(เพิ่มเติม) รมว.คมนาคม คาด THAI สรุปเรื่องสอบนักบิน TG971 สัปดาห์หน้า รวมตัวกดดันไม่มีผล,ดีดีเตือนต้องร่วมพลังเพื่อองค์กร

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday October 22, 2018 16:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวว่า บมจ.การบินไทย (THAI) อยู่ระหว่างสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีผู้โดยสารร้องเรียนความล่าช้าของเที่ยวบิน TG971 เส้นทาง ซูริค-กรุงเทพฯ โดยบริษัทได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบขัอเท็จจริงแล้วคาดว่าในสัปดาห์หน้าจะสามารถสรุปผลได้

ทั้งนี้ เห็นว่าปัญหาที้กิดขึ้นเป็นเรื่องการบริหารจัดการและการดูแลผู้โดยสารก็คือลูกค้า อีกด้านคือเรื่องความปลอดภัย เนื่องจากกัปตันเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจนำเครื่องขึ้นหรือนำเครื่องลง ซึ่งต้องคำนึงงถึงหลายปัจจัย ส่วนทางด้านภาคพื้นก็ต้องดูแลผู้โดยสารที่มีระเบียบปฏิบัติอยู่ ส่วนสิทธิเป็นเรื่องระเบียบภายในของการบินไทยก็ต้องพิจารณาด้วย

"การบินไทยเขาก็ตั้งกรรมการสอบสวนแล้ว ก็ต้องรอเขาหน่อย"รมว.คมนาคม กล่าว

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม กล่าวว่า เรื่องที่สอบสวนระหว่างนักบินกับนายสถานี ผู้โดยสาร ซึ่งขณะนี้ยังไม่รู้ว่าปัญหามาจากระบบการจองหรือไม่ การรวมตัวกดดันของกลุ่มนักบินก็คงไม่ใช่การแก้ปัญหา เพราะผลสอบเมื่อออกมาก็ว่าไปตามนั้น และเห็นว่าเรื่องทำนองนี้คงไม่ใช่เกิดขึ้นครั้งแรก

"เวลาเราซื้อตั๋วเราซื้อสองอย่าง คือความสะดวก และความปลอดภัย เราต้องดูทั้งคู่ ความปลอดภัยก็ไม่ใช่ความปลอดภัยแค่บุคคล แต่เป็นความปลอดภัยทั้งลำ เราก็อย่าไปดราม่าก็เท่านั้นเอง"นายไพรินทร์ กล่าว

ขณะที่ช่วงบ่ายวันนี้กลุ่มนักบินและผู้ช่วยนักบินของ บมจ.การบินไทยจำนวนหนึ่ง รวมตัวกันเข้าพบนายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ THAI หลังเกิดเหตุการณ์กรณีผู้โดยสารร้องเรียนเรื่องความล่าช้าของเที่ยวบิน TG971 เส้นทาง ซูริค-กรุงเทพฯเมื่อ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากนักบินต้องการที่นั่งของผู้โดยสารชั้นเฟิร์สคลาส และยืนยันจะไม่ทำการบินจนผู้โดยสารต้องยอมเปลี่ยนที่นั่ง

นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ของ THAI กล่าวให้สัมภาษณ์ผ่านสถานีโทรทัศน์ว่า บุคลากรที่เป็นนักบินนับว่าเป็นบุคลากรที่มีความสำคัญมากในธุรกิจการบิน แต่บางกรณีก็จะต้องมีการจัดสรรที่นั่งให้เรียบร้อยเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนกรณีเที่ยวบิน ทีจี 971 ซูริค-กรุงเทพฯที่ผ่านมา แต่ยอมรับว่าระบบการจัดสรรการจองที่นั่งของบริษัทยังมีช่องว่างที่อาจทำให้เกิดปัญหาได้ อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ก็จะอยู่ในรายการที่บริษัทจะไปปรับแก้ทั้งหมด

"การที่ฝ่ายบริหารมีแถลงการณ์ มีอะไรต่าง ๆ ออกมา ผมเองไม่อยากให้มีการตอบโต้ หรือการแสดงพลังอื่น ๆ เพราะพอกัปตันแสดงพลัง นายสถานีแสดงพลัง คนนั้นคนนี้แสดงพลังบ้าง ตกลงสุดท้ายองค์กรอยู่ตรงไหน มันต้องร่วมพลัง ไม่ใช่แสดงพลังแต่ละคน ซึ่งอันนี้เป็นความเห็นส่วนตัว นักบินอาจไม่ชอบใจคำสัมภาษณ์ผมตอนนี้ ผมเรียนว่าผมมององค์กรเป็นตัวตั้ง ท่านผู้โดยสารซึ่งเป็นลูกค้าของเราจะอยู่ตรงไหน"นายสุเมธ กล่าว

นายสุเมธ มองว่ากรณีที่นักบินจำเป็นจะต้องบินกลับมาในตำแหน่งผู้โดยสารนั้น ไม่ใช่เกิดขึ้นทุกเที่ยวบิน และกรณีที่เกิดขึ้นต้องมีวิธีจัดการ ซึ่งมีหลายรูปแบบ ถ้าเที่ยวบินเต็มจริง แล้วนักบินไม่สามารถใช้สิทธิของตนเองได้ ขณะที่ผู้โดยสารก็มีความจำเป็นต้องบินมากับเที่ยวบินนี้ บางครั้งก็อาจจะต้องขอให้นักบินค้างอีก 1 คืน หรือจะมีการเปลี่ยนเครื่องบิน ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้เป็นหน้างานที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เพราะในแต่ละปีบริษัทมีผู้โดยสารเกือบ 20 ล้านคน ซึ่งนักบินจะรู้ถึงสถานการณ์เป็นอย่างไร

"ถ้าไฟลท์นั้นเต็มจริง แล้วนักบินไม่สามารถใช้สิทธิของตนเอง แล้วผู้โดยสารก็มีความจำเป็นต้องบินมากับเที่ยวบินนี้ บางครั้งเราอาจจะต้องขอให้นักบินค้างอีกสักคืนได้ไหม ในการจัดการ หรือเปลี่ยนเครื่องอย่างไร เหล่านี้เป็นหน้างานที่เกิดขึ้นตลอดเวลา เพราะอย่าลืมว่าแต่ละปีเรามีผู้โดยสารเกือบ 20 ล้านคนอยู่ในมือนักบิน นักบินทราบว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร ฉะนั้น เหล่านี้ต้องมองนอกจากกฎระเบียบที่เคร่งครัดสิ่งที่ตัวเองมีอยู่แล้ว ก็ต้องคำนึงถึงองค์ประกอบอื่นประกอบไปด้วยในเรื่องการให้บริการผู้โดยสาร"นายสุเมธ กล่าว

ด้านนายดำรงค์ ไวยคณี ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย กล่าวว่า คณะกรรมการและผู้บริหารรับปากว่าจะทำให้ผลการสอบสวนแล้วเสร็จภายใน 7 วัน คงต้องรอผลสอบสวนข้อเท็จจริงก่อนว่าเกิดอะไรขึ้นในเที่ยวบินวันนั้น ซึ่งส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการให้ผู้โดยสารกว่า 300 ชีวิตต้องรอนานถึง 2 ชั่วโมง เพราทราบว่านักบินที่ต้องการเดินทางในวันนั้นเป็นนักบินที่ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ในเที่ยวบินนั้น แต่เป็นการโดยสารกลับ ซึ่งเมื่อที่นั่งเต็มแล้ว แม้จะมีสิทธิในที่นั่งดังกล่าวตามระเบียบ แต่นักบินถือว่าเป็นผู้มีวุฒิภาวะ น่าจะสามารถแยกแยะได้ว่า ผลประโยชน์ขององค์กรกับของตัวเอง อะไรควรมาก่อน เป็นเรื่องของจิตวิญญาณมากกว่า

อย่างไรก็ตาม สหภาพฯ มีแนวคิดที่จะขอหารือกับฝ่ายบริหารบริษัทฯ ถึงกรณีการปรับโครงสร้างองค์กรให้มีขนาดเล็กลง ซึ่งไม่กระทบที่ต้องปรับลดจำนวนคนแต่อย่างใด แต่เป็นการปรับลดในส่วนของโครงสร้างฝ่ายบริหารที่มีแต่งตั้งตำแหน่งและทำงานซ้ำซ้อนกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ