นายวราห์ สุจริตกุล กรรมการบริหาร บล.ฟินันซ่า ในฐานะตัวแทนที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายหน่วยลงทุน เปิดเผยว่า หลังจากที่กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund :TFFIF) ได้เริ่มเสนอขายหน่วยลงทุนส่วนเพิ่มทุนแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (Initial Public Offering: IPO) โดยมีช่วงจำนวนหน่วยลงทุนเสนอขายเบื้องต้นที่ 4,000-4,470 ล้านหน่วย ปรากฏว่าในการเสนอขายหน่วยลงทุนส่วนเพิ่มทุนแก่ผู้จองซื้อทั่วไป เมื่อวันที่ 12-19 ต.ค.ที่ผ่านมานั้น TFFIF ได้รับความสนใจอย่างมากจากนักลงทุนรายย่อย โดยความสนใจในการจองซื้อหน่วยลงทุนในครั้งนี้มีมูลค่ามากกว่า 28,800 ล้านบาท ซึ่งมากกว่ามูลค่าที่ได้จัดสรรไว้เบื้องต้น
พร้อมกันนี้ ในช่วงเวลาเดียวกันผู้จัดการการจัดจำหน่ายหน่วยลงทุนได้สำรวจปริมาณความต้องการซื้อหน่วยลงทุนของนักลงทุนสถาบันในแต่ละช่วงจำนวนหน่วยลงทุนเสนอขายเบื้องต้น (Book Building) พบว่ามีนักลงทุนสถาบันในประเทศซึ่งรวมถึงสถาบันที่บริหารกองทุนเพื่อประโยชน์ของประชาชนทั่วไป เช่น กองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนประกันสังคม เป็นต้น แสดงความต้องการจองซื้อหน่วยลงทุนที่จำนวนหน่วยลงทุนเสนอขายสูงสุดของช่วงจำนวนหน่วยลงทุนเสนอขายเบื้องต้น มากกว่าหน่วยลงทุนที่จัดสรรไว้เบื้องต้นเช่นกัน ส่งผลให้จำนวนหน่วยลงทุนเสนอขายสุดท้ายในครั้งนี้เท่ากับ 4,470 ล้านหน่วย คิดเป็นมูลค่าการเสนอขายส่วนเพิ่มทุนเท่ากับ 44,700 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณการอัตราการปันส่วนแบ่งให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนในปีแรก เท่ากับ 4.751% ซึ่งเป็นจำนวนหน่วยลงทุนเสนอขายที่สูงที่สุดของช่วงจำนวนหน่วยลงทุนเสนอขายเบื้องต้น
ทั้งนี้ เนื่องจาก TFFIF เป็นกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับการสนับสนุนโดยภาครัฐและเพื่อให้ประชาชนทั่วไปมีทางเลือกในการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่มั่นคงและมีโอกาสในการเติบโต และเพื่อให้สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรีที่ต้องการให้ประชาชนทั่วไปเป็นสัดส่วนหลักของ TFFIF จึงพิจารณาจัดสรรจำนวนหน่วยลงทุนเพิ่มเติมให้กับผู้จองซื้อทั่วไป โดยสัดส่วนการเสนอขายหน่วยลงทุนสุดท้าย ประกอบไปด้วย กระทรวงการคลัง จำนวน 357 ล้านหน่วย ผู้จองซื้อทั่วไป จำนวน 2,300 ล้านหน่วย และ นักลงทุนสถาบันในประเทศ (ผู้ลงทุนหลักโดยเฉพาะเจาะจงและผู้จองซื้อพิเศษ) จำนวน 1,813 ล้านหน่วย จากการเสนอขายหน่วยลงทุน TFFIF ในครั้งนี้ นับว่าเป็นการเสนอขายตราสารทุนที่มีมูลค่ามากที่สุดในปี 2561
ตัวแทนที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายหน่วยลงทุน กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลการจัดสรรหน่วยลงทุนสำหรับผู้จองซื้อทั่วไป คาดว่าจะประกาศภายในวันที่ 22 ต.ค.61 โดยสามารถตรวจสอบผลการจัดสรรได้ที่สำนักงานใหญ่และสาขาของบริษัทจัดการ ได้แก่ บล.กรุงไทย และ บล.เอ็มเอฟซี สำนักงานใหญ่และสาขาของผู้จัดการการจัดจำหน่ายหน่วยลงทุน ได้แก่ บล.ฟินันซ่า บล.ภัทร และธนาคารกรุงไทย และสำนักงานใหญ่และสาขาของผู้สนับสนุนการขายหน่วยลงทุน ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ (ยกเว้นสาขาไมโคร)
ทั้งนี้ TFFIF จะเข้าลงทุนครั้งแรกในสิทธิในการรับรายได้ 45% ของรายได้ค่าผ่านทางรวมสุทธิที่จัดเก็บได้จากทางพิเศษฉลองรัชและทางพิเศษบูรพาวิถี ระยะทางรวม 83.2 กิโลเมตร เป็นระยะเวลา 30 ปี นับจากวันโอนสิทธิตามสัญญาโอนและรับโอนสิทธิในรายได้ (Revenue Transfer Agreement หรือ RTA) โดยทางพิเศษ 2 สายทางดังกล่าวยังคงเป็นทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และ กทพ. จะนำเงินที่ได้รับจากการโอนสิทธิในการรับส่วนแบ่งรายได้ในครั้งนี้ไปใช้พัฒนาโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก และโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 เชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออกและส่วนต่อขยายทดแทน ตอน N1
นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บลจ.กรุงไทย ในฐานะตัวแทนบริษัทจัดการ กล่าวว่า คาดว่าหน่วยลงทุนส่วนเพิ่มทุนของ TFFIF จะเริ่มทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ในวันที่ 31 ต.ค.นี้ โดยกองทุนมีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง และในแต่ละรอบปีบัญชีจะจ่ายในอัตราไม่น้อยกว่า 90% ของกำไรสุทธิที่ปรับปรุงแล้ว โดยประมาณการอัตราการปันส่วนแบ่งให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนในปีแรก (สิ้นสุด 30 ก.ย.62) เป็น 4.751% (ภายหลังการกำหนดมูลค่าหน่วยลงทุนเสนอขายสุดท้ายที่ 44,700 ล้านบาท)
การลงทุนใน TFFIF นักลงทุนที่เป็นบุคคลธรรมดาจะได้รับยกเว้นการจัดเก็บภาษีจากเงินปันผลที่ได้รับจากกองทุนเป็นระยะเวลา 8 ปีอีกด้วย นอกจากนี้ TFFIF ยังมีศักยภาพในการเติบโต จากการเข้าลงทุนเพิ่มเติมในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ของภาครัฐในอนาคตได้ทุกประเภท เช่น ทางหลวง สนามบิน ท่าเรือ ระบบราง ฯลฯ ซึ่งจะส่งผลดีต่อขนาดของกองทุนและยังจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องในการซื้อขายหน่วยลงทุนในอนาคต