โบรกเกอร์ต่างคาดกำไรสุทธิกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไตมาส 3/61 สามารถเติบโตได้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยได้รับผลดีจากการตั้งสำรองฯที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ หลังคุณภาพหนี้เริ่มทยอยปรับตัวดีขึ้น และการเลื่อนบังคับใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9 ออกไปเป็นปี 63
แต่เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/61 กำไรสุทธิของกลุ่มธนาคารพาณิชย์จะหดตัว เนื่องจากได้รับผลกระทบรายได้ค่าธรรมเนียมธุรกรรมช่องทางดิจิทัลหายไปเพิ่มมากขึ้น หลังจากลูกค้าหันมาใช้บริการทำธุรกรรมในช่องทางนี้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยหลายธนาคารพยายามหารายได้อื่นเข้ามาชดเชย โดยเฉพาะการปล่อยสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูง และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยกลุ่มสินเชื่อรายย่อยบางประเภท รวมถึงการบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ด้านภาพรวมของสินเชื่อในไตรมาส 3/61 อาจจะขยายตัวได้เล็กน้อย หรือชะลอตัวลงจากไตรมาส 2/61 ซึ่งภาพรวมยังไม่โดดเด่นมากนัก เนื่องจากยังไม่มีการเบิกใช้งบประมาณลงทุนภาครัฐออกมาอย่างชัดเจน ทำให้การลงทุนขนาดใหญ่ยังไม่เริ่ม และ8วามต้องการของสินเชื่อไม่มากนัก
อย่างไรก็ตาม คาดว่าไตรมาส 4/61 ภาพรวมของสินเชื่อจะกลับมาขยายตัวได้เพิ่มขึ้น เพราะการลงทุนต่างๆจะเดินหน้า และเป็นช่วงเทศกาลที่ประชาชนเริ่มจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ทำให้ความต้องการสินเชื่อมีมากขึ้นตามไปด้วย ส่วนมาตรการควบคุมสินเชื่อบ้านของธนาคารแห่งแระเทศไทย (ธปท.) คาดว่าจะยังไม่ส่งผลมากนัก ในทางกลับกันอาจได้เห็นการเร่งโอนมากขึ้น
สำหรับแนวโน้มสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในไตรมาส 3/61 คาดว่าจะลดลงหรือทรงตัวจากไตรมาส 2/61 ที่ 3.12% จากการบริหารจัดการหนี้ได้ดีขึ้น และธนาคารหลายแห่งยังคงเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ ขณะที่คาดว่าแนวโน้มในไตรมาส 4/61 จะเห็นแนวโน้มของ NPL ลดลงอีก เพราะเป็นช่วงตัดจำหน่ายหนี้สูญ
ทั้งนี้ โบรกเกอร์หลายรายต่างๆให้น้ำหนักการลงทุนในกลุ่มธนาคารพาณิชย์เป็น Overweight จากแนวโน้มภาพรวมของกผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น ซึ่งคาดว่าจะเห็นกำไรในปีนี้พลิกกลับมาเติบโตได้จากปีก่อนที่หดตัวลง แม้ยังมีแรงกดดันจากรายได้ค่าธรรมเนียมหายไป แต่สินเชื่อยังเติบโตจากวัฏจักของเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวขึ้นและมี NPL ลดลง
หุ้นในกลุ่มแบงก์ที่โบรกเกอร์ส่วนใหญ่เลือกเป็นหุ้น Top Pick คือ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) เนื่องจากเป็นธนาคารที่มีผลการดำเนินงานโดยเฉพาะกำไรเติบโตอย่างต่อเนื่องและมั่นคง อีกทั้งได้รับผลกระทบจากรายได้ค่าธรรมเนียมลดลงน้อยที่สุด และผลกระทบมาตรการคุมสินเชื่อบ้านของธปท.มีไม่มาก เพราะสัดส่วนของสินเชื่อส่วนใหญ่เน้นไปที่ภาคธุรกิจมากกว่า และเป็นสินเชื่อที่มีความเสี่ยงต่ำ ทำให้คุณภาพหนี้อยู่ในระดับที่ดี และถือว่าเป็นธนาคารที่ดำเนินธุรกิจแบบ Conservative และมีความมั่นคงมาก
โบรกเกอร์ น้ำหนักการลงทุน (กลุ่มแบงก์) หุ้น Top Pick โนมูระ Overweight BBL ซื้อ 244 บาท/หุ้น หยวนต้า Overweight BBL ซื้อ 235 บาท/หุ้น บัวหลวง Overweight BBL ซื้อ 235 บาท/หุ้น เคทีบี (ประเทศไทย) Overweight BBL ซื้อ 234 บาท/หุ้น ฟินันเซีย Overweight BBL ซื้อ 232 บาท/หุ้น ฟิลลิป Overweight BBL ซื้อ 231 บาท/หุ้น อาร์เอชบี Overweight BBL ซื้อ 230 บาท/หุ้น เอเซีย พลัส Overweight BBL ซื้อ 220 บาท/หุ้น++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ นายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้อำนวย การอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.อาร์เอชบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า แนวโน้มกำไรสุทธิของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 3/61 จะลดลงราว 5% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/61 จากปัจจัยของการฟรีค่าธรรมเนียมธุรกรรมการโอนเงินช่องทางดิจิทัล ซึ่งมีลูกค้าใช้บริการเพิ่มมากขึ้น ทำให้รายได้ค้าธรรมเนียมของกลุ่มธนาคารหายไปค่อนข้างมาก และทำให้ธนาคารต่างๆหารายได้ในส่วนอื่นเข้ามาชดเชย และควบคุมค่าใช้จ่ายต่างๆมากขึ้น ขณะที่กำไรในไตรมาส 3/61 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันคาดว่าจะสามารถเติบโตได้ 8% ได้รับปัจจัยหนุนของการตั้งสำรองฯที่ลดลง หลังจากที่มาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9 ได้เลื่อนการบังคับใช้ไปเป็นปี 63 และธนาคารต่างๆได้ตั้งสำรองฯไปมากแล้วในช่วงครึ่งปีแรก และสถานการณ์ของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ในระดับที่ไม่ได้สูงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3/60 ที่ NPL เพิ่มขึ้นไปจุดสูงสุด อีกทั้งสินเชื่อยังน่าจะขยายตัวได้ราว 1% ช่วยหนุนรายได้จากอัตราดอกเบี้ยให้เติบโตได้ และบางธนาคารมีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในกลุ่มสินเชื่อรายย่อยบางประเภทเพิ่มขึ้น ช่วยเข้ามาชดเชยรายได้ค่าธรรมเนียมที่หายไปได้บางส่วน แต่ในภาพรวมของการขยายตัวของสินเชื่อไนไตรมาส 3/61 ถือว่าชะลอตัวเล็กน้อยจากไตรมาส 2/61 ที่ขยายตัว 2% แต่คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงไตรมาส 4/61 คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.5-3% จากการเข้าสู่ช่วงที่มีความต้องการใช้สินเชื่อเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อภาคธุรกิจที่จะได้รับอานิสงส์จาการลงทุนภาครัฐเร่งตัว และสินเชื่อรายย่อยที่เป็นช่วงเทศกาล ส่วนระดับ NPL ในไตรมาส 3/61 คาดว่าจะทรงตัวหรือลดลงเล็กน้อยจากไตรมาส 2/61 ที่อยู่ในระดับ 3.12% และจะลดลงค่อนข้างมากในไตรมาส 4/61 ซึ่งเป็นช่วงที่ธนาคารต่างตัดจำหน่ายหนี้สูญออกไป โดยคาดว่าทั้งปีนี้ NPL จะอยู่ที่ 3% ทั้งนี้ ยังคงประมาณการกำไรของกลุ่มธนาครพาณิชย์ในปีนี้เติบโต 7% จากปีก่อนที่หดตัว 9% โดยให้มุมทองการลงทุน Overweight จากการที่ผลการดำเนินงานของธนาคารสามารถกลับมาเติบโตได้ แม้ว่าจะมีปัจจัยกดดันของรายได้ค่าธรรมเนียมที่ลดลงไป และมีค่าใช้จ่ายในการลงทุนด้านดิจิทัลที่ยังคงกดดันอยู่ แต่สินเชื่อยังสามารถเติบโตได้รับอานิสงส์เศรษฐกิจฟื้นตัว และโอกาสในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขณะเดียวกันมาตรการควบคุมสินเชื่อบ้านของ ธปท.จะทำให้คุณภาพสินเชื่อของกลุ่มธนาคารในระยะยาวดีมากขึ้น อีกทั้ง P/E ของกลุ่มธนคารยังอยู่ในระดับไม่สูงมาก หุ้นกลุ่มแบงก์ที่เลือกให้เป็นหุ้น Top Pick คือ BBL แนะนำ "ซื้อ"ราคาเป้าหมาย 230 บาท/หุ้น มองว่า BBL เป็นธนาคารที่มีกำไรที่เติบโตมาอย่างต่อเนื่อง และได้รับผลกระทบน้อยที่สุดจากการยกเลิกค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ รวมไปถึงสัดส่วนของสินเชื่อมีการกระจายที่เหมาะสม และส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่ำ ซึ่งมีสัดส่วนของสินเชื่อรายย่อยน้อยกว่า SCB, KBANK และ KTB รวมไปถึงได้รับผลกระทบจากการคุมสินเชื่อบ้านของธปท.น้อยที่สุด ซึ่งการดำเนินธุรกิจของ BBL เป็นแบบ Conservative ทำให้เป็นธนาคารที่มีความมั่นคงมาก และคุณภาพหนี้อยู่ระดับในระดับที่ดี นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์กลยุทธ์การลงทุน บล.เคทีบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า กำไรสุทธิกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในช่วงไตรมาส 3/61 น่าจะจะเติบโต 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 4% จากไตรมาส 2/61 เนื่องจากยังได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากการยกเลิกการคิดค่าธรรมเนียมธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัล ซึ่งเริ่มมีลูกค้าหันมาใช้บริการเพิ่มขึ้น แต่หลายธนาคารหันมาหารายได้อื่นๆเพื่อชดเชย โดยเฉพาะการปล่อยสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูง และยังมีปัจจัยหนุนผลงานให้เติบโตจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่อวจากการเลื่อนการใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9 ออกไปเป็นปี 63 ส่งผลให้การตั้งสำรองฯมีความผ่อนคลายมากขึ้น หลังจากที่หลายธนาคารตั้งสำรองฯไปมากแล้วในช่วงปลายปีก่อนถึงครึ่งปีแรกของปีนี้เพื่อรองรับมาตรฐานบัญชีใหม่ สำหรับกำไรสุทธิรวมของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ทั้งปี 61 คาดว่าจะกลับมาเติบโตได้ 10% หลังจากปีก่อนหดตัว 9% ด้านการขยายตัวของสินเชื่อยังคงเห็นการขยายตัวที่ต่อเนื่อง โดยในไตรมาส 3/61 คาดว่าสินเชื่อกลุ่มธนาคารพาณิชย์จะขยายตัวได้ 6.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 0.7% จากไตรมาส 2/61 ส่วนใหญ่มาจากสินเชื่อรายใหญ่ที่ภาคเอกชนเริ่มทยอยกันลงทุนมากขึ้น และสินเชื่อโครงการอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวได้ดี ขณะที่สินเชื่อเช่าซื้อเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของยอดขายรถยนต์ และในช่วงไตรมาส 4/61 คาดว่าสินเชื่อยังขยายตัวได้ต่อจากการเบิกจ่ายโครงการภาครัฐที่จะหนุน และเป็นช่วงเทศกาลที่สินเชื่อรายย่อยเจะเติบโตมาก และมองว่ามาตรการควบคุมสินเชื่อบ้านในช่วงที่เหลือของปีนี้จะได้ผลกระทบไม่มาก เพราะยังไม่เริ่มบังค่บใช้ โดยภาพรวมการขยายตัวของสินเชื่อกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในปีนี้จะขยายตัวได้ 5.4% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 4.5% ส่วน NPL ในไตรมาส 3/61 จะลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 3.1% จากไตรมาส 2/61 อยู่ที่ 3.12% หลังจากสินเชื่อขยายตัวเพิ่มขึ้น และประเมินว่า NPL ในสิ้นปีนี้จะลดลงมาเป็น 3.07% จากสิ้นปีก่อนที่ 3.13% เนื่องจากปกติธนาคารจะมีการจำหน่ายหนี้สูญออกไปในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี "กลุ่มธนาคารพาณิชย์เป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากการเติบโตของเศรษฐกิจไทย และจากการที่ทิศทางของอัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น ซึ่งมีโอกาสที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปีนี้สัก 1 ครั้ง และปี 62 อีก 2 ครั้ง ซ่งเป็นผลบวกต่อธนาคารพาณิชย์ และช่วยชดเชยรายได้ค่าธรรมเนียมที่หายไปได้บ้าง ทำให้มีน้ำหนักการลงทุนแบบ Overweight"นายมงคล กล่าว นายมงคล เลือกหุ้น BBL เป็น Top Pick ในกลุ่มแบงก์ เพราะมีการเติบโตของกำไรที่มั่นคงและต่อเนื่อง และมีความเสี่ยงในการตั้งสำรองฯพิเศษน้อยมาก รวมถึงเป็นธนาคารที่มีการดำเนินธุรกิจแบบ Conservative และพอร์ตสินเชื่อมีความเสี่ยงไม่สูง ส่วนใหญ่อิงไปที่สินเชื่อภาคธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่ำ อีกทั้งเป็นธนาคารที่ไม่ได้รีบผลกระทบจากการยกเลิกค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่านช่องทางดิจิทัลมากนัก เมื่อเทียบกับธนาคารใหญ่อื่นๆ ประกอบกับคาดว่าในปีนี้จะมีการเร่งขายเงินลงทุนในหุ้นเพิ่มขึ้น ทำให้อาจจะมีกำไรพิเศษเข้ามาหนุน โดยให้คำแนะนำ "ซื้อ" ราคาเป้าหมาย 234 บาท/หุ้น น.ส.สุนันทา วสะภิญโญกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส กล่าวว่า กำไรสุทธิของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 3/61 จะเติบโต 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 2% จากไตรมาส 2/61 การเติบโตขึ้นของกำไรเมื่อเทียบกับไตรมาส 3/60 มาจากการตั้งสำรองฯที่ลดลง โดยช่วงไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นช่วงที่ NPL กลุ่มแบงก์พาณิชย์ขึ้นไปสู่จุดสูงสุด 3.3% และค่อยๆทยอยปรับตัวลดลงมา อีกทั้งในช่วงไตรมาส 3/61 มีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นในสินเชื่อบางประเภททำให้แนวโน้มของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) ในไตรมาส 3/61 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 3.36% จากไตรมาสก่อนหน้า 3.3% อย่างไรก็ตาม กำไรที่ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2/61 เป็นผลมาจากแรงกดดันของค่ายกเลิกค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมการโอนเชินและชำระบิลผ่านช่องดิจิทัลที่เริ่มมีจำนวนลูกค้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง กดดันผลการดำเนินอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งธนาคารขนาดใหญ่ยังมีค่าใช้จ่ายในการลงทุนด้านดิจิทัลที่ยังคงเป็นแรงกดดันกำไรที่เข้ามาเสริม แต่การตั้งสำรองฯที่ลดลงทำให้กำไรของกลุ่มธนาคารในช่วงไตรมาส 3/61 ไม่ได้ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้ามากนัก แต่คาดว่าไตรมาส 4/61 อาจจะสามารถกลับมาเป็นบวกได้เล็กน้อย เพราะความผ่อนคลายของการตั้งสำรองฯที่จะไม่ต้องตั้งสำรองฯเพิ่มเติมมากแล้ว จากสถานการณ์ NPL ที่ดีขึ้น และการเลื่อนบังคับใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9 ไปเป็นปี 63 โดยทั้งปีนี้ยังคงประมาณการณ์กำไรของกลุ่มธนาคารพาณิชย์เติบโต 8.5% ด้านการขยายตัวของสินเชื่อในไตรมาส 3/61 มีแนวโน้มชะลอลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้าราว 0.5% แต่สินเชื่อในช่วง 9 เดือนสามารถขยายตัวได้ค่อยข้างดีที่ 3% โดยในช่วงไตรมาส 3/61 มีการปล่อยสินเชื่อไม่มากนัก โดยเฉพาะสินเชื่อรายใหญ่ เพราะเป็นช่วงที่โครงการขนาดใหญ่เพิ่งเริ่มลงทุน ทำให้ยังไม่มีการเบิกใช้วงเงินสินเชื่อ ขณะที่มีการชำระคืนหนี้ของลูกค้ารายใหญ่เป็นจำนวนมาก ส่วนสินเชื่อรายย่อยก็ยังไม่ได้เป็นช่วงไฮซีซั่น ทำให้สินเชื่อในไตรมาส 3/61 ขยายตัวได้น้อย แต่จะสามารถขยายตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงไตรมาส 4/61 จากการที่โครงการภาครัฐเริ่มมีการเบิกใช้งบประมาณออกมา และทำให้มีการลงทุนของภาคเอกชนตามมามากขึ้น ส่งผลให้สินเชื่อภาคธุรกิจทั้งธุรกิจขนาดใหญ่และเอสเอ็มอีขยายตัวมาก ขณะที่สินเชื่อรายย่อยจะมีการเติบโตขึ้น เพราะเป็นช่วงเทศกาล ทั้งสินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อบ้าน ขณะที่มาตรการควบคุมสินเชื่อบ้านของธปท.มองว่าจะยังไม่ส่งผลกระทบในช่วงไตรมาส 4/61 เพราะจะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค.62 ทำให้คาดว่าจะเห็นการโอนและการปล่อยสินเชื่อในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้เพิ่มขึ้นมากขึ้น และหนุนให้ภาพรวมของสินเชื่อเติบโตมาก และยังคาดว่าสินเชื่อของกลุ่มธนาคารในปี 61 จะเติบโตได้ 6% ส่วนแนวโน้ม NPL ในไตรมาส 3/61 คาดว่าจะทรงตัวหรือลดลงเล็กน้อยจากไตรมาส 2/61 ที่ 3.12% ซึ่งแต่ละธนาคารยังคงมีการคุมเข้มการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ ทำให้คุณภาพของสินเชื่อส่วนใหญ่ในอยู่ระดับที่ดี และยังมีความแข็งแกร่งในการรองรับกับปัญหาของหนี้เสียได้อีกมาก เพราะกลุ่มธนาคารพาณิชย์มีอัตราส่วนการตั้งสำรองฯต่อหนี้สูญ (Coverage Ratio) ในระดับที่เกิน 100% ไปแล้วเกือบทุกธนคาร และในไตรมาส 4/61 คาดว่าจะมีการจำหน่ายหนี้สูญออกไปอีก ทำให้ NPL ลดลงต่ำกว่า 3.1% หรืออยู่ใกล้ๆ 3% ซึ่งเป็นสัญญาณของ NPL ที่ดีขึ้น โดยที่ให้น้ำหนักการลงทุนหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์เปลี่ยนแปลงจาก Neutral เป็น Overweight หลังจากทิศทางของกลุ่มแบงก์มีแนวโน้มที่ค่อยๆฟื้นตัวขึ้นตามการฟื้นตัวขึ้นของเศรษฐกิจและการลงทุน แม้ว่าจะยังได้รับปัจจัยกดดันของค่าธรรมเนียมที่หายไป แต่กลุ่มธนาคารก็เริ่มปรับตัวและหารายได้ในช่องทางอื่นๆเข้ามาชดเชล หุ้นในกลุ่มธนาคารที่เลือกเป็น Top Pick คือ BBL เพราะเป็นธนาคารที่ได้รับผลกระทบจากรายได้ค่าธรรมเนียมที่หายไปน้อยที่สุด และมีความแข็งแกร่งในด้านผลการดำเนินงานที่เติบโตต่อเนื่อง การพอร์ตสินเชื่อมีความเสี่ยงต่ำ เพราะส่วนใหญ่ BBL จะเน้นไปที่สินเชื่อภาคธุรกิจ และยังได้รับแรงหนุนหากการลงทุนภาครัฐเดินหน้า ทำให้มีความต้องการสินเชื่อเพื่อการลงทุนของภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น ซึ่งหนุนต่อภาพรวมของผลการดำเนินงานของ BBL โดยแนะนำ"ซื้อ"ราคาเป้าหมาย 232 บาท/หุ้น