โบรกเกอร์ แนะ"ซื้อ"หุ้น บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) คาดกำไรในไตรมาส 3/61 แข็งแกร่งกว่า 1 หมื่นล้านบาท แม้ว่าจะบันทึกผลขาดทุนการขายแหล่งมอนทาราในออสเตรเลียราว 2.4 พันล้านบาท แต่ภาพรวมยังได้แรงหนุนจากราคาน้ำมันดิบและปริมาณขายเพิ่มขึ้น รวมถึงเงินบาทกลับมาแข็งค่าช่วยลดผลกระทบจากค่าใช้จ่ายภาษีที่เกี่ยวข้องกับอัตราแลกเปลี่ยน
ขณะที่แนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 4/61 ยังดีต่อเนื่องจากราคาน้ำมันที่ยังเดินหน้าปรับตัวขึ้น รวมถึงการขึ้นราคาขายก๊าซธรรมชาติในเมียนมาเมื่อช่วงเดือน ต.ค.ทำให้มีโอกาสที่ผลประกอบการจะทำจุดสูงสุดของปี นอกจากนี้ ยังมีลุ้นผลการประมูลปิโตรเลียมแหล่งบงกชและเอราวัณที่คาดว่าจะรู้ผลอย่างเป็นทางการเดือน ธ.ค.นี้ มองว่า PTTEP มีโอกาสชนะแหล่งบงกช โดยประเมินมูลค่าเพิ่มเฉพาะโครงการบงกช 18-35 บาท/หุ้น
หุ้น PTTEP ปิดภาคเช้าอยู่ที่ 149 บาท เพิ่มขึ้น 1 บาท หรือ 0.68% ขณะที่ดัชนีหุ้นไทย เพิ่มขึ้น 0.12%
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น) เอเอสแอล ซื้อ 158 เอเชีย เวลท์ ซื้อ 170 กสิกรไทย ซื้อ 170 เคทีบี (ประเทศไทย) ซื้อ 167 ดีบีเอส วิคเคอร์สฯ ซื้อ 160 เคที ซีมิโก้ Outperform 162 หยวนต้า (ประเทศไทย) ซื้อเก็งกำไร 150 ทรีนีตี้ ซื้อเก็งกำไร 154
นางวชิราลักษณ์ แสงเลิศศิลปชัย รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เอเชีย เวลท์ กล่าวว่า แนวโน้มกำไรจาการดำเนินงานของ PTTEP ในไตรมาส 3/61 อยู่ที่ระดับ 1.19 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% จากงวดปีก่อน แต่ลดลง 2% จากไตรมาสก่อน โดยกำไรที่เพิ่มขึ้นจากงวดปีก่อนเป็นผลจากปริมาณขายปิโตรเลียมที่เพิ่มขึ้นมาที่ 3.08 แสนบาร์เรล/วัน จากการรับรู้สัดส่วนการลงทุนเพิ่มในแหล่งบงกชอีก 22.22% เป็น 66.66% ตั้งแต่ปลายเดือน มิ.ย.61 รวมถึงคาดการณ์ราคาขายปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบที่ราคาดีมากในไตรมาส 3/61
ขณะที่ในไตรมาสนี้คาดว่าจะรับรู้ผลขาดทุนจากขายหุ้นทั้งหมดในแหล่งมอนทารา ราว 2.4 พันล้านบาท แต่จะชดเชยไปกับรายการพิเศษเกี่ยวกับการกลับรายการผลขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนในไตรมาสก่อน พลิกกลับมาเป็นบวกในไตรมาสนี้ ทำให้รายการพิเศษนี้ไตรมาสนี้คงเหลือติดลบเล็กน้อยราว 260 ล้านบาท แต่ผลการดำเนินงานของ PTTEP เมื่อเทียบต่อไตรมาส กลับมีผลการดำเนินงานลดลงเพราะต้นทุนการผลิตในช่วงครึ่งปีแรกอยู่ในระดับต่ำตามปริมาณการขุดเจาะสำรวจที่ไม่มากนัก
ทั้งนี้ ปรับคำแนะนำการลงทุนสำหรับหุ้น PTTEP เป็น"ซื้อ"จากเดิม"ถือ"หลังปรับประมาณการราคาเป้าหมายเป็น 170 บาท จากเดิม 145 บาท เนื่องจากได้ปรับเพิ่มราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปีนี้เป็น 69 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากเดิมที่ 63 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล หลังราคาน้ำมันดิบได้ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่เดือน ก.ย.และยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง
อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบดูไบในปี 62 น่าจะทรงตัว 68-69 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เนื่องจากความกังวลต่อปัญหาปริมาณน้ำมันที่ลดลงน่าจะเป็นแค่ช่วงสั้น เพราะแม้ว่าสหรัฐฯจะใช้มาตรการคว่ำบาตรอิหร่านตั้งแต่วันที่ 4 พ.ย.นี้ แต่ก็เชื่อว่าจะมีการผลิตปิโตรเลียมจากแหล่งอื่น ๆ ทั้งสหรัฐฯ ซาอุดิอาระเบีย รัสเซีย เข้ามาทดแทน
"ราคาน้ำมันยังทรงตัวระดับสูงทำให้ราคาขายรวมดีขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อ PTTEP แต่ราคาน้ำมันปีหน้าก็มองว่าไม่ได้ขึ้นต่อน่าจะทรง ๆ ถึงขยับลงเล็กน้อยเพราะปัญหา Supply น่าจะเป็นแค่ช่วงสั้น ๆ ก็ reasonable ต่อราคา PTTEP ที่ 170 บาท"นางวชิราลักษณ์ กล่าว
ด้าน บล.เอเอสแอล ระบุในบทวิเคราะห์ว่า แนวโน้มกำไรสุทธิของ PTTEP ในไตรมาส 3/61 อยู่ที่ 1.3 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากกำไรสุทธิ 3.6 พันล้านบาทในไตรมาส 2/61 และพลิกจากผลขาดทุนสุทธิ 8.7 พันล้านบาท ในช่วงไตรมาส 3/60 หลังได้รับปัจจัยบวกจากค่าเงินบาทที่กลับมาแข็งค่า โดยค่าเงินบาทเฉลี่ยในช่วงไตรมาส 3/61 อยู่ที่ 32.97 บาท/เหรียญสหรัฐ แข็งค่าขึ้น 1.05 บาท ลดผลกระทบจาก Deferred Tax ที่ส่งผลกระทบในผลประกอบการไตรมาส 2/61 อย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ การฟื้นตัวของราคาน้ำมันดิบ โดยราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในไตรมาส 3/61 อยู่ที่ 77.3 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 7.2% จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 53.2% จากงวดปีก่อน ขณะที่คาดว่าราคาขายก๊าซฯ จะยังทรงตัวในระดับสูง ส่งผลให้ราคาขายเฉลี่ยผลิตภัณฑ์ อยู่ที่ 48.3 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 2.9% จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 24.5% จากงวดปีก่อน และยอดขายปิโตรเลียมที่ 3.08 แสนบาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้น 1.7% จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 3.3% จากงวดปีก่อน
สำหรับแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 4/61 ยังคงแข็งแกร่งต่อเนื่อง ตามราคาน้ำมันยังปรับเพิ่มต่อเนื่อง ล่าสุดราคาน้ำมันดิบตั้งแต่ต้นไตรมาส 4 อยู่ที่ 82.1 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล หลังได้รับแรงหนุนจากความต้องการใช้ที่แข็งแกร่ง รวมทั้งในช่วงปลายปี จะเข้าสู่ไฮซีซั่นของความต้องการใช้น้ำมัน แม้จะมีความเสี่ยงที่ต้องติดตามจากประเด็นการค้าโลก กดดันการขยายตัวภาพรวมเศรษฐกิจก็ตาม
ส่วนประเด็นการประมูลแหล่งบงกชและเอราวัณ คาดว่า PTTEP มีความเป็นไปได้สูงที่จะชนะประมูลในแหล่งบงกช โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากเงื่อนไขการผลิต ราคาขายก๊าซฯ รวมไปถึงการแข่งขันที่ไม่รุนแรง ประกอบกับความได้เปรียบในเรื่องของการเป็นผู้ดำเนินการผลิตเดิม คาดจะได้ข้อสรุปภายใน ธ.ค.61 ประเมินมูลค่าเพิ่มเฉพาะจากโครงการบงกชไว้ที่ 20 -22 บาท
ขณะที่ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า PTTEP จะมีกำไรปกติในไตรมาส 3/61 ที่ระดับ 1.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 64% จากงวดปีก่อน ตามปริมาณขายที่เพิ่มขึ้นมาที่ 3.08 แสนบาร์เรล/วัน หลังรับรู้ปริมาณขายแหล่งบงกชส่วนเพิ่ม 22.2% เต็มไตรมาสครั้งแรก และราคาขายเฉลี่ยขยับขึ้นเป็น 49.4 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ขณะที่การบันทึกขาดทุนการขายแหล่งมอนทารา 2.4 พันล้านบาท จะถูกชดเชยด้วยประโยชน์ทางภาษีตามการแข็งค่าของค่าเงินบาท
ส่วนไตรมาส 4/61 คาดว่ากำไรปกติขยายตัวได้ 10-20% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เป็น 1.3-1.4 หมื่นล้านบาท และนับเป็นจุดสูงสุดของปี จากการปรับราคาขายก๊าซแหล่งปิโตรเลียมที่เมียนมาในเดือนต.ค. และการหยุดซ่อมแหล่งผลิตลดลง โดยคงคาดการณ์กำไรปกติปี 61-62 ที่ 4.4 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 56% และ 4.7 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% ตามลำดับ ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบที่ 69 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และ 70 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลตามลำดับ
ทั้งนี้ คงคำแนะนำ"ซื้อเก็งกำไร"สำหรับ PTTEP บนราคาเหมาะสม ณ สิ้นปี 62 ที่ 150 บาท แม้ ณ ราคาปัจจุบันเต็มมูลค่าพื้นฐานที่ให้ไว้ แต่มี Upside จากผลประมูลแหล่งปิโตรเลียมในอ่าวไทยที่จะประกาศผลช่วงเดือนพ.ย.-ธ.ค.โดยคาด PTTEP มีโอกาสสูงที่จะชนะในแปลงบงกช ประเมิน Upside ที่ 18-35 บาท/หุ้น และราคาน้ำมันดิบที่ทรงตัวในระดับสูง