ThaiBMA คาดเอกชนแห่ออกหุ้นกู้ทั้งปี 61 สูงเกินคาด,มองเงินทุนยังไหลเข้าตลาดตราสารระยะยาวต่อเนื่อง

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday October 11, 2018 14:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า มูลค่าการออกและเสนอขายหุ้นกู้ของภาคเอกชนในสิ้นปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 8.8 แสนล้านบาท สูงกว่าประมาณการที่ 7.5 แสนล้านบาท หลังจาก 9 เดือนแรกของปีนี้ภาคเอกชนออกและเสนอขายหุ้นกู้ไปแล้วถึง 8.1 แสนล้านบาท โดยเฉพาะบริษัทเอกชนรายใหญ่หันมาออกหุ้นกู้มากขึ้นเพื่อรองรับการลงทุนในอนาคต

ขณะที่นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการ ThaiBMA กล่าวว่า แนวโน้มของกระแสเงินทุนยังคงเห็นการไหลเข้าในตลาดตราสารหนี้ไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในตราสารระยะยาว ซึ่งกระแสเงินทุนที่ไหลเข้ามาเป็นการไหลออกมาจากตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคแล้วเข้ามาในไทยแทน เนื่องจากนักลงทุนมีความมั่นใจในเศรษฐกิจไทยที่ยังเห็นการเติบโตขึ้น มีทุนสำรองระหว่างประเทศที่แข็งแกร่ง ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุล และมีสัดส่วนหนี้ต่างประเทศที่ต่ำไม่ถึง 2% รวมไปถึงเงินเฟ้อยังอยู่ไนระดับต่ำ

ทั้งนี้ นักลงทุนมองเห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยว่าเป็นประเทศที่เป็นแหล่งลงทุนที่ปลอดภัยเมื่อเทียบกับประเทศเกิดใหม่อื่น แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะยังไม่ปรับเพิ่มขึ้นในปีนี้ก็ตาม โดยที่ปัจจุบันเงินทุนต่างชาติที่เข้ามาในตลาดตราสารหนี้จะอยู่ในตราสารหนี้ระยาวซึ่งมีอายุเฉลี่ยยาวขึ้นเป็น 7.5 ปี จากต้นปีที่ 6.29 ปี

ขณะที่คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะพิจารณากำหนดทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งหลังจากประเมินผลกระทบจากมาตรการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่มีการปรับหลักเกณฑ์ใหม่ เพราะ ธปท.ต้องการให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับต่ำ หลังจากที่ปัจจุบันพบว่ามีการเก็งกำไรและบิดเบือนราคาเกิดขึ้นในบางอุตสาหกรรม จนทำให้ ธปท.ต้องออกมาสกัดกั้นบางกลุ่ม ซึ่งเริ่มจากภาคอสังหาริมทรัพย์

อีกทั้งยังต้องพิจารณาถึงแนวโน้มของเศรษฐกิจสหรัฐฯประกอบด้วย เพราะมีนักวิเคราะห์หลายสถาบันประเมินว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯได้ถึงจุดสูงสุดไปแล้วในปีนี้และจะเริ่มกลับมาถดถอยอีกครั้ง หลังจากที่ในปีนี้ทางการสหรัฐใช้มาตรการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล ทำให้ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนออกมาดีในปีนี้ แต่คาดว่าจะชะลอตัวลงในปีหน้า อีกทั้งการทำสงครามการค้าของสหรัฐฯ แม้ว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ แต่ส่งผลกระทบต่อการค้าโลกและเศรษฐกิจโลกที่จะเห็นผลชัดเจนมากขึ้นในปี 62

โดยที่ประเทศไทยแม้ว่าจะยังไม่เห็นผลกระทบจากสงครามการค้าที่ชัดเจน แต่ก็ยังต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง เพราะมีผลต่อทิศทางเศรษฐกิจในส่วนต่างๆ โดยเฉพาะการส่งออก และอาจกระทบไปถึงภาคการท่องเที่ยวด้วย ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนหลักของเศรษฐกิจไทย แต่อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยถือว่ายังไม่ฟื้นตัวอย่างมีประสิทธิภาพมากนัก คงต้องรอการฟื้นตัวของการบริโภคครัวเรือน และการลงทุนของภาคเอกชนว่าจะเริ่มเห็นการเติบโตอย่างชัดเจนในช่วงใด ทำให้การพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท.จะยังคงต้องดูความเหมาะสมของปัจจัยต่างๆ ก่อน

ส่วนในแง่ของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ (Bond Yield) ที่เพิ่มสูงขึ้นเป็น 3.22% ต่อปี สูงสุดในรอบ 7 ปี มองว่าส่งผลกระทบต่ออัตราผลตอบแทนของพันธบัตรไทยเพิ่มขึ้นเป็น 2.87% ต่อปี เป็นผลกระทบเชิงบวกในทางจิตวิทยาเท่านั้น เพราะแต่ละประเทศต่างมีปัจจัยแตกต่างกันไป ในขณะที่ประเทศไทยนักลงทุนมองว่าเป็นกลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่ยังมีเศรษฐกิจที่เติบโตดี และมีผลกระทบน้อยต่อปัจจัยภายนอกเมื่อเทียบกับประเทศเกิดใหม่อื่นๆ อีกทั้งกระแสเงินทุนที่ไหลเข้าในตลาดตราสารหนี้ไทยแทนการไหลเข้าไปในตลาดหุ้นไทย เพราะตลาดหุ้นไทยราคาปรับตัวไปเพิ่มขึ้นมาสูงมากแล้ว ทำให้มีเงินไหลออกเพื่อรอจังหวะตลาดปรับตัวลดลงและเข้าลงทุนใหม่อีกรอบ ซึ่งอาจจะเป็นแรงที่กดดันต่อดัชนีตลาดหุ้นไทยที่ลดลงแรงในช่วงเช้าวันนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ