โบรกเกอร์แนะนำ"ซื้อ"หุ้น บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) คาดกำไรปกติในไตรมาส 3/61 ฟื้นจากไตรมาส 2/61 แต่ลดลงจากไตรมาส 3/60 เนื่องจากต้องตั้งสำรองด้อยค่าสินทรัพย์โรงงานแซลมอนในสก๊อตแลนด์ที่ขาดทุนในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งหากยังขายไม่ได้และต้องปิดโรงงานก็จะมีค่าใช้จ่ายชดเชยพนักงานในไตรมาส 4/61 อย่างไรก็ดี ต้นทุนในไตรมาส 3/61 ลดลงตามราคาปลาทูน่า
ขณะที่ผลงานทั้งปี 61 คาดว่ากำไรสุทธิลดลงกว่า 50% จากปี 60 เพราะปีนี้บริษัทต้องบริหารจัดการธุรกิจที่ไม่ทำกำไรไปและมีการตั้งสำรองค่าใช้จ่ายทางกฏหมายจากคดีต่อต้านการผูกขาดและคดีอื่นๆ ของ Chicken of the Sea รวมทั้งกรณีของสำรองด้อยค่าการปิดโรงงานแซลมอนในสก๊อตแลนด์ แต่ทั้งหมดจะส่งผลดีในระยะยาวและช่วยหนุนให้ผลประกอบการในปี 62 พื้นตัวขึ้น โดยคาดว่าจะมีกำไรสุทธิเติบโตไปที่ 5.4-5.6 พันล้านบาท
นอกจากนี้ราคาหุ้น TU ที่ปรับตัวลงรับข่าวร้ายไปมากแล้ว เป็น Upside ที่เหมาะเข้าลงทุน
ราคาหุ้น TU ปิดภาคเช้าวันนี้ที่ 16.00 บาท ลดลง 1.84% ขณะที่ดัชนี SET ปรับตัวลง 2.71%
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น) หยวนต้า ซื้อ 20.60 ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี ซื้อ 20.60 เมย์แบงก์กิมเอ็งฯ ซื้อ 20.60 ฟินันเซีย ไซรัส ซื้อ 20.00 ฟิลลิปฯ ซื้อ 19.30 ทรีนิตี้ ซื้อเก็งกำไร 18.00
นางสาวสุทธาทิพย์ พีรทรัพย์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัย บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง(ประเทศไทย) กล่าวว่า แนวโน้มผลประกอบการของ TU ในไตรมาส 3/61 จะปรับตัวดีขึ้นทั้งเทียบกับไตรมาส 2/61 (QoQ) และไตรมาส 3/60 (YoY) โดยเฉพาะผลการดำเนินงานไม่รวมรายการพิเศษที่คาดว่าดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพราะเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่น และต้นทุนปลาทูน่าลดลง อีกทั้งบริษัททยอยปรับราคาขายสินค้าที่มีแบรนด์
แต่มีรายการพิเศษในไตรมาส 3/61 ที่จะมีการด้อยค่าสินทรัพย์จากการปิดโรงงานแซลมอนที่ประเทศสก๊อตแลนด์(Edinburgh Salmon Company : ESCo) หลังจากประสบผลขาดทุนในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 60 ขาดทุน 200 ล้านบาท เพราะเสียลูกค้าหลักไป ทำให้การใช้กำลังการผลิตไม่คุ้มทุน จึงตัดสินใจปิดโรงงาน
ทั้งนี้ คาดว่า TU จะตั้งด้อยค่าทรัพย์สินดังกล่าว จำนวน 500 ล้านบาท ซึ่งเป็นการบันทึกทางบัญชี ทำให้คาดการณ์กำไรสุทธิ (รวมด้อยค่า) ไตรมาส 3/61 อยู่ที่ราว 1,037 ล้านบาท ลดลง 40% จากไตรมาส 3/60 ซึ่งมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน แต่เติบโตจากไตรมาส 2/61 ที่มีกำไร 10 ล้านบาท
ขณะที่คาดการณ์กำไรปกติปี 61 อยู่ที่ 4,770 ล้านบาท ลดลง 12% จากปีก่อน เพราะไตรมาสแรกมีต้นทุนสูงตามราคาทูน่าที่อยู่ในระดับสูง แต่ขณะนี้ปรับลดลงและมีเสถียรภาพมากขึ้น นอกจากนั้น ในไตรมาส 2/61 บริษัทตั้งสำรองค่าใช้จ่ายทางกฏหมายจากคดีต่อต้านการผูกขาดและคดีอื่นๆ ของ Chicken of the Sea จำนวน 44 ล้านเหรียญหสรัฐ และไตรมาส 3/61 มีค่าใช้จ่ายด้อยค่าสินทรัพย์ของโรงงานแซลมอนในสก๊อตแลนด์
นางสาวสุทธาทิพย์ คาดว่าผลประกอบการของ TU จากนี้น่าจะดีขึ้นหลังจากที่ปิดโรงงานแซลมอนที่สก๊อตแลนด์ และหมดกังวลประเด็นคดีต่อต้านการผูกขาดของ Chicken of the Sea แล้ว และแนวโน้มราคาทุน่าก็ไม่สูง ดังนั้นคาดการณ์ว่ากำไรปกติในปี 62 จะเพิ่มขึ้นมา 17% มาที่ 5,600 ล้านบาท
นางสาวนารี อภิเศวตดานต์ นักวิเคราะห์การลงทุนด้านหลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) กล่าวว่า ผลประกอบการในไตรมาส 3/61 ของ TU ไม่ค่อยดี แม้ว่าธุรกิจจะดีขึ้นเพราะเป็นช่วงไฮซีซั่น กำลังการผลิตดีขึ้น ทำให้ภาพรวมดี แต่มีภาระการด้อยค่าสินทรัพย์จากการปิดโรงงานแซลมอนในสก๊อตแลนด์ราว 485 ล้านบาท กดดันให้กำไรสุทธิลดลงมาที่ 710 ล้านบาท ลดลง 59% จากไตรมาส 3/60 ที่มีกำไร 1,737 ล้านบาท แต่ฟื้นตัวจากไตรมาส 2/61
นอกจากนั้น หากขายกิจการโรงงานแซลมอนไม่ได้จะมีค่าใช้จ่ายชดเชยพนักงานอีกจำนวนหนึ่งในไตรมาส 4/61 แต่คาดว่าจะไม่มีค่าใช้จ่ายมาก
อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้น TU ได้รับรู้ข่าวไปมากแล้ว โดยมองว่าธุรกิจในปีนี้จะรับผลกระทบหลายปัจจัยกดดันกำไรสุทธิ ประเมินกำไรสุทธิ 2,564 ล้านบาท ลดลง 57% จากปี 60 ที่มีกำไรสุทธิ 6,021 ล้านบาท และในปี 62 คาดว่าธุรกิจน่าจะดีขึ้น ประเมินกำไรสุทธิที่ 5,408 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 111% อย่างไรก็ตาม เมื่องบการเงินไตรมาส 3/61 ประกาศออกมาในช่วงต้นเดือน พ.ย.นี้ก็จะเห็นภาพทิศทางธุรกิจในปีหน้าชัดเจนขึ้น
ด้าน บล.หยวนต้า คาดกำไรปกติของ TU ในไตรมาส 3/61 ที่ 1,213 ลบ. (+13.2% QoQ, +5.0% YoY) แต่ในไตรมาสนี้มีการปิดโรงงานแซลมอนที่สก๊อตแลนด์ เพราะขาดทุนต่อเนื่องตั้งแต่ปี 59 ทำให้อาจต้องตั้งสำรองด้อยค่าของค่าความนิยม และสินทรัพย์ถาวรรวมราว 600 ล้านบาท รวมถึงรายได้อื่นๆ ที่ไม่ใช่การดำเนินงานหลักราว 200 ล้านบาท จะกระทบกำไรสุทธิอยู่ที่ 813 ลบ.อย่างไรก็ตาม การตั้งสำรองดังกล่าวเป็นเพียงรายการทางบัญชีไม่กระทบต่อกระแสเงินสดและการจ่ายเงินปันผล แต่ในทางกลับกันเป็นบวกในระยะยาวเพราะไม่ต้องแบกขาดทุนอีกต่อไป (ปัจจุบันขาดทุนราว 200 ลบ./ปี)
TU อยู่ระหว่างการจำหน่ายโรงงานแซลมอนดังกล่าว หากจำหน่ายได้ภายในไตรมาส 4/61 จะเป็นบวกต่อกำไรสุทธิ เพราะจะมีการกลับรายการที่ตั้งสำรองไว้ในไตรมาส 3/61 แต่จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับราคาที่จำหน่ายได้ แต่หากจำหน่ายไม่ได้อาจมีการบันทึกค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับผลประโยชน์การเลิกจ้างพนักงานราว 150-200 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายการที่กระทบเงินสดของบริษัท แต่ไม่กระทบสภาพคล่องบริษัท
ในช่วงปี 60-61 ผลประกอบการของ TU เต็มไปด้วยรายการพิเศษจากการล้างปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการตั้งสำรองคดีฟ้องร้องที่มีมูลค่าสูง การปิดธุรกิจที่ไม่ทำกำไรทำให้มีการตั้งสำรองจำนวนมาก แต่ตั้งแต่ปี 62 เป็นต้นไป ผลประกอบการของ TU จะลดความผันผวนจากรายการพิเศษ บนผลประกอบการกลับมาเติบโตสูงจากทุกกลุ่มธุรกิจ บางกลุ่มเติบโตด้านรายได้ เช่น กลุ่มกุ้ง และแซลมอน บางกลุ่มมาร์จิ้นเพิ่มขึ้นได้อีกอย่างกลุ่มทูน่า และอาหารสัตว์
ดังนั้น ราคาหุ้นที่อ่อนตัวลงมาจากประเด็นการตั้งสำรองต่างๆ เป็นโอกาสในการสะสมสำหรับการลงทุนระยะกลางขึ้นไป ราคา ณ ปัจจุบันซื้อขายที่ PER62 ต่ำเพียง 14.0x โดยคงประมาณการกำไรปี 62 ที่ 5,672 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 40.6% จากปี 61