นายอารักษ์ สุขสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค (ECF) เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างพิจารณาซื้อหุ้นคืนเรียกความเชื่อมั่น หลังราคาปรับตัวลดลงรุนแรงช่วง 2 วันนี้ แต่ต้องรอหลังประกาศงบการเงินไตรมาส 3/61 ก่อนเพื่อให้มีความโปร่งใส และจะพิจารณาให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ต่างๆด้วย
ทั้งนี้ แนวทางการซื้อหุ้นคืนเป็นไปได้ทั้ง 2 แนวทาง คือ การซื้อในนามบริษัท และการซื้อในนามส่วนตัว
"เรามีแนวคิดที่จะซื้อหุ้นคืนเพื่อเรียกความเชื่อมั่น แต่ต้องรอแจ้งงบก่อน อย่างไรก็ตามหากราคาหุ้นหยุด Panic และกลับไปซื้อขายในระดับก่อนหน้านี้ก็คงจะไม่มีการซื้อคืน ซึ่งเราได้แต่โชว์แผนธุรกิจ แต่ความเชื่อมั่นที่จะกลับมาที่แม้จริงคือผลประกอบการของเราที่จะทำให้ความเชื่อมั่นกลับมาได้มากที่สุดและหลังจากนั้นนักลงทุนก็จะกลับมาเชื่อมั่นและปกติเอง โดยยืนยันว่าธุรกิจดำเนินไปตามแผนทุกประการ โดยผลประกอบการปีนี้ก็จะยังเติบโตต่อเนื่องทำสถิติใหม่ตามเป้าที่ตั้งไว้" นายอารักษ์ กล่าว
นายอารักษ์ กล่าวถึงกระแสข่าวลือที่มีการเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับผู้บริหาร"ซุปเปอร์เทรดเดอร์"เพื่อสร้างราคาหุ้นจนเป็นปัจจัยที่กดดันทำให้ราคาหุ้น ECF ร่วงลงติดฟลอร์เมื่อวานนี้ว่า ยอมรับว่ารู้จักกับนายกระทรวง จารุศิระ ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการ บริษัท ซุปเปอร์เทรดเดอร์ โฮลดิ้ง จำกัด เนื่องจากนายกระทรวงได้มานำเสนอแผนการลงทุนในธุรกิจมาให้พิจารณาเมื่อ 1-2 เดือนก่อนหน้านี้ แต่ไม่ได้มีเรื่องเกี่ยวกับการสร้างราคาหุ้น
"ผมเป็นผู้บริหารไม่ใช่นักเล่นหุ้น และไม่เคยเล่นหุ้น คุณกระทรวง เป็นเพียงตัวกลางที่นำดีลการลงทุนมาเสนอ ซึ่งก็รับพิจารณา เหมือนอีกหลายคนที่นำธุรกิจมานำเสนอ เพราะผมรู้จักคนเยอะ"นายอารักษ์ กล่าว
ส่วนการเข้ามาถือหุ้น ECF ของตระกูล"จารุศิระ"นั้นบิดาของนายกระทรวงได้เข้ามาทำรายการซื้อหุ้น ECF บิ๊กล็อตช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย.ที่ผ่านมา จากบิดาของตนเอง คือนายวัลลภ สุขสวัสดิ์ ผ่านการแนะนำของนายชาลี สุขสวัสดิ์ ผู้เป็นพี่ชาย
"ถือว่าครั้งนี้ผมและบริษัทซวย เพราะไปเกี่ยวข้องกับกรณีพิพาทของผู้อื่น ซึ่งได้บอกคนในครอบครัวแล้วว่าควรศึกษาธุรกรรมต่าง ๆ ที่จะกระทบต่อบริษัท เพราะผมเองไม่เล่นหุ้น ไม่เคยซื้อหรือขาย ตั้งแต่เข้าตลาดมาก็ถือหุ้น ECF เพียงบริษัทเดียวและไม่เคยขายออก"นายอารักษ์ กล่าว
สำหรับการดำเนินธุรกิจของ ECF ยังคงตั้งเป้ารายได้เติบโตแตะ 1 หมื่นล้านบาทภายในปี 3-5 ปี (62-66) โดยจะเข้าลงทุนขยายธุรกิจทุกรูปแบบ โดยในวันที่ 9 พ.ย.นี้จะมีการประชุมคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาเข้าซื้อธุรกิจไอทีรายใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 5 ของประเทศ ซึ่งหากดีลลุล่วงจะสนับสนุนผลประกอบการของบริษัทให้เติบโตก้าวกระโดด และในอนาคตก็ตะมีการผลักดันบริษัทดังกล่าวให้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ด้วย
ขณะที่ภายใน 3 ปีบริษัทจะมีสัดส่วนรายได้มาจากธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ 30% ธุรกิจโรงไฟฟ้า 30% ธุรกิจไอที 30% และอื่น ๆ อีก 10% โดยบริษัทยังคงมองหาการเข้าซื้อกิจการและการร่วมลงทุนอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการต่อยอดจากธุรกิจเดิม หรือธุรกิจใหม่ นอกจากนี้บริษัทวางเป้าหมายในระยะยาวจะเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่เข้าลงทุนในหลากหลายธุรกิจ เพื่อสร้างการเติบโตและกระจายความเสี่ยง
ด้านเงินทุนที่จะใช้ในการขยายธุรกิจนั้น จะมาจากใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของ ECF ในรุ่นที่ 2 และ 3 ที่รอการใช้สิทธิแปลงสภาพมูลค่าราว 900 ล้านบาท รวมถึงบริษัทได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการเงินหลายแห่งหากต้องการเงินลงทุน ซึ่งมีศักยถาพในการเข้าลงทุนได้ประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาทต่อรายการ ขณะที่การเพิ่มทุนจะเป็นทางเลือกสุดท้าย