ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ ธนาคารธนชาต (TBANK) ที่ระดับ "AA-" และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ของธนาคารที่ระดับ "A" โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงความเข้มแข็งในธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ตลอดจนฐานทุนและรายได้ที่แข็งแรง แหล่งรายได้ที่หลากหลาย และคุณภาพสินทรัพย์ที่แข็งแกร่งของธนาคาร ถึงแม้ว่าแหล่งเงินทุนจากลูกค้ารายย่อยจะเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่อันดับเครดิตของธนาคารยังคงมีข้อจำกัดเนื่องจากการที่ธนาคารต้องพึ่งพาการระดมทุนผ่านตลาดทุน
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ความแข็งแกร่งในธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ธนาคารธนชาตมีสถานะที่แข็งแกร่งในธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์โดยการมีส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับหนึ่งในธุรกิจดังกล่าวยังคงเป็นจุดแข็งของธนาคาร ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าธนาคารจะยังคงรักษาสถานะผู้นำในธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์เอาไว้ได้ในอีก 2-3 ปีข้างหน้าจากการที่ธนาคารมีความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับนายหน้าซื้อขายรถยนต์ทั่วประเทศ ทั้งนี้ ธนาคารธนชาตและบริษัทย่อยมีส่วนแบ่งทางการตลาดของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์รวมอยู่ที่ระดับ 20.3% ณ เดือนมิถุนายน 2561 จากฐานข้อมูลของทริสเรทติ้ง
จากสถานะในการเป็นธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดกลาง ธนาคารมีส่วนแบ่งทางการตลาดของสินเชื่อและเงินฝากอยู่ในระดับปานกลาง ขนาดสินทรัพย์รวมของธนาคารธนชาตอยู่ที่ระดับ 1,033 พันล้านบาท ณ เดือนมิถุนายน 2561 และมีส่วนแบ่งทางการตลาดของสินเชื่อคิดเป็น 5.6% และส่วนแบ่งการตลาดของเงินฝากคิดเป็น 5.7% ซึ่งจัดอยู่ในอันดับที่ 6 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทย
การปล่อยสินเชื่อของธนาคารยังคงมุ่งเน้นไปที่สินเชื่อสำหรับกลุ่มลูกค้ารายย่อย โดย ณ เดือนมิถุนายน 2561 จำนวน 54.1% ของเงินให้สินเชื่อรวมของธนาคารเป็นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ 71% ของเงินให้สินเชื่อรวมเป็นเงินให้สินเชื่อแก่ลูกค้ารายย่อย 16% เป็นสินเชื่อสำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ และ 11% เป็นสินเชื่อสำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ธนาคารมุ่งเน้นที่จะเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อลูกค้ารายย่อยให้เท่ากับ 75% ภายในปี 2564 โดยจะมาจากสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อลูกค้ารายย่อยอื่น ๆ
มีฐานทุนที่แข็งแรง ธนาคารยังคงรักษาฐานทุนที่แข็งแกร่งมาโดยตลอด ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (Core Equity Tier-I) จะอยู่ที่ระดับ 15%-16% ในอีก 2-3 ปีข้างหน้าซึ่งเพียงพอสำหรับการขยายธุรกิจในระยะปานกลาง อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของของธนาคารเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ 14.8% ณ เดือนมิถุนายน 2561 จาก 13.3% ในปี 2559 ระดับดังกล่าวอยู่ในระดับเดียวกับธนาคารพาณิชย์ไทยอื่น ๆ และสูงกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ 13.3% โดย ณ เดือนมิถุนายน 2561 ธนาคารมีสัดส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของคิดเป็น 78.5% ของเงินกองทุนรวมซึ่งบ่งบอกถึงคุณภาพของเงินทุนในระดับที่เพียงพอ
กำไรจากการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้น ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาธนาคารได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีซึ่งเป็นผลมาจากการควบรวมธนาคารนครหลวงไทย (SCIB) ซึ่งมีส่วนช่วยให้กำไรสุทธิของธนาคารเพิ่มสูงขึ้น ถึงแม้ว่ากำไรสุทธิของธนาคารจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในปี 2561 แต่ทริสเรทติ้งก็คาดว่ากำไรสุทธิของธนาคารในปี 2561 จะอยู่ในระดับเดียวกับในปี 2560 เนื่องจากสิทธิประโยชน์ทางภาษีจะสิ้นสุดลงในไตรมาสที่ 2 ของปี 2561 ซึ่งทำให้ธนาคารจะต้องเริ่มเสียภาษีตามอัตราปกติในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยในปี 2561 ของธนาคารจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 1.4% เทียบกับระดับ 1.5% ในปี 2560
โดยธนาคารมีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2561 ที่ปรับเป็นตัวเลขเต็มปีแล้วอยู่ที่ระดับ 1.6% ทั้งนี้ หากสมมุติฐานอัตราภาษีปกติอยู่ที่ระดับ 20% อัตราส่วนดังกล่าวของธนาคารในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2561 จะอยู่ในระดับเดียวกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ 1.3%
อย่างไรก็ตาม กำไรจากการดำเนินงานของธนาคารเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยเพิ่มขึ้น 19.5% ในปี 2559 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เพิ่มขึ้น 13.1% ในปี 2560 และเพิ่มขึ้น 18.3% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2561 ทั้งนี้ เนื่องจากอัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวมปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 47.3% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2561 จาก 51% ในปี 2559 เทียบกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ 44.1% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2561
โดยรายได้ที่สูงขึ้นและค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่ต่ำลงช่วยทำให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวมของธนาคารลดต่ำลง ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิแบบปรับเป็นตัวเลขเต็มปีของธนาคารตามฐานที่ปรับด้วยความเสี่ยงอยู่ที่ระดับ 2.5% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2561 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ 2.0% โดยต้นทุนทางการเงินที่ต่ำลงช่วยทำให้ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารปรับตัวดีขึ้น
แหล่งรายได้ที่หลากหลาย ธนาคารมีแหล่งรายได้ที่กระจายตัวเนื่องจากธนาคารมีบริษัทย่อยที่ดำเนินธุรกิจค่อนข้างหลากหลายซึ่งช่วยสร้างรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยให้แก่ธนาคาร ธนาคารมีสัดส่วนรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยต่อรายได้รวมอยู่ที่ 30.4% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2561 ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ 35.3% สัดส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อรายได้รวมของธนาคารอยู่ที่ 69.9% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2561 เทียบกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ 64.8%
บริษัทย่อยของธนาคาร เช่น บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน และบริษัทประกันภัยมีส่วนช่วยสร้างรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการซึ่งถือว่าเป็นแหล่งรายได้ที่มีเสถียรภาพยิ่งขึ้นของธนาคาร โดยรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิของธนาคารคิดเป็น 21.5% ของรายได้รวมของธนาคารในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2561 ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ 23.3%
มีคุณภาพสินทรัพย์ที่แข็งแกร่ง ทริสเรทติ้งคาดว่าคุณภาพสินทรัพย์และการตั้งสำรองหนี้สูญของธนาคารจะแข็งแกร่งมากขึ้นจากการที่ธนาคารมีการพัฒนาการบริหารความเสี่ยงอย่างต่อเนื่องและจากสภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ต้นทุนเครดิตของธนาคารลดลงจากจุดสูงสุดที่ 1.2% ในปี 2558 มาสู่ระดับปกติที่ 0.8% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2561 โดยการลดลงของต้นทุนเครดิตของธนาคารสอดคล้องกับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อเงินให้สินเชื่อรวมที่ปรับตัวลดลง เนื่องจากคุณภาพสินทรัพย์ปรับตัวดีขึ้น อีกทั้งธนาคารยังมีนโยบายการตัดหนี้สูญที่จริงจังรวมไปถึงการปรับโครงสร้างหนี้ที่มีปัญหาอีกด้วย
ธนาคารมีอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อเงินให้สินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.2% ณ เดือนมิถุนายน 2561 ถึงแม้ว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ 3.6% แต่ตัวเลขการก่อตัวขึ้นใหม่ของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างช้า ๆ โดยตัวเลขการก่อตัวขึ้นใหม่ของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ซึ่งรวมหนี้สูญตัดบัญชีตามการคำนวณของทริสเรทติ้งเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 1.15% ในปี 2560 จาก 0.78% ในปี 2559 ตัวเลขการก่อตัวขึ้นใหม่ของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2561 อยู่ที่ 0.52% โดยธนาคารมีอัตราส่วนการตั้งสำรองหนี้สูญต่อเงินให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในระดับที่เพียงพอที่ 131.5% ณ เดือนมิถุนายน 2561
การพึ่งพาการระดมทุนผ่านตลาดทุนยังคงเป็นข้อจำกัดทางเครดิตของธนาคาร โดยธนาคารยังคงต้องพึ่งพาตลาดทุนเพื่อระดมทุนซึ่งส่วนหนึ่งเนื่องจากธนาคารมีสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์จำนวนมาก (54.1% ของเงินให้สินเชื่อรวม) และมีเครือข่ายสาขาอยู่ในระดับปานกลาง อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาธนาคารสามารถขยายฐานเงินฝากในบัญชีเดินสะพัดและเงินฝากออมทรัพย์ (Current Account-Savings Account – CASA) ซึ่งถือเป็นตัวบ่งชี้ถึงฐานเงินทุนที่มีเสถียรภาพและต้นทุนต่ำได้แม้ว่าธนาคารจะมีลักษณะธุรกิจและโครงสร้างเงินทุนดังเช่นในปัจจุบัน โดยอัตราส่วนเงินฝากประเภทดังกล่าวต่อเงินฝากรวมเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 45.8% ณ เดือนมิถุนายน 2561 จาก 40.1% ในปี 2558 ส่วนหนึ่งมาจากการเพิ่มขึ้นของเงินฝากจากลูกค้ารายย่อยภายใต้การส่งเสริมการขาย "Ultra Savings" ของธนาคาร
อย่างไรก็ตาม เงินฝากประจำ (37.0% ของเงินฝากรวม ณ เดือนมิถุนายน 2561) และเงินกู้ยืมจากการออกตราสารหนี้ (5.0% ของหนี้สินรวม) ยังคงเป็นส่วนประกอบหลักของโครงสร้างเงินทุนโดยรวมของธนาคาร ทั้งนี้ ความสามารถในการขยายฐานเงินฝากในบัญชีเดินสะพัดและเงินฝากออมทรัพย์พร้อมทั้งต้นทุนทางการเงินที่ต่ำลงของธนาคารจะส่งผลในทางบวกต่ออันดับเครดิตของธนาคาร
อันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามหลักเกณฑ์ Basel III ที่ "A" สะท้อนความเสี่ยงจากการด้อยสิทธิและความเสี่ยงในการไม่จ่ายหนี้ตามเงื่อนไขการรองรับผลขาดทุนเมื่อธนาคารมีผลการดำเนินงานที่ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ตราสารหนี้ดังกล่าวนี้มีคุณสมบัติที่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ Basel III และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2
หุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 คงเหลือของธนาคารประกอบไปด้วย TBANK24DA และ TBANK25NA โดยหุ้นกู้ TBANK24DA นั้นมีลักษณะด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ไม่สามารถเลื่อนชำระดอกเบี้ย และถูกบังคับให้แปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญของธนาคารเต็มจำนวนเมื่อในกรณีที่ทางการเห็นว่าธนาคารไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้และตัดสินใจเข้ามาช่วยเหลือทางการเงินแก่ธนาคาร ส่วนหุ้นกู้ TBANK25NA นั้นมีลักษณะด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ไม่สามารถเลื่อนชำระดอกเบี้ย และมีข้อกำหนดให้สามารถตัดเป็นหนี้สูญ (ทั้งจำนวนหรือบางส่วน) ในกรณีที่ทางการเห็นว่าธนาคารไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้และตัดสินใจเข้ามาช่วยเหลือทางการเงินแก่ธนาคาร
ธนาคารยังสามารถไถ่ถอนตราสารหนี้ทั้ง 2 ชุดดังกล่าวคืนได้ทั้งจำนวนก่อนวันครบกำหนดภายหลังระยะเวลา 5 ปีนับจากวันที่ออกตราสารโดยได้รับความเห็นชอบจาก ธปท. แล้ว ในกรณีนี้ ผู้ถือตราสารประเภทนี้มีสิทธิที่ด้อยกว่าผู้ฝากเงินและผู้ถือหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน
แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าธนาคารธนชาตจะสามารถดำรงสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งในธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ซึ่งเป็นธุรกิจหลักเอาไว้ได้และจะยังคงรักษาฐานทุน ตลอดจนความสามารถในการทำกำไร และคุณภาพสินทรัพย์ที่แข็งแกร่งเอาไว้ได้เช่นกัน
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตอาจปรับเพิ่มขึ้นได้โดยขึ้นอยู่กับความสามารถของธนาคารธนชาตในการยกระดับสถานะทางธุรกิจจากการขยายส่วนแบ่งทางการตลาด รวมทั้งเพิ่มการกระจายตัวของเงินให้สินเชื่อ และเพิ่มความสามารถในการหาแหล่งเงินทุน ในทางกลับกัน สถานะเครดิตของธนาคารอาจได้รับผลกระทบในทางลบหากคุณภาพสินทรัพย์เสื่อมถอยลงหรือสัดส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของของธนาคารอ่อนแอลง