นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการ บมจ.อมตะคอร์ปอเรชัน (AMATA) เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างการปรับปรุงและพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอมตะชลบุรีไปสู่การเป็น Smart city หรือ เมืองอัจฉริยะอมตะซิตี้ โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 4-5 ปีจากนี้ โดยล่าสุดบริษัทได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ(MOU) กับโยโกฮาม่าให้เข้ามาช่วยพัฒนาออกแบบระบบโครงสร้างพื้นฐานในนิคม ขณะเดียวกัน บริษัทได้ร่วมมือกับพันธมิตรจากญี่ปุ่น คือฮิตาชิ เพื่อให้ช่วยพัฒนาโรงงานในนิคมที่มีอยู่กว่า 700 โรงให้เป็น Smart Factory เบื้องต้นจะปรับปรุงโรงงานของกลุ่มฮิตาชิก่อน
ล่าสุดวันนี้ AMATA ยังร่วมกับธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี และกลุ่มธุรกิจ ดาว ประเทศไทย ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อสร้างถนนพลาสติกรีไซเคิลเส้นแรกในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ชลบุรี เพื่อสร้างคุณค่าให้กับขยะพลาสติกตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนช่วยแก้ปัญหาการจัดการขยะภายในนิคมอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการตอบโจทย์นวัตกรรมถนนยางมะตอยที่มีประสิทธิภาพสูง
โครงการดังกล่าววางแผนทำถนนพลาสติกรีไซเคิลในพื้นที่นิคมฯอมตะรวมทั้งสิ้น 2,600 ตารางเมตร และคาดว่าจะใช้จำนวนพลาสติกรีไซเคิลประมาณ 1.3 ตัน หรือเทียบเท่ากับถุงพลาสติกจำนวนประมาณ 1 แสนใบ คาดว่าการก่อสร้างถนนแล้วเสร็จภายในเดือนพ.ย.61
นายวิวัฒน์ กรมดิษฐ์ ผู้อำนวยการสายงานพัฒนาที่ดิน AMATA ยังเปิดเผยถึงทิศทางผลประกอบการในปีนี้ว่า ยอดขายที่ดินน่าจะทำได้ตามเใป้าหมาย 925 ไร่ และปีหน้าก็คาดว่าจะทำได้ใกล้เคียงระดับดังกล่าว ซึ่งเป็นยอดขายที่มาจากการขายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในประเทศ 800 ไร่ และเวียดนาม 125 ไร่ โดยขณะนี้ยังมีการเซ็นสัญญาขายที่ดินให้กับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะไตรมาส 4/61 สอดคล้องกับความต้องการของนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
ขณะเดียวกัน บริษัทยังอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ (Project Feasibility Study)ในการลงทุนนิคมอุตสาหกรรมในเมียนมาและลาว โดยได้จัดตั้งบริษัทย่อยเรียบร้อยแล้วได้แก่ Amata Asia (Myanmar) Limited เพื่อลงทุนในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ และนิคมอุตสาหกรรมในเขตย่างกุ้ง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ และบริษัท อมตะ ซิตี้ ลาว จำกัด ในสาธารณะรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
สำหรับการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในลาวนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างขออนุญาตรายงานผลการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงกลางปี 62 โดยที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมอยู่บริเวณพื้นที่ลาวเหนือติดชายแดนจีน ขนาดพื้นที่กว่า 2-3 หมื่นไร่ ซึ่งมีที่ดินรองรับเรียบร้อยแล้ว หากมีข้อสรุปก็พร้อมเข้าลงทุนทันที ส่วนมูลค่าการลงทุนนั้นจะขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่สภาพส่วนใหญ่เป็นภูเขาทำให้ต้องมีการปรับ การลงทุนจะแบ่งเป็นเฟส คาดว่าลูกค้าหลักจะเป็นเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น เป็นต้น