ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรระดับ "A+" ของ บมจ.โออิชิ กรุ๊ป (OISHI) โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงฐานะของบริษัทซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของผู้ผลิตสินค้าเครื่องดื่มชั้นนำของไทยคือ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) (ได้รับการจัดอันดับโดยทริสเรทติ้งที่ระดับ "AA" ด้วยแนวโน้ม "Stable" หรือ "คงที่") อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงตราสินค้าของบริษัทซึ่งเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดี สถานะผู้นำในตลาดเครื่องดื่มชาพร้อมดื่มในประเทศไทย และฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตถูกลดทอนด้วยตลาดเครื่องดื่มชาพร้อมดื่มที่หดตัวลง สภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจร้านอาหาร และเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้าในประเทศไทย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
การสนับสนุนจากบริษัทในกลุ่มไทยเบฟเวอเรจ
บริษัทไทยเบฟเวอเรจเป็นหนึ่งในผู้ผลิตเครื่องดื่มชั้นนำในประเทศไทย โดยได้ซื้อหุ้นในบริษัทตั้งแต่ปี 2549 ณ เดือนพฤษภาคม 2561 ไทยเบฟเวอเรจถือหุ้น 80% ของทุนจดทะเบียนที่เรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท
บริษัททำหน้าที่เป็นผู้ผลิตหลักของกลุ่มสำหรับเครื่องดื่มชาและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ บริษัทได้รับประโยชน์จากกลุ่มจากเครือข่ายการกระจายสินค้าที่ครอบคลุมของกลุ่มไทยเบฟเวอเรจที่ครอบคลุมร้านค้าปลีกกว่า 400,000 ร้านค้าทั่วประเทศไทย และบริษัทยังรับจ้างผลิตเครื่องดื่มให้กับบริษัทในกลุ่มซึ่งเป็นการช่วยให้ใช้กำลังการผลิตได้สูงขึ้น
ตลาดชาพร้อมดื่มหดตัวอันเป็นผลจากภาษีสรรพสามิตใหม่
ภาษีสรรพสามิตฉบับใหม่ที่มีผลตั้งแต่กลางเดือนกันยายนปี 2560 ทำให้ภาษีสรรพสามิตของผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องดื่มชาพร้อมดื่มมีภาษีเพิ่มขึ้นจากเดิม 0% เป็น 10% ของราคาขายปลีกแนะนำ และยังคิดภาษีตามปริมาณน้ำตาลที่ผสมในเครื่องดื่มอีกด้วย โดยอัตราภาษีที่คิดตามปริมาณน้ำตาลจะทยอยปรับขึ้นในช่วงปี 2560-2566 ซึ่งจะผลักดันให้เครื่องดื่มมีน้ำตาลน้อยลง และมีการใส่ใจสุขภาพมากขึ้น
หลังจากภาษีสรรพสามิตใหม่ถูกบังคับใช้ ผู้ผลิตเครื่องดื่มชาเขียวพร้อมดื่มมีการปรับราคาขายเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี 2560 เพื่อชดเชยต้นทุนภาษีสรรพสามิตที่สูงขึ้น เป็นผลให้อุปสงค์ในตลาดชาเขียวพร้อมดื่มหดตัวลง ยอดขายในประเทศของผลิตภัณฑ์ชาพร้อมดื่มของบริษัทลดลง 16% ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 (ตุลาคม 2560-มิถุนายน 2561) ซึ่งสอดคล้องกับการหดตัวของตลาด ทริสเรทติ้ง คาดการณ์ว่าอุปสงค์ในตลาดเครื่องดื่มชาพร้อมดื่มน่าจะเริ่มทรงตัวและผู้ผลิตเครื่องดื่มชาจะปรับตัวกับภาษีสรรพสามิตใหม่ได้
สถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในตลาดชาพร้อมดื่ม
แม้ว่าตลาดชาพร้อมดื่มจะหดตัวลงแต่บริษัทยังคงสามารถรักษาความเป็นผู้นำเอาไว้ได้ด้วยส่วนแบ่งการตลาด 45% ในช่วง 12 เดือนสิ้นสุดเดือนมิถุนายน 2561 ทั้งนี้ สถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งเป็นผลจากตราสินค้า "โออิชิ" ที่เป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีและสะท้อนความเป็นญี่ปุ่น ประกอบกับการสนับสนุนจากเครือข่ายกระจายสินค้าที่ครอบคลุมพื้นที่ได้มาก
บริษัทมียอดขายเครื่องดื่มที่ 3,784 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 โดยลดลง 17% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนจากการปรับขึ้นราคาขายเครื่องดื่มชาพร้อมดื่มและจากเหตุการณ์ไฟไหม้สายการผลิต UHT ที่โรงงานนวนคร
บริษัทมีรายได้จากการส่งออกเครื่องดื่มที่เติบโตขึ้นโดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 38% ต่อปี ในช่วงปี 2557-2560 จนขึ้นมาอยู่ที่ 881 ล้านบาทในปี 2560 ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 รายได้จากการส่งออกเติบโตขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 49% มาอยู่ที่ 989 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 20% ของรายได้รวมจากเครื่องดื่ม ทริสเรทติ้งคาดว่าการส่งออกเครื่องดื่มจะเป็นหนึ่งในปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตในธุรกิจเครื่องดื่มของบริษัท
ในเดือนพฤศจิกายน 2560 มีเหตุเพลิงไหม้สายการผลิต UHT ที่โรงงานนวนคร ทำให้กระทบกำลังการผลิตประมาณ 12% ของกำลังการผลิตรวมและเครื่องดื่มในบรรจุภัณฑ์ UHT คิดเป็นสัดส่วนน้อยกว่า 10% ของรายได้จากธุรกิจเครื่องดื่ม บริษัทมีประกันภัยที่คุ้มครองความเสียหายจากเพลิงไหม้ดังกล่าวทั้งส่วนความเสียหายต่อทรัพย์สิน สินค้าคงเหลือ และความเสียหายจากธุรกิจหยุดชะงัก บริษัทจะเปลี่ยนสายการผลิต UHT ทดแทนสายเดิมโดยคาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในช่วงปลายปี 2561
การแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจร้านอาหาร
อุตสาหกรรมร้านอาหารมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี โดยมีปัจจัยสนับสนุนเช่นพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และการมีวิถีชีวิตที่เร่งรีบยิ่งขึ้น การขยายตัวของสังคมเมืองจะทำให้อุปสงค์ในธุรกิจร้านอาหารเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การแข่งขันในธุรกิจร้านอาหารก็รุนแรงยิ่งขึ้นด้วย เนื่องจากการเข้าสู่ธุรกิจร้านอาหารของผู้ประกอบการรายใหม่ทำได้ไม่ยากนัก ประกอบกับการฟื้นตัวที่ช้าของเศรษฐกิจในประเทศไทยกดดันการเติบโตของธุรกิจร้านอาหาร โดยบริษัทมียอดขายจากสาขาเดิมลดลง 2% ในปี 2560 และลดลงอีก 4% ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561
ทั้งนี้ บริษัทมีรายรวมจากธุรกิจร้านอาหารค่อนข้างคงที่อยู่ที่ 6,064 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2560 และ 4,539 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 เนื่องจากบริษัทมีการขยายสาขาร้านอาหารเพิ่มเติม ทั้งนี้ ในส่วนของธุรกิจร้านอาหาร ร้านอาหาร "ชาบูชิ" สร้างรายได้ให้บริษัทสูงสุด
แนวโน้มสังคมเมืองที่ขยายตัวขึ้นและระดับรายได้ของผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ผลิตภัณฑ์สินค้าปรุงสำเร็จได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น บริษัทวางแผนสร้างการเติบโตในธุรกิจอาหารปรุงสำเร็จ บริษัทมีรายได้จากธุรกิจอาหารปรุงสำเร็จอยู่ที่ 433 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2560 และ 314 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 คิดเป็น 6% ของรายได้ในธุรกิจอาหาร การขยายธุรกิจในส่วนอาหารปรุงสำเร็จจะมีผลดีในแง่ที่ทำให้อัตราการใช้กำลังการผลิตของครัวกลางของบริษัทซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดชลบุรีเพิ่มสูงขึ้น
ระดับหนี้สินต่ำและกระแสเงินสดที่เพียงพอ
บริษัทมีโครงสร้างทางการเงินที่แข็งแกร่ง โดย ณ เดือนมิถุนายน 2561 บริษัทมีหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วเท่ากับ 1,211 ล้านบาทและอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนอยู่ที่ 17.2% ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทมีการกู้ยืมน้อยเนื่องจากมีการลงทุนที่น้อยกว่าปีละ 1,000 ล้านบาท และบริษัทมีกระแสเงินสดที่เติบโตขึ้นจากรายได้ที่เติบโตขึ้นและการควบคุมต้นทุนที่มีประสิทธิภาพในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2558-2560) อย่างไรก็ตาม หลังจากมีการปรับขึ้นราคาขายเครื่องดื่มชาพร้อมดื่มในปีงบประมาณ 2561 รายได้จากธุรกิจเครื่องดื่มลดลงและเงินทุนจากการดำเนินงานลดลงมาอยู่ที่ 1,516 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 ลดลง 25% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หากพิจารณาสภาพคล่องของบริษัทถือว่ายังคงแข่งแกร่งโดยบริษัทมีอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วอยู่ที่ 179% และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ 30 เท่า ณ เดือนมิถุนายน 2561
ในช่วงปี 2561-2564 บริษัทมีแผนลงทุนรวมประมาณ 4,600 ล้านบาท ซึ่งประกอบไปด้วยการลงทุนในสายการผลิต UHT เพื่อทดแทนสายการผลิตที่ได้รับความเสียหายจากเพลิงไหม้ การลงทุนเพิ่มเติมในสายการผลิตเครื่อง และการขยายสาขาร้านอาหาร ทริสเรทติ้งประมาณการว่ารายได้จะเติบโต 3%-4% ต่อปี โดยคาดว่าการเติบโตจะมาจากรายได้จากการส่งออกเครื่องดื่มที่เติบโตขึ้นและจำนวนสาขาร้านอาหารที่เพิ่มมากขึ้น ทริสเรทติ้งยังคาดว่าอัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ จะอยู่ที่ระดับสูงกว่า 16% และเงินทุนจากการดำเนินงานจะอยู่ในช่วง 2,100-2,300 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2562-2564 โครงสร้างทางการเงินและความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทจะยังคงแข็งแกร่งโดยอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนจะสูงกว่า 11% และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินจะมากกว่า 200% ในช่วงปี 2562-2564
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนความคาดหมายว่าบริษัทจะยังคงสถานะเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของบริษัทไทยเบฟเวอเรจ อักทั้งจะยังคงรักษาสถานะทางการแข่งขันในตลาดชาพร้อมดื่มและสร้างผลการดำเนินงานที่ดีอย่างต่อเนื่อง
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตของบริษัทอาจถูกปรับเพิ่มขึ้นหากบริษัทมีผลการดำเนินงานและกระแสเงินสดเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ในขณะที่อันดับเครดิตของบริษัทอาจถูกปรับลดลงหากบริษัทมีผลการดำเนินงานที่ถดถอยลงเป็นเวลานาน ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งมองว่าการเปลี่ยนแปลงในระดับความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของบริษัทและความเกี่ยวโยงที่บริษัทมีกับบริษัทไทยเบฟเวอเรจจะส่งผลต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน