นายประเวช องอาจสิทธิกุล กรรมการบริหาร และ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สายการบินนกแอร์ (NOK) เปิดเผยว่า บริษัทได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนที่ปรับตัวลดลงหลังเกิดเหตุการณ์เรือล่มในจังหวัดภูเก็ต แม้ไตรมาส 4/61 จะเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (High Season) และล่าสุดยังมีเหตุการณ์ที่นักท่องเที่ยวจีนได้รับการปฏิบัติที่ไม่ดีจากเจ้าหน้าที่สนามบินของไทย ยิ่งทำให้ภาพการท่องเที่ยวไม่ดียิ่งขึ้น
ดังนั้น บริษัทจึงเชื่อว่าผลประกอบการปีนี้คงจะไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่คาดว่าจะขาดทุนลดลงจากปีก่อนที่มีผลขาดทุนสุทธิ 1.85 พันล้านบาท แม้ว่าในช่วงไตรมาส 1/61 สามารถทำผลงานได้ดีมาก โดยมีอัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin factor) ราว 90% และในช่วงไตรมาส 3/61 ซึ่งเป็นช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว (Low Season) แต่มี Cabin Factor สูงกว่า 80%
นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังปรับตัวสูงขึ้นกว่าปีก่อนค่อนข้างมาก โดยขณะนี้ราคาน้ำมันเบรนท์อยู่ในระดับกว่า 80 เหรียญวสหรัฐ/บาร์เรล จากปีก่อนอยู่ที่กว่า 60 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งเป็น 2 ปัจจัยที่บริษัทไม่สามารถควบคุมได้ ขณะที่การแข่งขันรุนแรงจนเหลือกำไรน้อยมาก
"ไตรมาส 4 ตอนแรกคิดว่าปัญหานักท่องเที่ยวจีนจะดีขึ้น แต่ตอนนี้เริ่มไม่แน่ใจ ยอด Booking จากทัวร์จีนยังไม่มา ทาง Travel Agent ที่จีนบอกว่าไปแล้วคือไม่เห็นแล้ว golden week ก็ไม่ได้มา เป็นปัญหาทุกสายการบิน ทำให้จะเป็นไตรมาส 4 ที่ไม่ค่อย happy"นายประเวช กล่าว
อย่างไรก็ดี NOK ยังคงเดินหน้าเปิดเส้นทางการบินใหม่ไปยังจีนอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเปิดบินในเส้นทาง เฉิงตู-ภูเก็ต เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจีนที่ไม่ได้เดินทางในลักษณะกรุ๊ปทัวร์ หลังจากที่ผ่านมาเที่ยวบินเช่าเหมาลำที่ไปจีนของ NOK ก็ลดลงเช่นกัน และในไตรมาส 4/61 จะเปิดเส้นทางบินใหม่ 2 เส้นทางในอินเดีย ซึ่งเป็นเมืองรอง
นายประเวช กล่าวว่า ภารกิจหลักของบริษัทคือต้องหยุดขาดทุนให้ได้ก่อน แล้วเพิ่มรายได้ ลดค่าใช้จ่าย โดยการปรับลดาใช้จ่ายใหญ่ๆได้แก่ น้ำมัน ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 3 ของต้นทุนรวม และมีค่าใช้จ่าย การซ่อมบำรุงเครื่องบิน การจัดการฝูงบิน และ ค่าใช้จ่ายภาคพื้นดิน ซึ่งส่วนนี้คิดเป็น 40% โดยรวมแล้วทั้งหมดมีสัดส่วนสูงถึง 70%
ดังนั้น บริษัทได้จัดตั้งคณะกรรมการชุดย่อยที่เข้าไปศึกษาและแนวทางลดต้นทุน 3 คณะ คือด้านค่าใช้จ่ายการซ่อมบำรุงเครื่องบิน ซึงปัจจุบัน NOK ใช้เครื่องบิน 3 รุ่น ต้องวางแผนว่าเครื่องบินที่ใช้เหลือ 2 รุ่น หรือ ยังคง 3 รุ่น , ด้านการจัดการฝูงบิน ว่าจะมีการเช่าซื้อเครื่องบินอย่างไร เพื่อจะช่วยลดค่าเช่าเครื่องบิน และ ด้านการจัดการค่าใช้จ่ายภาคพื้นดิน ทั้งหมดคาดว่าจะใด้ความชัดเจนใน 3-4 เดือนข้างหน้าเพื่อใช้เป็นแนวทางปรับลดค่าใช้จ่ายที่จะสอดรับกับการวางแผนในปี 62 พร้อมกับเร่งสรรหา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่ให้เร็ว คาดไตรมาส 4 นี้น่าจะสรรหาได้
ขณะเดียวกัน NOK จะร่วมทำงานร่วมกันภายใต้ THAI Group โดยขณะนี้ได้ร่วมกันทำประกันความเสี่ยงด้านราคาน้ำมัน การทำประกันภัยเครื่องบิน การร่วมมือในเส้นทางบินที่การบินไทย และไทยสมายล์ ไม่มีเที่ยวบินหรือมีเที่ยวบินน้อย อาทิ แม่ฮ่องสอน , บุรีรัมย์ และมองอนาคตจะมีความร่วมมือในหลายเส้นทางมากขึ้นที่การบินไทยจะส่งต่อผู้โดยสารให้ NOK ไปในเส้นทางในประเทศซึ่งมีเที่ยวบินในประเทศมากอยู่แล้ว นอกจากนี้ความร่วมมือกับ Scoot ภายใต้สายการบินนกสกู๊ต จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับ NOK ได้ที่จะช่วยส่งต่อผู้โดยสารให้ด้วยเช่นกัน
นายประเวช กล่าวว่า สายการบินนกแอร์ เทียบกับคู่แข่งที่เป็นสายการบินต้นทุนต่ำเช่นกันคือ สายการบินไทยแอร์เอเชีย และสายการบินไทยไลอ้อนแอร์ ต่างมีทุนจดทะเบียนมากกว่าสายการบินนกแอร์ แต่สายการบินนกแอร์ก็ยังสามารถมีส่วนแบ่งตลาดสายการบินต้นทุนต่ำที่ 23% แต่หากสายการบินนกแอร์จะต้องเติบโต และหยุดขาดทุน ก็ต้องอาศัยทุนจดทะเบียนที่ใหญ่ขึ้น โดยอาจจะมีพันธมิตรต่างประเทศเข้ามาร่วมทุน
ด้านนางนลินี งามเศรษฐมาศ กรรมการ NOK กล่าวว่า ในช่วง High Season ในไตรมาส 1 และในไตรมาส 4 NOK สามารถสร้างรายได้สูงถึงวันละ 30-40 ล้านบาท หรือ 900-1,200 ล้านบาท/เดือน และเคยสูงถึง 1,400 ล้านบาท หากไตรมาส 4 นี้ที่เป็นช่วง High Season ตามปกติทั้งไตรมาสก็มีโอกาสที่สร้างรายได้หรือกระแสเงินสดเข้ามาได้มากถึง 4,200 ล้านบาท หากบริษัทสามารถสร้างกระแสเงินสดรับมากกว่ากระแสเงินสดออก จะเป็นแนวทางที่ทำให้บริษัทอยู่รอด