(เพิ่มเติม1) BGC เคาะราคา IPO ที่ 10.20 บาท/หุ้น เปิดจอง 8-10 ต.ค.เทรด 18 ต.ค.,คาดรายได้ปี 62 โตใกล้เคียง 10% จากปีนี้ทรงตัว

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday October 5, 2018 12:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส (BGC) กำหนดราคาเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) หุ้นละ 10.20 บาท โดยจะเปิดให้นักลงทุนจองซื้อในวันที่ 8-10 ต.ค.และคาดว่าจะนำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในวันที่ 18 ต.ค.นี้ พร้อมแต่งตั้ง บล.กสิกรไทย เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้น IPO โดยมี บล. เคที ซีมิโก้ บล.ไทยพาณิชย์ บล.บัวหลวง และ บล. ทิสโก้ เป็นผู้ร่วมจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย

นายพงศ์ศักดิ์ พฤกษ์ไพศาล รองกรรมการผู้จัดการ บล.กสิกรไทย เปิดเผยว่า BGC ได้สำรวจความต้องการจองซื้อหุ้น IPO จากนักลงทุนสถาบัน (Book Building) เมื่อวันที่ 3-4 ต.ค.ที่ผ่านมา พบว่านักลงทุนสถาบันได้แสดงความต้องการจองซื้อที่ราคาสูงสุดหุ้นละ 10.20 บาท สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในพื้นฐานธุรกิจที่แข็งแกร่งและศักยภาพการเติบโตในอนาคต

BGC เป็นผู้จัดจำหน่าย ส่งออก และนำเข้าบรรจุภัณฑ์แก้ว รวมถึงลงทุนในบริษัทย่อยที่ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์แก้วรายใหญ่ของไทย เตรียมเสนอขายหุ้น IPO ไม่เกิน 194.44 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นไม่เกิน 28% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท ซึ่งมีการจัดสรรหุ้น จำนวนไม่เกิน 19,444,000 หุ้น หรือคิดเป็นไม่เกิน 10% ของจำนวนหุ้นสามัญที่เสนอขายครั้งนี้ให้แก่กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของกลุ่มบริษัท

ปัจจุบัน BGC มี บมจ.บางกอกกล๊าส เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ กลุ่มบริษัทมีกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์แก้ว 3,095 ตันต่อวัน ถือว่ามากที่สุดในประเทศไทย (อ้างอิงจากรายงาน GlobalData Plc วันที่ 2 ก.พ.61) เนื่องจากบรรจุภัณฑ์แก้วใช้กันอย่างแพร่หลายและสามารถนำมารีไซเคิลได้ทั้งหมด แต่ปัจจุบันมีผู้ผลิตรายใหญ่ในประเทศไทยเพียงไม่กี่ราย การดำเนินธุรกิจของบมจ. บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จึงมีความมั่นคงและมีกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง

นายศิลปรัตน์ วัฒนเกษตร กรรมการผู้จัดการ BGC กล่าวว่า บริษัทมีจุดแข็งด้านประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์ที่หลากหลาย มีการปรับปรุงคุณภาพและประสิทธิภาพการผลิตอย่างสม่ำเสมอและมีความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตที่ต่ำ รวมทั้งมีวิสัยทัศน์ก้าวเป็นผู้นำการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แก้วและบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณภาพในภูมิภาคอาเซียน

ณ วันที่ 30 มิ.ย.61 BGC มีบริษัทย่อยที่ผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์แก้วรวม 6 บริษัท มีเตาหลอมแก้วรวมทั้งสิ้น 10 เตา กำลังการผลิตรวม 3,095 ตันต่อวัน โดยมีโรงงานผลิตกระจายตัวอยู่ในหลายพื้นที่ที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ๆ เช่น จังหวัดปทุมธานี ขอนแก่น พระนครศรีอยุธยา ปราจีนบุรี ส่งผลดีต่อการจัดหาแหล่งวัตถุดิบที่มีต้นทุนต่ำ การบริหารต้นทุนโลจิสติกส์ และการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าในพื้นที่ต่าง ๆ ได้อย่างทั่วถึง

บริษัทอยู่ระหว่างดำเนินโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วและเตาหลอมแก้วแห่งใหม่ที่จังหวัดราชบุรีเพิ่มอีก 1 เตา เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ โดยใช้เงินลงทุนเบื้องต้นประมาณ 2,500 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ได้ภายในไตรมาส 4/61 ซึ่งจะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 400 ตันต่อวัน รวมเป็นประมาณ 3,495 ตันต่อวัน

ขณะที่ผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย.61) มีกำไรสุทธิ 270.1 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมีกำไรสุทธิ 121.7 ล้านบาทหรือมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 122% สาเหตุหลักมาจากต้นทุนคงที่ลดลงจากการย้ายฐานการผลิตจากโรงงานระยองที่ปิดตัว ไปยังเตาที่มีประสิทธิภาพการดำเนินงานเพิ่มขึ้นและการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ

นายศิลปรัตน์ คาดว่าอัตรากำไรสุทธิปีนี้จะใกล้เคียงกับช่วงครึ่งปีแรกที่ราว 5% แต่สูงกว่าทั้งปีก่อนที่อยู่ระดับ 2% เป็นผลมาจากราคาเศษแก้วที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ราคาค่อนข้างสูง และบริษัทได้จ้างผลิตบางส่วนในช่วงที่ย้ายโรงงานส่งผลให้ต้นทุนสูงกว่าปกติ แต่ในปีนี้แทบจะไม่มีแล้ว นอกจากนี้บริษัทยังเน้นการขายสินค้าที่มีมาร์จิ้นสูงเพิ่มขึ้นด้วย อาทิ ขวดซุปไก่สกัด ขวดแยม ขวดรังนก หรือที่เป็นขวดชนิดปากกว้าง เป็นต้น

สำหรับทิศทางรายได้ปีนี้ คาดว่าจะทรงตัวจากปีก่อนที่ 11,221 ล้านบาท จากช่วงครึ่งปีแรกบริษัทมีรายได้แล้ว 5,120.5 ล้านบาท เนื่องจากปีก่อนมีการปิดโรงงานผลิตที่จ.ระยอง จำนวน 1 แห่ง ทำให้กำลังการผลิตทำได้ใกล้เคียงเดิม แต่อย่างไรก็ตามคาดว่ารายได้ในปี 62 จะเติบโตได้ใกล้เคียงกับ 10% เป็นผลมาจากกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นราว 13% หรือมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 400 ตันต่อวัน ในช่วงไตรมาส 4/61 รวมเป็น 3.49 ตันต่อวัน โดยปัจจุบันมีคำสั่งซื้อเข้ามาเต็มกำลังการผลิตแล้ว ซึ่งโรงงานดังกล่าว ถือเป็นโรงงานแห่งที่ 11 จากปัจจุบัน BGC มีบริษัทย่อยที่ผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์แก้ว 6 บริษัท มีเตาหลอมแก้วรวมทั้งสิ้น 10 เตา กำลังการผลิตรวม 3.09 ตันต่อวัน

ทั้งนี้ บริษัทจะเน้นการขยายตลาดไปยังต่างประเทศมากขึ้น โดยในปี 62 บริษัทตั้งเป้าที่จะเพิ่มสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศขึ้นเป็น 10% จากปีนี้ที่ 7-8% และในอีก 5 ปี จะเพิ่มเป็น 20% โดยมองโอกาสในการขยายเข้าไปกลุ่มประเทศในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่มีความต้องการใช้ขวดแก้วเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นประเทศเวียดนาม ประเทศเมียนมา ประเทศกัมพูชา และสปป.ลาว รวมถึงประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และตลาดยุโรป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ