IRPC ดันแผนลงทุนปิโตรเคมีกว่า 1.5 พันล้านดอลล์-ผลิตเอทานอลต่อยอดธุรกิจ

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday January 3, 2008 11:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          บมจ.ไออาร์พีซี(IRPC)เตรียมลงทุนขยายธุรกิจปิโตรเคมีใช้งบไม่ต่ำกว่า 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อเป็นส่วนต่อยอดธุรกิจรองรับโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นน้ำมัน คาดเสนอคณะกรรมการบริษัทเพื่ออนุมัติแผนภายในกลางปี 51 ระบุแหล่งเงินทุนไม่มีปัญหา แต่จังหวะการลงทุนขึ้นอยู่กับผู้บริหารตัดสินใจอีกครั้ง เนื่องจากขณะนี้ราคานาฟทาอยู่ในระดับสูง อาจยังต้องเน้นทำรายได้จากนาฟทาก่อน
ขณะเดียวกันได้ศึกษาลงทุนผลิตเอทานอล ขนาด 1 ล้านตัน/ปี คาดใช้เงินลงทุนไม่เกิน 2 พันล้านบาท หวังต่อยอดธุรกิจและช่วยผลักดันราคามันสำปะหลังให้กับเกษตรกร สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชนบริเวณโรงงาน ซึ่งน่าจะสรุปแผนงานได้ภายในปลายปีนี้
IRPC ตั้งเป้าหมายว่าในปี 52 ทั้งรายได้และกำไรจะเติบโตโดดเด่นรับผลดีจากการประหยัดค่าใช้จ่ายได้ราว 3 พันล้านบาท/ปี หลังจากโรงไฟฟ้าสร้างเสร็จ รวมทั้งโครงการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในกระบวนการผลิตที่มีบริษัท เชลล์ โกลบอล โซลูชั่น ที่เข้ามาเป็นที่ปรึกษาแล้วเสร็จ ซึ่งจะทำให้ค่าการกลั่นเพิ่มอีก 1.40 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และหลังปี 55 ผลประกอบการจะยิ่งดีขึ้น เพราะค่าการกลั่นรวมจะเพิ่มอีก 3-4 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
ส่วนปี 50 คาดกำไรก่อนหักดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่าย(EBITDA)จะได้เกินกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท และปี 51 ตั้งเป้า EBITDA ที่ 1.2 หมื่นล้านบาท
*คาดค่าการกลั่นเพิ่มอีก 3-4 เหรียญหลังโครงการปรับปรุงฯเสร็จ
นายปิติ ยิ้มประเสริฐ กรรมการผู้จัดการใหญ่ IRPC เปิดเผยว่า ในช่วงปี 50-55 บริษัทมีงบลงทุน 1.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยโครงการใหญ่ ได้แก่ โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นน้ำมัน มูลค่าเงินลงทุน 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ และ โครงการสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 200 เมกะวัตต์ ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงใช้งบ 200 ล้านเหรียญสหรัฐ
สำหรับโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นน้ำมันจะทำให้มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 2.6 แสนบาร์เรล/วัน จากปัจจุบันมีกำลังการกลั่นอยู่ที่ 1.9 แสนบาร์เรล/วัน กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นกว่า 30% คือได้ทั้งปริมาณและคุณภาพเพิ่ม ก็จะส่งผลให้รายได้ดีขึ้น เริ่มรับรู้รายได้ตั้งแต่ปี 55
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างศึกษาและออกแบบตามมาตรฐานยูโร 4 และคาดว่าจะสามารถเลือกผู้รับเหมาได้ในเดือนก.ค.51 จะก่อสร้างเป็น 2 เฟสที่จะทำขนานกันไป โดยใช้เวลาระยะก่อสร้าง 4 ปี คาดก่อสร้างเสร็จในปี 54 และเริ่มเดินเครื่องได้เต็มที่ในปี 55
"การปรับปรุงโรงกลั่นครั้งนี้ จะทำให้ได้น้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล หรือน้ำมันที่มีคุณภาพมากขึ้น ซึ่งเป็นสินค้าที่มีราคาดี ถ้าเราทำอย่างนี้ ก็จะทำให้ค่าการกลั่น(GRM)เพิ่มชึ้นอีก 3-4 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากขณะนี้ค่ากลั่นเฉลี่ย 11 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล" นายปิติ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
ในไตรมาส 3/50 ค่าการกลั่นรวม(Integrated GRM)เพิ่มสูงขึ้นอยู่ที่ 11.68 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จาก 10.27 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ในไตรมาส 3/49
*เตรียมขยายลงทุนปิโตรเคมี
กรรมการผู้จัดการใหญ่ IRPC กล่าวว่า จากผลของโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่น บริษัทจะมีนาฟทาเหลือ ประมาณ 1 ล้านตันต่อปี จึงมีแผนจะลงทุนขยายธุรกิจปิโตรเคมีขึ้นมารองรับ เพื่อใช้นาฟทาเป็นวัตถุดิบ คาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มอีกประมาณ 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าจะเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทได้ภายในกลางปี 51
อย่างไรก็ตาม ระยะนี้ราคานาฟทาในตลาดปรับตัวสูงขึ้นไปถึง 800 เหรียญสหรัฐ/ตัน และมีแนวโน้มจะปรับขึ้นไปอีกในช่วง 3 ปีนี้ เพราะจำนวนโรงกลั่นน้ำมันลดลง และมีโอกาสที่นาฟทาจะขาดตลาด บริษัทจึงยังไม่สรุปว่าจะลงทุนเมื่อไร รอดูสถานการณ์
"เราก็ต้องคิดแล้วว่าจะนำนาฟทาไปทำอะไร คาดว่าจะเสนอบอร์ดไม่เกินกลางปีหน้า คืออยากให้มีความแน่นอน ...ผมคิดว่า เราคงจะเสนอว่าโปรเจคท์เป็นอย่างนี้ แต่ลงไม่ลงเราขอเป็นสิทธิของผู้บริหาร ขอเป็นหลักการไว้ก่อน เพราะว่าถ้าขืนขอไปขอมาไม่ทัน เพราะต้องผ่านกระบวนเข้าที่ประชุมผู้ถือหุ้น โดยให้ฝ่ายบริหารเป็นคนตัดสินใจจังหวะการลงทุน" นายปิติ กล่าว
นายปิติ เชื่อว่า บริษัทไม่มีปัญหาในการหาแหล่งเงินทุน โดยจะนำมาจากผลกำไรในการดำเนินงาน ซึ่งตั้งเป้ามี EBITDA ปีละ 1.2 หมื่นล้านบาท รวม 5 ปีได้ 6 หมื่นล้านบาท แต่คาดว่าจะใช้แหล่งเงินกู้ 30-50% หรือเกิน 800 ล้านเหรียญสหรัฐ เพราะต้องสำรองเงินสดที่ได้จากการดำเนินงานไว้จ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น
"เราเชื่อว่าเราจะหาเงินได้ เราเชื่อว่าเราจะหาได้จาก EBITDA ที่เป็น เงินสด 5 ปีก็เป็น 6 หมื่นล้านบาท หรือ 2 พันล้านเหรียญแล้ว เราคงกู้บางส่วน มองไว้ 30 —50% เรายังมีความาสามารถกู้เงินได้อยู่ D/E เราอยู่ที่ 0.1 เท่า ถือว่าต่ำมาก ยังมีอำนาจการต่อรองอีกเยอะ ตอนนี้เงินสดเราเหลือเฟือ ขณะนี้มีเงินสดอยู่ประมาณ 1.2-1.4 หมืนล้านบาท เป็นผลจากผลประกอบการดีขึ้น และเครดิตไลน์เราดี"
ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้ารักษาอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน(D/E)ไม่เกิน 1 เท่า หรืออย่างน้อย 0.5 เท่า
นอกจากนี้ IRPC ยังมีโครงการที่นำของเสียจากการกลั่นนำกลับมาใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ต่อ คาดว่าจะใช้เงินลงทุน 600 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งสองโครงการนี้อยู่นอกเหนืองบลงทุนช่วง 5 ปี
โครงการนี้เดิมเป็นโครงการที่บมจ.ไทยออยล์(TOP) ได้ศึกษาไว้ มีอัตราผลตอบแทน (IRR) ประมาณ 20% ต่อปี ทั้งนี้เป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่น ซึ่งจะนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ ถือเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
*ศึกษาลงทุนเอทานอล ได้ข้อสรุปปลายปี 51
นายปิติ กล่าววว่า บริษัทเพิ่งเข้าศึกษาโครงการผลิตเอทานอลเป็นโครงการเดิมที่ TOP มีแผนจะทำ โดยจะมีกำลังการผลิต 1 ล้านลิตร/ปี คาดใช้เงินลงทุนไม่เกิน 2 พันล้านบาท โดยใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบ ซึ่งจะช่วยดึงราคาและผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น เพราะโรงงานที่ระยองยังมีพื้นที่ขยายได้ ขณะนี้รอฝ่ายแผนศึกษา คาดใช้เวลาประมาณ 6-9 เดือน ซึ่งจะได้ผลการศึกษาประมาณปลายปี 51
"ถามจริงทำพวกนี้ ผลทางเศรษฐศาสตร์ ไม่มาก แต่ได้ผลทางสังคมเยอะ คือโครงการทำกำไรได้ไม่เยอะ แต่มันช่วยเกษตรกรได้เยอะ ซึ่งเราหวังว่า Social Benefit สูง น่าจะดีขึ้น ภาพลักษณ์องค์กรดีขึ้นด้วย คือ บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างเราต้องทำอะไรสักอย่าง เพื่อช่วยชุมชน"กรรมการผู้จัดการใหญ่ IRPC กล่าว
เหตุผลที่ใช้มันสำปะหลังเพราะมองว่าจะมีผลผลิตป้อนเข้าโรงงานได้สม่ำเสมอ โดยจะใช้มันสำปะหลังประมาณ 7-8 แสนตัน/ปี ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ราคามันสำปะหลังปรับสูงขึ้น ทั้งนี้ คาดได้ผลตอบแทนจากการลงทุน 15% ต่อปี และหากความนิยมในการใช้น้ำมัน E20 มีมากก็จะยิ่งส่งผลดีต่อแนวโน้มโครงการผลิตเอทานอล
*เชื่อปี 52 เริ่มเห็นกำไรโดดเด่น
นายปิติ กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าปี 51 EBITDA ไว้ 1.2 หมื่นล้านบาท และคาดยังคงปริมาณกลั่น 1.9 แสนบาร์เรล/วัน บนสมมติฐานคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 65-70 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จาก 60-65 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในปี 50 และคาดว่าราคาน้ำมันจะปรับขึ้นไปอีก
ส่วนปี 50 คาดว่า EBITDA จะสูงเกินที่ตั้งเป้าไว้ 1.2 หมื่นล้านบาท เนื่องจาก 9 เดือนที่ผ่านมาก็เกินเป้าแล้ว โดยอยู่ที่กว่า 1.3 หมื่นล้านบาท เป็นผลจากการบริหารจัดการ รวมถึงการจัดการทรัพย์สินได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“เรามีการบริหารจัดการที่ดี เลือดไม่ไหล เราหยุดเลือดได้"นายปิติ กล่าว
นอกจากนี้ ก็ยังมีโครงการที่บริษัทได้ว่าจ้างบริษัท เชลล์ โกลบอล โซลูชั่น เข้ามาเป็นที่ปรึกษาในฐานะบริษัทผู้เชี่ยวชาญเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในกระบวนการผลิตปิโตรเลียม และปิโตรเคมี ในปลายปี 51 จะเห็นผลที่ค่าการกลั่นดีขึ้นประมาณ 70% ต่อบาร์เรล หรือ 0.70 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งจะช่วยเพิ่มกำไรขึ้นประมาณ 1 พันล้านบาท
และปลายปี 52 ก็จะมีค่าการกลั่นเพิ่ม 1.40 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จะเพิ่มกำไรให้ประมาณ 2 พันล้านบาท ทั้งนี้โครงการนี้มีอายุ 2 ปี
"ปี 52 โรงไฟฟ้าสร้างเสร็จ เชลล์เสร็จ ผลประกอบการจะดีขึ้นอีกเยอะ ขึ้นอยู่กับราคาน้ำมัน จะทำให้กำไรเราโตอย่างชัดเจน เพราะเราผลิตไฟฟ้าได้เอง save cost ไปได้ 2-3 พันล้านบาท" นายปิติ กล่าว
ทั้งนี้ ในปีหน้าประเมินว่าจะใช้งบลงทุนประมาณ 9 พันล้านบาท ได้แก่ โครงการสร้างโรงไฟฟ้า, โครงการขุดลอกท่าเรือ ใช้งบ 40 ล้านเหรียญสหรัฐ และการลงทุนบางส่วนของการปรับปรุงคุณภาพโรงกลั่น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ