นายฉัตรณรงค์ ฉัตรภูติ บมจ.อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น (IFEC) เปิดเผยว่า คณะกรรมการผู้มีอำนาจในบริษัทที่เหลืออยู่ 2 คนคือตนเอง และ พล.ต.บุญเลิศ แจ้งนพรัตน์ จะเรียกประชุมภายในวันที่ 20 ต.ค.เพื่อกำหนดวันจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นในการคัดสรรคณะกรรมการชุดใหม่เข้ามาดำรงตำแหน่งในบริษัทที่เหลืออีก 7 ท่านให้ครบ ซึ่งจะเป็นไปตามมาตรา 83 ของ พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด โดยคาดว่าจะสามารถจัดการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นขึ้นได้ในช่วงปลายเดือน พ.ย. นี้
นายฉัตรณรงค์ ยืนยันว่ากรรมการ 2 คนสามารถจัดประชุมกรรมการเพื่อลงมติได้ เพราะถือว่าเป็นสถานะที่มีความชอบธรรมตาม พ.ร.บ.หลักทรัพยและตลาดหลักทรัพย์ และยังคงมีหน้าที่จะต้องดำเนินการจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อคืนสิทธิกลับไปยังผู้ถือหุ้นให้มีการเลือกรรมการบริษัทขึ้นมาใหม่ โดยหน้าที่ดังกล่าวอ้างอิงจากบันทึกของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเรื่องการเรียกประชุมกรรมการในกรณีที่ไม่มีประธานหรือมีแต่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ และดำเนินการในกรณีที่ตำแหน่งกรรมการว่างลงจนไม่ครบองค์ประชุม ตาม พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีผู้ถือหุ้นเสนอชื่อผู้ที่เหมาะสมได้รับการคัดเลือกเป็นคณะกรรมการบริษัทเข้ามาทั้งหมด 14 ราย โดยมาจากกลุ่มเทพผดุงพร หรือเจ้าของธุรกิจกะทิชาวเกาะ จำนวน 7 ราย และมาจากกลุ่ม นายทวิช เตชะนาวากุล หรือเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่งทั้งหมด 6 ราย และที่เหลืออีก 1 ราย มาจากบุคคลไม่ทราบฝ่าย
ส่วนกลุ่มของผู้บริหารชุดเดิม หรือ นายวิชัย ถาวรวัฒนยงค์ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร IFEC ได้ส่งผู้เข้าร่วมชิงตำแหน่งกรรมการบริษัทมาจำนวนกว่า 60 ราย แต่ถูกตัดชื่อออกทั้งหมดเนื่องจากส่งเอกสารไม่ครบถ้วน
นายฉัตรณรงค์ กล่าวว่า หากรายชื่อผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อมาทั้งหมด 14 รายกรอกเอกสารให้ความยินยอมที่จะให้บริษัทเข้าไปตรวจสอบข้อมูล หรือประวัติของแต่ละรายเรียบร้อยแล้ว บริษัทจะส่งรายชื่อทั้งหมดเพื่อที่จะให้คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พิจารณาถึงความเหมาะสมอีกครั้งก่อนที่จะนำรายชื่อที่เหลือเข้าในที่ประชุมผู้ถือหุ้น IFEC ลงคะแนนเสียงเลือกคณะกรรมการชุดใหม่ต่อไป
สำหรับแหล่งเงินทุนที่จะใช้ในการจัดประชุมผู้ถือหุ้นราว 4-5 ล้านบาทจะนำมาจากบริษัทลูก ซึ่งยืนยันว่าจะไม่มีการใช้เงินจากผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อบางรายเพื่อมาดำเนินการ เพราะอาจจะทำให้ถูกมองว่าไม่เป็นกลาง
"กลุ่มกะทิชาวเกาะเป็นกลุ่มใหม่ที่เข้ามา และที่ผ่านมาเราเห็นตลอดว่าเขาเป็นคนใจบุญ เชื่อว่าผู้ถือหุ้นรายย่อยให้การสนับสนุน ผมเองเป็นคนกลางไม่ได้เข้าข้างฝ่ายไหน จะคุยกับใครก็โดนด่าทั้งนั้น ก่อนหน้านี้เราเป็นเหมือนกรรมการบริษัทสัมภเวสีไม่มีที่อยู่ ถูกกีดกัน แต่ตอนนี้เราเคลียร์ปัญหาไปแล้วบางส่วน เชื่อว่าหลังจากนี้จะสามารถดำเนินการต่างๆ ได้และนำไปสู่งการคัดเลือกกรรมการคนใหม่"นายฉัตรณรงค์ กล่าว
นายฉัตรณรงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากกระบวนการคัดเลือกกรรมการชุดใหม่แล้วเสร็จคาดว่าบริษัทจะสามารถปลดเครื่องหมายห้ามการซื้อขาย (SP) ภายในระยะเวลา 4-6 เดือน โดยกระบวนการที่ต้องดำเนินการหลังจากคัดเลือกกรรมการแล้วจะต้องใช้ระยะเวลา 14 วันในการนำรายชื่อคณะกรรมการชุดใหม่ไปขึ้นทะเบียนกับกรมธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกกรรมการตรวจสอบ กรรมการอิสระ ตามเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) รวมไปถึงแต่งตั้งฝ่ายบริหาร โดยคาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ในเดือน เม.ย.-พ.ค.62
ส่วนการยื่นแผนฟื้นฟูกิจการ IFEC ของกลุ่มเจ้าหนี้ มองว่าจะไม่กระทบต่อการคัดเลือกคณะกรรมการ เนื่องจากคณะกรรมการทั้ง 2 รายที่เหลืออยู่จะเข้ายื่นเรื่องคัดค้านคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ซึ่งศาลล้มละลายกลางจะนัดไต่สวนคำร้องนัดแรกในวันที่ 29 ต.ค.นี้ โดยส่วนตัวมองว่าบริษัทยังสามารถบริหารงานได้เนื่องจากปัจจุบันบริษัทมีสินทรัพย์มากกว่าหนี้สิน โดย ณ สิ้นปี 60 บริษัทมีสินทรัพย์ 1.4 หมื่นล้านบาท และมีหนี้สินอยู่ 8 พันล้านบาท
นายฉัตรณรงค์ ยังตั้งข้อสังเกตุว่าเจ้าหนี้ที่ยื่นขอฟื้นฟูมีความสัมพันธ์กับกลุ่มผู้บริหารชุดเดิม และแต่งตั้งให้นายศุภนันท์ ฤทธิไพโรจน์ เป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูหนี้ ซึ่งถือเป็นบุคคลที่ถูก ก.ล.ต. ถูกกล่าวโทษและให้ออกจากตำแหน่ง ขัดกับหลักการณ์ของผู้ร้องว่าผู้บริหารชุดเดิมไม่สามารถบริหารจัดการหนี้ได้ ดังนั้น จึงอาจจะเป็นปมปัญหาสำหรับ IFEC