นายสมพล ธนาดำรงศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ (FPI) เปิดเผยว่า บริษัทฯยังคงมองหาโอกาสและลู่ทางการลงทุนโรงไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มสัดส่วนรายได้ประจำ (Recurring Income) และถือเป็นการกระจายความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ ผลักดันให้ผลการดำเนินงานในอนาคตเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน สร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้น แม้ว่าล่าสุดจะได้ยกเลิกแผนซื้อหุ้นของบริษัท ทีเอสอี โอเวอร์ซีส์ กรุ๊ป (TSEO) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยและทำธุรกิจโซลาร์ฟาร์มในประเทศญี่ปุ่นของ บมจ.ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี (TSE)
"การยกเลิกสัญญาซื้อขายหุ้นที่เกี่ยวข้องกับ TSE ในครั้งนี้ ไม่กระทบต่อการดำเนินงาน และฐานะทางการเงินของบริษัทแต่อย่างใด และเรายังคงมองหาลู่ทางการลงทุนใหม่ๆเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เพื่อขยายฐานที่มาของรายได้ให้กับบริษัท"นายสมพล กล่าว
นายสมพล กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มผลงานในช่วงครึ่งหลังของปี 61 คาดว่ารายได้รวมจะเติบโต 5-10% ตามเป้าหมายที่วางไว้ ขณะที่กำไรจะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากมีการรับรู้กำไรจากโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาดกำลังการผลิต 7.5 เมกะวัตต์ (MW) ในจังหวัดนราธิวาส เข้ามาเต็มปี และในช่วงครึ่งปีหลังที่จะเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) โรงไฟฟ้าชีวมวล เพิ่มอีก 2 แห่ง กำลังการผลิต 2 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทำให้บริษัทฯมีกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าจำนวน 9.5 เมกะวัตต์
ล่าสุด บริษัทฯจะรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากการร่วมทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล บริษัท บิน่า พูรี่ พาวเวอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด (BINA)ใน จ.แพร่ ที่มีบริษัทร่วมทุน ภายใต้ชื่อบริษัท เซฟ เอนเนอร์จี โฮลดิ้งส์ จำกัด (SAFE) ถือหุ้นในสัดส่วน 49% มีผลตอบแทนการลงทุน (IRR) สูงถึง 30% มากกว่า IRR จากโรงไฟฟ้าชีวมวลทั่วไปที่อยู่ระดับ 17-18% ขณะนี้โครงการที่ 1 ของ BINA ซึ่งตั้งอยู่ใน อ.ลอง ขนาด 1 เมกะวัตต์ (MW) ได้เริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.61 ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ BINA ยังมีโครงการที่ 2 ตั้งอยู่ใน อ.สูงเม่น ขนาดกำลังการผลิต 1 เมกะวัตต์ด้วย โดยคาดว่าในส่วนโครงการที่ 2 คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ และ COD ได้ ภายในสิ้นปี 61
ขณะเดียวกัน บริษัทยังคงเดินหน้าส่งมอบงานผลิตสินค้าชิ้นส่วนยานยนต์ให้กับลูกค้าตามออร์เดอร์ที่ได้รับมาอย่างต่อเนื่อง หลังจากผู้ประกอบการหลายค่ายได้มีการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ออกมาตลอดตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะยอดขายในประเทศที่มีอัตราการเพิ่มขึ้น จากการขายงาน OEM ของรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า และยอดขายต่างประเทศในโซนออสเตรเลียและยุโรปที่เพิ่มขึ้นจากการขายงาน OEM ของรถยนต์ยี่ห้อมาสด้า โดยปัจจุบันมีคำสั่งซื้อล่วงหน้ารอส่งมอบ (Backlog) มูลค่า 700-800 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้ในช่วงที่เหลือของปีนี้ราว 50% ในส่วนที่เหลือจะทยอยรับรู้เข้ามาในปี 62