บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) หรือ ดีแทค เปิดเผยว่า บริษัทปรับแนวโน้มผลการดำเนินงานปี 61 โดยคาดว่ารายได้จากการให้บริการไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (IC) จะลดลงจากปีก่อนในอัตราเลขหลักเดียวช่วงต่ำ จากเดิมคาดว่ารายได้จากการให้ยิรการไม่รวม IC ใกล้เคียงปีก่อน ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนแรกของปี 61 ที่รายได้จากการให้บริการดังกล่าวลดลง 1.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
ในขณะที่แนวโน้ม EBITDA margin ถูกปรับเพิ่มขึ้นเป็น 36-38% จากเดิมคาดไว้อยู่ในช่วง 34-36% และคาดว่าจะใช้เงินลงทุนในปีนี้เพิ่มเป็น 18,000-20,000 ล้านบาทเพื่อเร่งขยายโครงข่าย 2300MHz จากเดิมคาดว่าจะใช้งบลงทุนระหว่าง 15,000-18,000 ล้านบาท
DTAC รายงานว่า ในไตรมาส 3/61 บริษัทมีผลขาดทุนอยู่ที่ 921 ล้านบาท เป็นผลจากกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ที่ลดลง รวมทั้งมีค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่เพิ่มขึ้นซึ่งรวมถึงรายการพิเศษจากค่าตัดจำหน่ายที่เป็นผลจากการระงับข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับกรรมสิทธิ์ในเสาโทรคมนาคมกับ บมจ.กสท โทรคมนาคม
EBITDA (ก่อนรายการอื่น) อยู่ที่ 7,192 ล้านบาท ลดลง 7.1% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และลดลง 5.1% จากไตรมาสก่อน โดยส่วนใหญ่เกิดจากรายได้จากการให้บริการที่ลดลง ค่าใช้จ่ายบริการข้ามโครงข่าย 4G-2300MHz ซึ่งจ่ายให้กับทีโอทีซึ่งส่วนหนึ่งสามารถชดเชยได้โดยค่าธรรมเนียมและส่วนแบ่งรายได้และการให้ส่วนลดค่าเครื่องที่ลดลง
ทั้งนี้ EBITDA margin ในไตรมาสนี้อยู่ที่ 40.0% ลดลงจากระดับ 41.2% เมื่อไตรมาส 3/60 และระดับ 40.4% เมื่อไตรมาส 2/61 ทั้งนี้หากไม่รวมค่าใช้จ่ายสุทธิซึ่งจ่ายให้กับทีโอทีดังกล่าวข้างต้นแล้ว EBITDA จะอยู่ที่ 8,327 ล้านบาท ในขณะที่ EBITDA margin จะอยู่ที่ 46.9% ในไตรมาส 3/61 บริษัทมีฐานลูกค้ารวมอยู่ที่ 21.3 ล้านเลขหมาย ลดลงกว่า 313,000 เลขหมายอันเป็นผลจากการลดลงของฐานลูกค้าระบบเติมเงิน โดยจำนวนลูกค้าระบบเติมเงินอยู่ที่ 15.3 ล้านเลขหมาย ลดลงกว่า 404,000 เลขหมายอันเป็นผลจากการแข่งขันที่อยู่ในระดับสูงและแคมเปญการเปลี่ยนลูกค้าจากระบบเติมเงินเป็นระบบรายเดือน
อย่างไรก็ดี ฐานลูกค้าระบบรายเดือนมีจานวนเพิ่มสูงขึ้นเป็นกว่า 6 ล้านเลขหมายอันเป็นผลจากจำนวนลูกค้าระบบรายเดือนที่เพิ่มขึ้นสุทธิกว่า 92,000 เลขหมายในไตรมาสนี้ ซึ่งชะลอตัวลงจากไตรมาส 2/61 ที่มีจำนวนลูกค้าระบบรายเดือนเพิ่มขึ้นสุทธิกว่า 154,000 เลขหมายอันเป็นผลจากความไม่แน่นอนในเรื่องการหมดอายุสัญญาสัมปทาน ทั้งนี้ สัดส่วนของฐานลูกค้าระบบรายเดือนเพิ่มขึ้นเป็น 28% ของฐานลูกค้าทั้งหมดและยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยรายได้เฉลี่ยต่อเลขหมาย (ไม่รวม IC) อยู่ที่ระดับ 247 บาทต่อเดือน เพิ่มขึ้น 6.7% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 0.7% จากไตรมาสก่อน
การใช้งานอินเทอร์เน็ตยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปริมาณการใช้งานภายใต้การโรมมิ่งบนโครงข่าย 4G บนคลื่น 2300 MHz ของทีโอที โดยปริมาณการใช้งานอินเทอร์เน็ตโดยเฉลี่ยต่อเลขหมายผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นเป็น 8.8 กิกะไบต์ต่อเดือนในไตรมาสนี้ ในขณะที่สัดส่วนผู้ใช้อุปกรณ์สมาร์ทโฟนอยู่ที่ 77% เพิ่มขึ้นจากระดับ 72% เมื่อไตรมาส 3/60 และจากระดับ 76% เมื่อไตรมาส 2/61 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ จำนวนผู้ใช้บริการ 4G มีจานวน 9.3 ล้านเลขหมาย คิดเป็นสัดส่วน 43% ของฐานลูกค้ารวม ในขณะที่จำนวนอุปกรณ์ที่รองรับเทคโนโลยี 4G ในโครงข่ายมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 62% ของฐานลูกค้ารวม
ขณะที่งวด 9 เดือนแรกของปี 61 รายได้จากการให้บริการหลัก (รายได้จากบริการเสียงและข้อมูล) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 0.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม รายได้จากการให้บริการไม่รวม IC สำหรับช่วงสามไตรมาสปีนี้ลดลง 1.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักมาจากการลดลงของรายได้จากบริการโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศ (IDD) และรายได้จากบริการอื่นๆ ถึงแม้ว่าดีแทคเริ่มชำระเงินให้กับ TOT ภายใต้สัญญาการให้บริการบนคลื่นความถี่ 2300 MHz ที่ได้ทำลงนามกันตั้งแต่ไตรมาสที่ 2/61 แต่ EBITDA margin สำหรับ 9 เดือนแรกของปี 61 ยังคงสูงอยู่ที่ 41.5% ของรายได้รวมทั้งหมด ถ้าไม่รวมค่าใช้จ่ายจำนวนนี้ EBITDA margin สำหรับช่วงสามไตรมาสนี้จะอยู่ที่ 45.0%
กำไรสุทธิสำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปี 61 อยู่ที่ 572 ล้านบาท เนื่องจากค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายที่สูงขึ้นจากการลงทุนในการขยายโครงข่ายอย่างต่อเนื่อง และจากค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่เงินสดที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวจำนวนประมาณ 1,400 ล้านบาท จากการตกลงยุติข้อพิพาทการเป็นเจ้าของเสาสัญญาณกับทาง CAT ก่อนที่สัมปทานจะสิ้นสุดลง
นอกจากนี้ กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน (EBITDA – CAPEX) สำหรับช่วง 9 เดือนแรกนี้ยังคงแข็งแกร่งที่ 11,600 ล้านบาท และอัตราส่วนทางการเงินต่างๆยังคงอยู่ในระดับที่ดี โดยมีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อ EBITDA อยู่ที่ 0.7 เท่า และอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 2.8 เท่า ดีแทคมีเงินสด ณ สิ้นสุดไตรมาส 3/61 อยู่ที่ 26,000 ล้านบาท
นางอเล็กซานดรา ไรช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร DTAC กล่าวว่า เรามีการเตรียมการในช่วงสิ้นสุดสัมปทานไว้เป็นอย่างดี เพื่อให้มั่นใจได้ว่าลูกค้าของเราจะได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด เป้าหมายสำคัญในตอนนี้คือ การเพิ่มพื้นที่ให้บริการโครงข่าย 2300 MHz และการโอนย้ายลูกค้าที่เหลือมาใช้บริการบนโครงข่าย DTN ด้วยโอกาสในการครอบครองช่วงคลื่นความถี่ต่ำเพิ่มขึ้นเพื่อการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของพอร์ทคลื่นความถี่ที่ให้บริการ ดีแทคจะอยู่ในตำแหน่งที่ดียิ่งขึ้นในการแข่งขัน และก้าวทันการเติบโตของตลาดได้"
นายดิลิป ปาล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการเงินของ DTAC กล่าวว่า แม้ว่าเราได้ลงทุนอย่างหนักเพื่อเร่งการเพิ่มพื้นที่ให้บริการโครงข่ายความถี่ 2300 MHz กระแสเงินสดจากการดำเนินการของเรายังคงแข็งแกร่ง รายได้จากการให้บริการยังถูกกดดันชั่วคราวจนถึงปลายไตรมาสที่สาม เนื่องจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการหมดอายุสัญญาสัมปทาน อย่างไรก็ตาม เราบริหารจัดการรักษา EBITDA margin ให้อยู่ในระดับเหนือกว่า 40% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี ฐานะทางการเงินของเราอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง และยืดหยุ่นต่อการลงทุนในอนาคต
นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัทเห็นชอบให้นาเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติการรับโอนกิจการทั้งหมดจากบริษัท ดีแทค บรอดแบนด์ จำกัด (ดีแทค บรอดแบนด์) และบริษัท อีสเทิรน์ บิช จากัด (อีสเทิรน์ บิช) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 100% ของทุนจดทะเบียนเข้ามาในบริษัท