KBANK ตั้งเป้าสินเชื่อปี 62 โต 6.5-7% จากปีนี้เป้าโต 5-7% เน้นการโตจากสินเชื่อรายย่อยและรายใหญ่

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday October 10, 2018 15:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า แผนการดำเนินงานในปี 62 จะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการธนาคารในปลายเดือน ต.ค.ที่จะถึงนี้ โดยได้วางแผนไว้เบื้องต้นเกี่ยวกับการขยายตัวของสินเชื่อในปี 62 ซึ่งตั้งเป้าเติบโต 6.5-7% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเป้าหมายปีนี้ที่ตั้งเป้าสินเชื่อเติบโต 5-7% โดยที่ปัจจัยสนับสนุนต่อการขยายตัวของสินเชื่อในปี 62 ส่วนใหญ่จะมาจากสินเชื่อภาคธุรกิจขนาดใหญ่ที่ประเมินว่าการลงทุนต่าง ๆ เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะโครงการลงทุนของภาครัฐที่จะเป็นตัวกระตุ้นให้การลงทุนต่าง ๆ ตามมา ซึ่งส่งผลต่อความต้องการใช้สินเชื่อของภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ขณะเดียวกันธนาคารยังคงเดินหน้ารุกกลุ่มสินเชื่อรายย่อยต่อเนื่อง เพราะธนาคารยังเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อรายย่อยได้อีกมาก เนื่องจากปัจจุบันธนาคารมีสัดส่วนสินเชื่อรายย่อยน้อยที่สุดในพอร์ตที่ 24% ของพอร์ตสินเชื่อรวม ซึ่งจะเน้นไปที่กลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่ยังคงฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่อง จากยอดขายรถยนต์ที่ดีขึ้น และมีรถยนต์ที่ทยอยครบกำหนดจากมาตรการรถยนต์คันแรก พร้อมกับการรุกสินเชื่อส่วนบุคคลในช่องทาง K PLUS ที่ใช้เทคโนโลยี AI มาช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลของลูกค้าและพิจารณาความสามารถในการให้สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อบ้านจะเน้นไปที่กลุ่มลูกค้ารีไฟแนนซ์

ด้านสินเชื่อเอสเอ็มอีในปีหน้าธนาคารจะไม่เน้นการขยายตัวมากนัก เพราะสัดส่วนสินเชื่อของกลุ่มเอสเอ็มอีในพอร์ตของธนาคารอยู่ในระดับสูงที่ 37% ของพอร์ตสินเชื่อรวม และเกือบถึงระดับเพดานนโยบายของธนาคาร ทำให้ธนาคารไม่มีความจำเป็นมากที่จะรุกตลาดสินเชื่อเอสเอ็มอีอย่างมากในปี 62 และหันไปเน้นในกลุ่มสินเชื่ออื่น ๆ แทน แต่ธนาคารไม่ได้กังวลในเรื่องคุณภาพหนี้ของกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอี จนทำให้ชะลอการเติบโตของสินเชื่อเอสเอ็มอีลง โดยที่แนวโน้มคุณภาพหนี้ของลูกค้าเอสเอ็มอีเริ่มทรงตัวและแทบไม่มีหนี้เสียใหม่เกิดขึ้น

โดยการเติบโตของสินเชื่อแต่ละกลุ่มของธนาคารในปี 62 วางแผนไว้เบื้องต้น ดังนี้ สินเชื่อรายย่อย ตั้งเป้าเติบโต 6% สินเชื่อเอสเอ็มอี ตั้งเป้าเติบโตไม่เกิน 4% และสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ ตั้งเป้าเติบโต 6% และในปัจจุบันสัดส่วนสินเชื่อในพอร์ตสินเชื่อของธนาคาร แบ่งเป็น สินเชื่อรายย่อย 27% สินเชื่อเอสเอ็มอี 37% และสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ 34%

สำหรับผลกระทบของรายได้ค่าธรรมเนียมในปี 62 ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาแต่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากขึ้นกว่าปีนี้ เพราะในปี 62 จะได้รับผลกระทบจากการยกเลิกค่าธรรมเนียมการโอนเงินและชำระบิลผ่านช่องทางดิจิทัลเต็มปี ซึ่งอยู่ระหว่างการประเมินว่ารายได้ค่าธรรมเนียมจะทรงตัวหรือลดลงจากปีนี้หดตัว 6-8% เพราะธนาคารอยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางหารายได้อื่นๆเข้ามาชดเชย ซึ่งอาจจะเป็นการพิจารณาให้ทางบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย มีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆออกมานำเสนอแก่ลูกค้ามากขึ้น ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณา

ด้านแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในปี 62 มองว่าจะมีแนวโน้มทรงตัวหรือดีขึ้นเล็กน้อยจากสิ้นปีนี้ที่ธนาคารจะควบคุมให้ไม่เกิน 3.3-3.4% ซึ่งแนวโน้มของ NPL เริ่มดีขึ้นตามลำดับ และไม่ค่อยมีหนี้เสียที่เกิดขึ้นใหม่ออกมา โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีที่เริ่มเห็นสัญญาณของคุณภาพหนี้ที่ดีขึ้น ทำให้แนวโน้มของ NPL ในปีหน้าจะมีทิศทางที่ดี

สำหรับมาตรการควบคุมการปล่อยสินเชื่อบ้านหลังที่ 2 และบ้านราคาตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ลดวงเงินการให้สินเชื่อ (LTV) เป็น 80% ของมูลค่าบ้าน จากเดิมที่ 90% ของมูลค่าบ้าน ธนาคารมองว่าผลกระทบที่ส่งมาถึง KBANK คงมีเล็กน้อย เนื่องจากการปล่อยสินเชื่อบ้านของธนาคารเน้นจับกลุ่มลูกค้าที่ซื้อบ้านหลังแรกเป็นหลัก และไม่มีนโยบายที่จะไปเน้นกลุ่มลูกค้าบ้านหลังที่ 2 ซึ่งจากที่เห็นในพอร์ตสินเชื่อบ้านของธนาคารส่วนใหญ่กว่า 90% เป็นกลุ่มลูกค้าที่กู้ซื้อบ้านหลังแรก และยังคาดว่าสินเชื่อบ้านในปีนี้จะยังเติบโตได้ตามเป้าหมาย

นายพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ KBANK กล่าวถึงงบลงทุนด้านไอทีของ KBANK ในปี 62 ตั้งงบลงทุนไว้เบื้องต้น 7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีนี้ที่ตั้งงบไว้ 5 พันล้านบาท โดยการลงทุนด้านไอทีของธนาคารจะเน้นไปที่การพัฒนาประสิทธิภาพของความปลอดภัยในการใช้งาน (Security) และการเพิ่มความสามารถในการรองรับปริมาณการทำธุรกรรมให้มากขึ้น (Capacity) โดยที่ K PLUS จะสามารถรองรับการทำธุรกรรมในปี 62 เพิ่มเป็น 50,000 รายการ/วินาที จากในเดือนต.ค.นี้ที่สามารถรองรับการทำธุรกรรมได้ 10,000 รายการ/วินาที พร้อมกับการพัฒนาบริการอื่นๆเพื่อทำให้ K PLUS มีบริการที่ตอบโจทย์ลูกค้าที่หลากหลายมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ