นายนรัตถ์ สาระมาน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่ของ บมจ.ไซแมท เทคโนโลยี (SIMAT) เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า บริษัทวางเป้าหมายหลักในการผลักดันธุรกิจบริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตให้พลิกกลับมามีกำไรสุทธิ หลังจากครึ่งปีแรกยังมีผลขาดทุนสุทธิราว 24.5 ล้านบาท ด้วยกลยุทธ์การปรับเปลี่ยนโมเดลการทำธุรกิจมาเป็น Business-to-Business จากเดิมที่เป็น Business to Consumer เพื่อเข้าถึงเจ้าของโครงการโดยตรงและกระจายความเสี่ยงของการแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่
พร้อมกันนั้น บริษัทจะนำโซลูชั่นไปเสนอขายให้กับลูกค้าองค์กร โดยอาศัยความเชี่ยวชาญของธุรกิจ ผนวกกับความเชี่ยวชาญด้าน Cyber Security ที่ดำเนินงานมากว่า 15 ปีภายใต้แบรนด์"SARAN"เพื่อให้บริการเก็บบันทึกข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์ และบริการด้านที่ปรึกษาการออกแบบการจัดเก็บข้อมูลขนาด Big Data เพื่อความมั่นคงในระดับมาตรฐาน โดยจะนำมารวมกับไซแมทเทคเพื่อให้บริการด้าน Cyber Security และการเก็บบันทึกข้อมูลตามกฎหมาย รวมถึงเฝ้าระวังการคุกคาม ป้องกันการโจมตี ซึ่งจะเป็นการสร้างรายได้และกำไรที่นอกเหนือจากรายได้การให้บริการเพียงอย่างเดียว โดยเชื่อมั่นว่ากลยุทธ์ดังกล่าวจะสามารถแก้ไขปัญหาการขาดทุนของธุรกิจได้
"เดิมทีธุรกิจของไซแมท เราเป็น System integrator (SI) และรับปรับปรุงบรอดแบรนด์ หลังจากนั้นเราก็มาทำเรื่องพริ้นติ้ง หรือไซแมทเลเบล และเราก็เข้าไปซื้อธุรกิจฮินชิซึ Silk Screen printing โดยธุรกิจไซแมทเลเบล และฮินชิซึ เขามีกำไรอยู่แล้ว ซึ่งธุรกิจเขาก็ชัดเจนมีกำไรแน่นอนมีลูกค้าแน่นอน แต่ที่ผมเข้ามาผมก็จะแก้ปัญหาธุรกิจดั้งเดิมที่ปัจจุบันยังมีผลขาดทุนอยู่ เนื่องจากการแข่งขันที่ค่อนข้างสูงในตลาดลูกค้าครัวเรือน"นายนรัตถ์ กล่าว
ปัจจุบัน บริษัทเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ใน จ.นครราชสีมา เชียงใหม่ ขอนแก่น กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ขณะที่อยู่ระหว่างทำสัญญาการให้บริการอินเทอร์เน็ตในรูปแบบที่เป็นผู้ให้บริการแต่เพียงผู้เดียวกับโครงการอสังหาริมทรัพย์จำนวนมาก รวมถึงมีแผนร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ ได้แก่ ผู้ประกอบการเคเบิ้ลทีวีท้องถิ่น เพื่อขยายตลาดไปยังจังหวัดอื่น ๆ โดยปี 61 จะเริ่มให้บริการในพื้นที่ พัทยา แหลมฉบัง และปทุมธานี
ในด้านธุรกิจโซลูชั่น ที่ผ่านมาบริษัทได้เข้าไปนำเสนอสินค้ากับลูกค้าองค์กรบ้างแล้ว แต่มองว่าอาจจะต้องใช้ระยะเวลาอีกสักระยะหนึ่ง เนื่องด้วย พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ยังไม่มีกำหนดบังคับใช้ แต่หากกฎหมายดังกล่าวบังคับใช้ได้เมื่อใดก็จะทำให้สินค้าของบริษัทเป็นที่นิยมมากขึ้น และส่งผลดีต่อผลประกอบการของบริษัทในอนาคต เชื่อว่าจะเห็นภาพชัดเจนได้ภายใน 1-2 ปีนี้
นอกจากนี้ บริษัทจะใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีศักยภาพในการเป็น System integrator (SI) เพื่อเข้าประมูลงานต่างๆ โดยที่ผ่านมาบริษัทได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตประเภทที่ 3 ในธุรกิจวางระบบโครงข่ายมาแล้ว
นายนรัตถ์ กล่าวว่า ในวันที่ 12 ต.ค.นี้บริษัทยื่นเสนอราคาด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Bidding) ในโครงการจัดให้มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกล (Zone C) จำนวน 15,723 หมู่บ้าน ภายใต้โครงการ"โครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ (เน็ตประชารัฐ)
บริษัทยื่นประมูล 2 สัญญา จากทั้งหมด 8 สัญญา มูลค่าสัญญาละ 2 พันล้านบาท ขณะที่คาดหวังว่าจะได้รับงานทั้งหมดที่ยื่นราคา 2 สัญญา ซึ่งจะสามารถทราบผลการประกวดราคาและลงนามในสัญญาประมาณกลางเดือน พ.ย.61
นายนรัตถ์ กล่าวอีกว่า โครงการดังกล่าวเป็นการรับจ้างติดตั้งและให้บริการกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระยะเวลาติดตั้ง 1 ปี และให้บริการต่อไปอีก 5 ปี โดยระหว่างนี้บริษัทสามารถให้บริการอินเทอร์เน็ตกับลูกค้าในพื้นที่ที่รับผิดชอบได้ และคิดค่าบริการตามที่ กสทช.กำหนด ซึ่งหากบริษัทได้รับงานดังกล่าวจะทำให้ผลการดำเนินงานเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ
"เรามั่นใจว่าเราจะแข่งขันได้บนสังเวียนนี้ ในฐานะที่เรามีพนักงานคอลเซ็นเตอร์ ทีมเซอร์วิส และพนักงานที่ดูแลเรื่องบรอดแบรนด์ ที่มีอยู่ราว 200 คน ซึ่งเราก็ไม่เป็นรองใคร และถ้าหากเราได้งานโครงการนี้จะช่วยสนับสนุนให้เราพลิกกลับมามีกำไร และกำไรจากโครงการนี้ก็จะทำให้เรามีกำไรเพิ่มขึ้นไปอีก"นายนรัตถ์ กล่าว
พร้อมกันนี้ จากการที่บริษัทเข้าไปประมูลงานโครงการ NET ห่างไกล Zone C และหากได้รับงานมาจะทำให้บริษัทมีงานติดตั้งและให้บริการไปอีก 5 ปี แต่จะจำกัดเฉพาะพื้นที่ที่ได้รับหรือไม่ครอบคลุมทุกจังหวัด ซึ่งบริษัทมองโอกาสเข้าควบรวมกิจการในธุรกิจติดตั้งและเดินสายเพื่อเข้ารับงานโครงการภาครัฐที่ถือว่ามีออกมาอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ภายใน 3-5 ปี จากนี้
นายนรัตถ์ กล่าวว่า สำหรับเป้าหมายรายได้และกำไรสุทธิในปีนี้และปีหน้า บริษัทยังไม่สามารถประเมินถึงการเติบโตได้ เนื่องจากต้องรอติดตามก่อนว่าจะได้รับงานโครงการ NET ห่างไกล Zone C หรือไม่ ซึ่งหากได้รับงานจะทำให้ธุรกิจให้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตพลิกมีกำไรสุทธิ
ด้านธุรกิจขายส่งอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ในมาเลเซียของบริษัทย่อยนั้น ถือว่ายังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่มาร์จิ้นของธุรกิจยังค่อนข้างต่ำ ปัจจุบันก็อยู่ระหว่างศึกษานำสินค้าของ SIMAT ที่มีมาร์จิ้นสูงไปจำหน่ายในมาเลเซีย และยังมองโอกาสขยายไปยังสิงคโปร์และอินโดนีเซียได้อีกด้วย
ขณะเดียวกันธุรกิจซิลค์สกรีนพริ้นติ้งที่บริษัทเพิ่งได้ซื้อกิจการ บริษัท ฮินชิซึ (ประเทศไทย) จำกัด มาในเดือน มิ.ย.61 บริษัทได้รับรู้กำไรจากธุรกิจดังกล่าวเข้ามาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นจังหวะที่ดีที่ธุรกิจดังกล่าวได้รับคำสั่งซื้อเข้ามา ทำให้กำไรของฮินชิซึปรับตัวเพิ่มขึ้น