ทริสฯ จัดอันดับเครดิตองค์กร TWPC ที่ "BBB+" แนวโน้ม "Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday October 17, 2018 12:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จัดอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.ไทยวา (TWPC) ที่ระดับ "BBB+" ด้วยแนวโน้ม "Stable" หรือ "คงที่"

อันดับเครดิตสะท้อนถึงความแข็งแกร่งของบริษัทในหลายด้าน กล่าวคือ บริษัทเป็นผู้ผลิตแป้งมันสำปะหลังและอาหารที่ทำจากแป้งมันสำปะหลังรายใหญ่ ด้วยประวัติผลงานที่ยาวนานในการผลิตแป้งมันสำปะหลังและวุ้นเส้น ปัจจุบันบริษัทกำลังมีการผลิตสินค้าซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นเพื่อเพิ่มอัตรากำไร นอกจากนี้ บริษัทยังมีงบดุลที่แข็งแกร่งอย่างมากด้วย อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากความผันผวนโดยธรรมชาติของสินค้าโภคภัณฑ์อย่างเช่นแป้งมันสำปะหลัง ประกอบกับปริมาณวัตถุดิบมันสำปะหลังที่ผลิตได้ไม่แน่นอนในแต่ละฤดูกาล ในขณะที่แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบที่เป็นการกีดกันทางการค้าก็ถือว่าเป็นประเด็นด้านลบด้วยเช่นกัน

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

มีสถานะเป็นผู้นำทางการตลาดในธุรกิจแป้งมันสำปะหลังและวุ้นเส้น บริษัทมีผลงานซึ่งเป็นที่ยอมรับในประเทศไทยมานานกว่า 70 ปี จากรายงานของกระทรวงพาณิชย์ระบุว่าบริษัทเป็นผู้ส่งออกแป้งมันสำปะหลังรายใหญ่อันดับที่ 3 ในประเทศไทยเมื่อพิจารณาจากปริมาณส่งออกในช่วงปี 2560 จนถึงช่วง 7 เดือนแรกของปี 2561 โดยบริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดของการส่งออกแป้งมันสำปะหลังอยู่ที่ 7%-9% บริษัทเป็นผู้ผลิตวุ้นเส้นและเส้นก๋วยเตี๋ยวรายใหญ่ในประเทศไทยโดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดในด้านมูลค่าของยอดขายอยู่ที่ประมาณ 35%

ผู้บริหารของบริษัทมีประสบการณ์มายาวนานกว่า 65 ปี ลูกค้ารายใหญ่ของบริษัทเป็นผู้ประกอบการระหว่างประเทศขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมหลายประเภท เช่น อาหารและเครื่องดื่มรวมถึงผู้ผลิตกระดาษ ลูกค้าเหล่านี้จะนำแป้งมันสำปะหลังดิบไปแปรรูปเพื่อใช้ในธุรกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

การเติบโตของผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มสูง บริษัทมีการเพิ่มผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง (HVA) และขยายบทบาทไปในตลาดโลกมากขึ้น ตามปกติแล้ว บริษัทมีอัตรากำไรขั้นต้นของแป้งมันสำปะหลังดิบอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 20% ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงอยู่ที่ระดับประมาณ 20%-30% แต่ในปี 2560 บริษัทมีรายได้จากผลิตภัณฑ์แป้งมันสำปะหลังดิบคิดเป็น 50% ของรายได้รวม มีรายได้จากผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงคิดเป็น 30% และมีรายได้จากผลิตภัณฑ์วุ้นเส้นและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องคิดเป็น 20%

ในอนาคตข้างหน้าจนถึงปี 2563 บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะขยายสัดส่วนรายได้จากผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มสูงและอาหารเป็น 70% ของรายได้รวมและจะลดสัดส่วนรายได้จากผลิตภัณฑ์แป้งมันสำปะหลังดิบลงให้เหลือเพียง 30%

ธุรกิจมีการกระจายตัวในระดับปานกลาง ธุรกิจของบริษัทมีการกระจายตัวในระดับปานกลางทั้งในส่วนของตลาดและฐานการผลิต ประเทศจีนเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของบริษัทซึ่งสร้างรายได้คิดเป็น 50%-60% ของรายได้ส่งออกในระหว่างปี 2558-2560 ส่วนรายได้จากไต้หวันคิดเป็น 20%-25% รายได้จากประเทศสหรัฐอเมริกา รวมถึงสหภาพยุโรป และอินโดนีเซียคิดเป็น 3%-5% ส่วนที่เหลือเป็นรายได้จากตลาดอื่น ๆ

ปัจจุบันบริษัทมีโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังทั้งหมด 8 แห่งซึ่งตั้งอยู่ใน 3 ประเทศ คือ ประเทศไทย เวียดนาม และกัมพูชา โรงงานดังกล่าวมีกำลังการผลิตรวมประมาณ 485,000 ตันต่อปี บริษัทยังมีโรงงานแปรรูปวุ้นเส้นอีก 2 แห่ง โดย 1 แห่งอยู่ในประเทศไทยและอีก 1 แห่งอยู่ในประเทศเวียดนาม ซึ่งมีกำลังการผลิตรวม 32,550 ตันต่อปี บริษัทมีอัตราการใช้กำลังการผลิตรวมในปี 2560 อยู่ที่ 67%

ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถเข้าสู่ตลาดส่งออกแป้งมันสำปะหลังแห่งใหม่ ๆ ได้เพื่อที่จะบรรเทาความเสี่ยงของการกระจุกตัวจากการพึ่งพิงตลาดส่งออกหลักเช่นประเทศจีนและไต้หวัน

กำไรมีความผันผวน อัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทอยู่ที่ระดับ 9.6%-10.3% ในช่วงปี 2557-2558 เนื่องจากต้นทุนการผลิตมันสำปะหลังดิบอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม อัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 16.9% ในปี 2559 จากการที่รัฐบาลจีนประกาศยกเลิกการสนับสนุนผู้ผลิตข้าวโพดเพื่อลดสต็อกข้าวโพดในประเทศจีน จึงส่งผลให้เกิดสถานการณ์อุปทานส่วนเกินของมันสำปะหลังในประเทศไทยและต้นทุนการผลิตมันสำปะหลังปรับตัวลดลงในช่วงเดียวกันจากการเป็นสินค้าที่ทดแทนกันได้กับข้าวโพด

ในปี 2560 เกษตรกรได้เปลี่ยนจากการปลูกมันสำปะหลังไปเป็นการปลูกอ้อย ซึ่งทำให้ปริมาณวัตถุดิบมันสำปะหลังในประเทศไทยปรับตัวลดลงและทำให้ราคามันสำปะหลังปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ ราคามันสำปะหลังปรับตัวเพิ่มขึ้น 25% เป็น 425 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันในเดือนธันวาคม 2560 จาก 338 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันในเดือนกันยายน 2560 และเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับสูงสุดที่ 553 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันในเดือนพฤษภาคม 2561 ซึ่งทำให้อัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทลดลงเหลือ 11.7% ในปี 2560 และ 8.5% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2561

ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของบริษัทจะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 10% ในปี 2561-2564 เนื่องจากคาดว่าต้นทุนวัตถุดิบแป้งมันสำปะหลังจะยังคงสูงอยู่ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้านี้

ภาระหนี้ทางการเงินจะปรับตัวสูงขึ้นแต่ยังอยู่ในระดับที่จัดการได้ จากประมาณการของทริสเรทติ้ง อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะปรับตัวสูงขึ้นเป็น 10.2%-18.6% ในช่วงปี 2561-2564 จากเดิมที่บริษัทอยู่ในสถานะปลอดหนี้ในช่วงปี 2558-2560 ค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนและเงินลงทุนอื่น ๆ ที่ปรับตัวสูงขึ้นส่งผลทำให้อัตราส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้น ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนอยู่ที่ระดับ 500-1,000 ล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2561-2564 บริษัทวางแผนจะใช้เงินจำนวน 540 ล้านบาทเพื่อสร้างโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังระยะที่ 2 ในประเทศกัมพูชาและจะใช้เงินจำนวน 380 ล้านบาทเพื่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลที่จังหวัดกาฬสินธุ์และนครราชสีมา

ภาระหนี้ทางการเงินของบริษัทอยู่ในระดับต่ำ อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายยังคงอยู่ในระดับที่น่าพอใจระหว่าง 12.2-14.7 เท่าในช่วงปี 2561-2564

สภาพคล่องที่เพียงพอ สภาพคล่องของบริษัทยังคงเพียงพอในช่วง 12 เดือนข้างหน้า จากสมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะอยู่ในช่วง 650-750 ล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2561-2564 เนื่องจากต้นทุนการผลิตแป้งมันสำปะหลังยังคงอยู่ในระดับที่สูงและปริมาณวัตถุดิบมันสำปะหลังปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง บริษัทมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 588 ล้านบาท ณ เดือนมิถุนายน 2561 นอกจากนี้ บริษัทยังมีวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้อยู่อีกจำนวน 1,136 ล้านบาท

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจแป้งมันสำปะหลังและวุ้นเส้นในประเทศไทยไว้ได้ รายได้จากผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มสูงจะช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของราคาแป้งมันสำปะหลังที่จะมีต่ออัตรากำไรของบริษัทได้

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นได้หากบริษัทมีการปรับสัดส่วนผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถลดความผันผวนที่เกิดจากสินค้าโภคภัณฑ์ อีกทั้งจะลดความผันผวนของรายได้จากการดำเนินงาน และรักษานโยบายทางการเงินที่ระมัดระวังเอาไว้ได้

ในทางตรงกันข้าม การปรับลดอันดับเครดิตสามารถเกิดขึ้นได้ในกรณีที่กำไรและผลตอบแทนของบริษัทลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ การขาดแคลนผลผลิตมันสำปะหลังอย่างต่อเนื่องทั่วโลกเป็นปัจจัยลบต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกันเนื่องจากราคาต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นจะกดดันความสามารถในการกำไรของบริษัท ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงินที่มีความเสี่ยงมากขึ้นก็เป็นอีกปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ