็นคลินิกผู้ป่วยนอก คาดว่าบริษัทจะเริ่มโครงการบนถนนสุขุมวิท ซอย 1 ได้ในปี 2562 โดยบริษัทวางแผนค่าใช้จ่ายในการลงทุนทั้งสิ้นที่ประมาณ 18,300 ล้านบาทในช่วงปี 2561-2564 ซึ่งเงินลงทุนดังกล่าวจะเป็นงบประมาณสำหรับการขยายโรงพยาบาลใหม่ขนาด 200 เตียงบนถนนเพชรบุรีจำนวน 8,200 ล้านบาท รวมถึงการลงทุนบนถนนสุขุมวิท ซอย 1 จำนวน 2,200 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาอีกปีละ 1,200-1,600 ล้านบาท ฯลฯ
ยังคงมีการแข่งขันที่รุนแรง โรงพยาบาลเอกชนในประเทศจำนวนมากมีการแข่งขันกันอย่างหลากหลายโดยมีการให้บริการทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าเฉพาะทาง เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง หรือโรคกระดูก เป็นต้น โรงพยาบาลเอกชนชั้นนำหลายแห่งยังคงเน้นการให้บริการผู้ป่วยต่างชาติและมีการร่วมทุนกับองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาดให้มากขึ้น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนรายงานว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาจำนวนผู้ป่วยต่างชาติโดยเฉลี่ยที่เข้ารับบริการทางการแพทย์ในประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านคนต่อปี โรงพยาบาลในประเทศที่เน้นให้บริการนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพต้องแข่งขันกับโรงพยาบาต่างประเทศอื่น ๆ ที่อยู่ในทวีปเอเชีย เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง และอินเดียเป็นต้น เนื่องจากประเทศเหล่านี้ต่างก็มุ่งมั่นที่จะเป็น "ศูนย์กลางทางการแพทย์ของเอเชีย" หรือ "Medical Hub of Asia" ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยที่จะเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ยังไม่น่าจะเปลี่ยนไปเร็วนักเพราะต้นทุนการบริการทางการแพทย์หลายอย่างในประเทศไทยยังคงต่ำกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วอื่น ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา และสิงคโปร์ เป็นต้น
สถานะทางการเงินแข็งแกร่ง ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทอยู่ในระดับสูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งที่ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิต อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ (อัตรากำไรจากการดำเนินงาน) ของบริษัทอยู่ที่ระดับ 33.1% ในปี 2560 ปรับตัวสูงขึ้นจากระดับ 31.4% ในปี 2559 อัตรากำไรจากการดำเนินงานยังคงปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ 35.2% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 จาก 34.6% ในช่วงเดียวกันของปี 2560 กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เพิ่มขึ้นเป็น 6,186 ล้านบาทในปี 2560 จาก 5,786 ล้านบาทในปี 2559 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 บริษัทมีรายได้จากทั้งผู้ป่วยชาวไทยและต่างชาติค่อนข้างต่ำ อย่างไรก็ตาม กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทยังคงเพิ่มขึ้น 3.6% เป็น 3,198 ล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 การให้ความสำคัญกับการให้บริการรักษาโรคที่มีความซับซ้อนและการควบคุมต้นทุนที่มีประสิทธิภาพช่วยทำให้บริษัทสามารถรักษาอัตรากำไรให้อยู่ในระดับที่ดีได้ ภาระหนี้ของบริษัทยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำ เนื่องจากบริษัทไม่มีค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนก้อนใหญ่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บริษัทจึงมีสถานะทางการเงินเป็นเงินสดสุทธิ (Net Cash Position) โดย ณ เดือนมิถุนายน 2561 บริษัทมีเงินสดและเงินลงทุนระยะสั้นทั้งหมดจำนวน 8,679 ล้านบาท ในขณะที่หนี้สินเฉพาะที่มีภาระดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทมีแค่เพียง 3,676 ล้านบาท แม้ว่าบริษัทจะมีแผนค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนในช่วงปี 2561-2564 แต่ก็คาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 30%
มีสภาพคล่องและความยืดหยุ่นทางการเงินที่เพียงพอ สภาพคล่องของบริษัทยังคงแข็งแกร่ง ภาระหนี้ของบริษัท ณ เดือนมิถุนายน 2561 อยู่ที่ 3,676 ล้านบาทซึ่งประกอบด้วยหุ้นกู้จำนวน 3,500 ล้านบาท และเงินกู้ระยะยาว 176 ล้านบาท บริษัทมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในปี 2561 เพียง 1,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นภาระหนี้จากหุ้นกู้ ส่วนหุ้นกู้ที่เหลือจะครบกำหนดในปี 2564 ณ เดือนมิถุนายน 2561 บริษัทมีเงินสดและหลักทรัพย์ในความต้องการของตลาดอยู่ที่ 8,679 ล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าจะมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ประมาณ 5,500-6,000 ล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2561-2564 และคาดว่าบริษัทจะมีการจ่ายเงินปันผลปีละประมาณ 1,400-2,000 ล้านบาท
แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะผู้นำในธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนสำหรับคนไข้รายได้สูงเอาไว้ได้และจะยังคงผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งต่อไป โดยปริมาณเงินสดคงเหลือที่ค่อนข้างสูงและกระแสเงินสดที่มีเสถียรภาพจะช่วยให้บริษัทมีความยืดหยุ่นทางการเงินในช่วงที่มีการลงทุนและขยายธุรกิจในอนาคต
ทริสเรทติ้งคาดหมายว่ารายได้ของบริษัทจะเติบโตเล็กน้อยที่ระดับ 1% ต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า ในขณะที่อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานน่าจะยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแรงโดยเฉลี่ยที่ประมาณ 30% ต่อปีในระหว่างปี 2561-2564 ส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานน่าจะอยู่ที่ประมาณ 4,200-4,500 ล้านบาทซึ่งเพียงพอสำหรับการขยายธุรกิจ
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตของบริษัทมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นได้หากบริษัทประสบความสำเร็จในการเพิ่มความหลากหลายของธุรกิจในขณะที่ยังคงสามารถรักษาสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งเอาไว้ได้ ในขณะที่การปรับลดอันดับเครดิตยังมีจำกัด อย่างไรก็ตาม การปรับลดอันดับเครดิตสามารถเกิดขึ้นได้ในกรณีที่ผลการดำเนินงานของบริษัทลดลงอย่างมากจากระดับปัจจุบันซึ่งจะส่งผลให้ความสามารถในการทำกำไรและสถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงเป็นระยะเวลาต่อเนื่องยาวนาน