ทริสฯ คงอันดับเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ BDMS ที่ "AA-" แนวโน้ม "Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday October 24, 2018 17:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด คงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บมจ. กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) ที่ระดับ "AA-" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทจากการเป็นผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่ที่สุดในประเทศที่มีเครือข่ายโรงพยาบาลขนาดใหญ่และมีตราสัญลักษณ์โรงพยาบาลที่เป็นที่ยอมรับและเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีโดยได้รับแรงหนุนจากการให้บริการที่มีคุณภาพสูงและบุคลากรทางการแพทย์ที่เชี่ยวชาญ การประเมินอันดับเครดิตยังพิจารณาถึงผลการดำเนินงานที่ดีของบริษัท ตลอดจนความเสี่ยงทางด้านการเงินที่อยู่ในระดับปานกลางและแรงกดดันจากสภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจให้บริการด้านสุขภาพทั้งจากผู้ประกอบการภายในประเทศและต่างประเทศด้วย

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

เป็นผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยด้วยเครือข่ายโรงพยาบาลที่กว้างขวาง สถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการสะท้อนความเป็นผู้นำในธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในประเทศไทย บริษัทมีเครือข่ายโรงพยาบาลที่กว้างขวางที่สุดซึ่งครอบคลุมโรงพยาบาล 45 แห่งทั่วประเทศที่สามารถให้บริการผู้ป่วยในทั้งสิ้น 5,996 เตียง ณ เดือนมิถุนายน 2561 นอกจากนี้ บริษัทยังมีบุคลากรทางการแพทย์ที่ใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรม โดยมีแพทย์ที่ปฏิบัติงานในเครือโรงพยาบาลกว่า 11,600 คนและมีพยาบาลที่ปฏิบัติงานเต็มเวลาประมาณ 8,000 คน

ในปี 2560 บริษัทมีรายได้จากการให้บริการด้านสุขภาพและการขายรวมเกือบ 72,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 55% ของรายได้รวมในกลุ่มผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทั้งหมด ในขณะที่เมื่อพิจารณาจากขนาดแล้ว บริษัทมีจำนวนเตียงที่ให้บริการผู้ป่วยคิดเป็นสัดส่วน 16% ของจำนวนเตียงในโรงพยาบาลเอกชนทั้งหมดในประเทศและคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 5% ของจำนวนเตียงในโรงพยาบาลทั้งหมดในประเทศไทย

ทริสเรทติ้งเห็นว่าบริษัทน่าจะยังคงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งและคงความได้เปรียบในการแข่งขันที่เหนือกว่าคู่แข่งต่อไปได้จากการมีขนาดและเครือข่ายโรงพยาบาลที่กว้างขวาง ประกอบกับความหลากหลายของบริการและทำเลที่ตั้งของโรงพยาบาลในเครือข่าย ทั้งนี้ บริษัทมีความสามารถในการให้บริการด้านสุขภาพที่ครอบคลุมการรักษาทั้งโรคที่มีความซับซ้อนและโรคที่มีความรุนแรง

มีตราสัญลักษณ์โรงพยาบาลที่เป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีซึ่งครอบคลุมกลุ่มคนไข้ที่มีรายได้ปานกลางถึงสูง

บริษัทมีตราสัญลักษณ์โรงพยาบาลหลัก ๆ จำนวน 5 ตราซึ่งเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีในประเทศไทย ได้แก่ โรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลสมิติเวช โรงพยาบาลบีเอ็นเอช โรงพยาบาลพญาไท และโรงพยาบาลเปาโล ปัจจุบันโรงพยาบาลในเครือข่ายของบริษัทจำนวน 14 แห่งและคลินิกอีก 1 แห่งได้รับการรับรองมาตรฐานจาก Joint Commission International (JCI) และเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในกลุ่มคนไข้ต่างชาติ โดยโรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลสมิติเวช และโรงพยาบาล บีเอ็นเอชมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นคนไข้ที่มีรายได้ปานกลางระดับบนไปจนถึงรายได้สูงและคนไข้ต่างชาติ ในขณะที่โรงพยาบาลเปาโลและโรงพยาบาลพญาไทมีลูกค้าเป้าหมายเป็นกลุ่มคนไข้ที่มีรายได้ปานกลางถึงสูงและคนไข้ในระบบประกันสังคม

บริษัทมีจำนวนผู้ป่วยนอกต่อวันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 มีจำนวนผู้ป่วยนอกที่เข้ามารับบริการในโรงพยาบาลของบริษัทรวม 28,574 รายต่อวัน เพิ่มขึ้นจาก 21,960 รายต่อวันในปี 2556 และมีผู้ป่วยในเข้ามารับบริการจำนวน 3,998 คนต่อวัน เพิ่มขึ้นจาก 3,054 คนต่อวันในปี 2556 ส่วนจำนวนคนไข้ต่างชาติที่เข้ามารับบริการคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 14% ของจำนวนคนไข้ทั้งหมด แม้ว่าเศรษฐกิจในประเทศแถบตะวันออกกลางจะชะลอตัว แต่จำนวนคนไข้ต่างชาติที่เข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาลในเครือของบริษัทยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีจำนวน 4,062 คนต่อวันในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 จาก 2,926 คนต่อวันในปี 2556 การที่บริษัทมีฐานลูกค้าครอบคลุมกลุ่มคนไข้ที่มีรายได้ปานกลางถึงสูงในหลากหลายทำเลช่วยทำให้รายได้และกำไรของบริษัทมีเสถียรภาพ

มีภาระหนี้สินในระดับปานกลางจากการขยายเครือข่ายโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง

ทริสเรทติ้งคาดว่าระดับหนี้สินของบริษัทจะค่อย ๆ ลดลงในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าเนื่องจากแผนการขยายเครือข่ายโรงพยาบาลของบริษัทจะเสร็จสิ้นภายในปี 2563 โดยคาดว่าระดับหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทจะอยู่ในระดับ 37,000-40,000 ล้านบาทในช่วง 3 ปีข้างหน้า และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วต่อเงินทุนจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 30%-32% ภายในปี 2564 จากระดับ 34.15% ณ เดือนมิถุนายน 2561 ทั้งนี้ การประเมินอันดับเครดิตยังพิจารณารวมไปถึงเงินลงทุนตามแผนและอัตราส่วนเงินปันผลจ่ายที่ระดับไม่น้อยกว่า 50% ของกำไรสุทธิรวมของบริษัทอีกด้วย ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะอยู่ในระดับประมาณ 2 เท่าภายในปี 2564

บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มโรงพยาบาลในเครือข่ายให้มีถึง 50 แห่งภายในปี 2563 ซึ่งจะทำให้บริษัทเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการด้านสุขภาพรายสำคัญในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก บริษัทได้เปิดโรงพยาบาล "ชีวา ทรานสิชั่นนัล แคร์" ในเดือนตุลาคม 2561 และปัจจุบันกำลังก่อสร้างโรงพยาบาลกรุงเทพเชียงรายเพื่อรองรับผู้ป่วยในจังหวัดเชียงราย พะเยา และน่าน รวมถึงคนไข้ต่างชาติจากประเทศจีนตอนใต้ นอกจากนี้ บริษัทยังกำลังทำการขยายโรงพยาบาลกรุงเทพสำนักงานใหญ่ (Bangkok International Hospital) ซึ่งจะให้บริการทางการแพทย์เฉพาะทาง เช่น ศูนย์ประสาทวิทยา ศูนย์กระดูกสันหลัง และศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพเพื่อรองรับโอกาสที่จะรักษาผู้ป่วยต่างชาติที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังมีโครงการสร้างโรงพยาบาลจอมเทียนในจังหวัดชลบุรีเพื่อรองรับผู้ป่วยในภาคตะวันออกซึ่งโครงการนี้จะได้รับประโยชน์จากโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกของภาครัฐอีกด้วย ทั้งนี้ โรงพยาบาลและโครงการลงทุนใหม่ ๆ เหล่านี้จะเพิ่มจำนวนเตียงผู้ป่วยได้อีกประมาณ 640 เตียงหรือคิดเป็นประมาณ 8% ของจำนวนเตียงที่มีอยู่ในปัจจุบันของบริษัท

บริษัทได้เปิด BDMS Wellness Clinic ซึ่งเป็นบริการใหม่เมื่อเดือนธันวาคม 2560 โดยคลินิกดังกล่าวเป็นศูนย์สุขภาพครบวงจรที่ให้บริการด้านเวชศาสตร์ชะลอวัยและการฟื้นฟูสุขภาพ ปัจจุบันบริษัทเปิดให้บริการแล้ว 4 คลินิก ได้แก่ 1. Regenerative 2. Musculoskeletal and Sports 3. Dental และ 4. Fertility ส่วนที่เหลืออีก 4 คลินิกจะเปิดให้บริการภายในปีนี้ นอกจากนี้ บริษัทยังพัฒนาศูนย์การแพทย์แห่งความเป็นเลิศ (Centers of Excellence -- COEs) โดยยกระดับโรงพยาบาลชั้นนำ 10 แห่งในเครือเพื่อให้บริการรักษาโรคที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ทริสเรทติ้งเชื่อว่า BDMS Wellness Clinic และศูนย์การแพทย์แห่งความเป็นเลิศจะเพิ่มจำนวนคนไข้ต่างชาติและคนไทยที่มีระดับรายได้สูงที่มีความต้องการรับบริการด้านสุขภาพและรักษาโรคที่มีความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้นตลอดจนมีรายได้จากค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้นด้วย

อุปสงค์เกี่ยวกับบริการด้านสุขภาพขยายตัว แต่การแข่งขันทวีความรุนแรง

ทริสเรทติ้งคาดว่าอุปสงค์ของบริการด้านสุขภาพในประเทศจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากสังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประชากรจำนวนมากมีอายุยืนยาวขึ้นเนื่องจากประชาชนมีความใส่ใจในเรื่องสุขภาพมากยิ่งขึ้น ณ เดือนธันวาคม 2560 ประเทศไทยมีประชากรมีที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปคิดเป็นสัดส่วน 15.5% ของประชากรทั้งหมด ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประมาณการว่าประชากรที่มีอายุ 60 ปีหรือมากกว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 18% ในปี 2563 และ 25% ในปี 2573 ซึ่งสัดส่วนประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้นจะผลักดันให้อุปสงค์ของการใช้บริการทางการแพทย์สูงขึ้นตามไปด้วย

ทริสเรทติ้งประมาณการว่าจำนวนคนไข้ต่างชาติที่เข้ามารับการรักษาในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นเมื่อพิจารณาจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น โดยในปี 2560 บริษัทให้บริการด้านสุขภาพแก่คนไข้ต่างชาติทั้งสิ้น 1.31 ล้านคน เพิ่มขึ้น 4% จาก 1.26 ล้านคนในปี 2559 ทั้งนี้ กรมการท่องเที่ยวรายงานนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนสิงหาคม 2561 ว่ามีจำนวน 25.9 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้น 10% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และคาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งสิ้นประมาณ 38 ล้านคนในปี 2561 ทริสเรทติ้งคาดว่านักท่องเที่ยวชาวจีนจะเข้ามาใช้บริการด้านสุขภาพในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะในด้านความงาม การตรวจร่างกาย การดูแลสุขภาพฟัน และเพื่อเพิ่มโอกาสการมีบุตร

แม้ปัจจัยต่าง ๆ ข้างต้นจะแสดงถึงโอกาสในการเติบโตของอุตสาหกรรมด้านการรักษาพยาบาลของไทย อย่างไรก็ตาม การแข่งขันในอุตสาหกรรมยังถือว่ามีความรุนแรง กล่าวคือ โรงพยาบาลเอกชนต้องแข่งขันกับทั้งโรงพยาบาลในประเทศและโรงพยาบาลในประเทศอื่น ๆ ที่อยู่ในทวีปเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการรักษาโรคที่มีระดับความซับซ้อนสูง อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยในฐานะที่เป็นศูนย์กลางทางด้านการรักษาพยาบาลของเอเชีย ยังคงมีจุดแข็งทางการแข่งขันทั้งในด้านของทำเลที่ตั้ง คุณภาพการให้บริการ และราคาเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ เช่น สิงคโปร์และมาเลเซีย เป็นต้น

คาดว่าจะมีผลประกอบการที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

จากสมมติฐานขั้นพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะเติบโตที่ระดับ 6%-8% ในช่วง 3 ปีข้างหน้าจากผลของจำนวนคนไข้ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงจำนวนเครือข่ายโรงพยาบาลแห่งใหม่ที่เพิ่มขึ้น และความรุนแรงของโรคที่สูงขึ้น ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะพยายามขยายฐานลูกค้าและให้บริการด้านสุขภาพที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น โดยคาดว่ากลุ่มคนไข้ที่มีประกันสุขภาพจะเพิ่มมากขึ้นซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนให้จำนวนคนไข้รวมเพิ่มมากขึ้นและอัตราการครองเตียงของคนไข้ในปรับเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2561 บริษัทมีรายได้ค่ารักษาพยาบาลจากกลุ่มคนไข้ที่มีประกันสุขภาพคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 28% ของรายได้จากการรักษาพยาบาลรวมของบริษัท โดยเพิ่มขึ้นจาก 26% ในปี 2560 นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าศูนย์การแพทย์แห่งความเป็นเลิศจะสามารถดึงดูดคนไข้ให้มารับบริการเพิ่มขึ้นด้วยเนื่องจากศูนย์ดังกล่าวสามารถให้บริการรักษาโรคที่มีความซับซ้อนและรุนแรงสูงกว่าได้ ส่วน BDMS Wellness Clinic นั้น ทริสเรทติ้งคาดว่าจะต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่งในการสร้างรายได้และกำไร

ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 22%-23% ในช่วง 3 ปีข้างหน้าซึ่งสะท้อนถึงความพยายามในการควบคุมต้นทุนของบริษัท ตลอดจนอัตราการครองเตียงที่เพิ่มขึ้น และค่าบริการที่สูงขึ้นจากโรคที่มีความซับซ้อนมากขึ้น นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะได้ประโยชน์จากการบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นจากการประหยัดจากขนาด ตลอดจนจากอัตราการครองเตียงที่สูงขึ้น และจากการใช้ทรัพยากรร่วมกันในเครือข่ายโรงพยาบาลของบริษัท

มีสภาพคล่องที่เพียงพอ

บริษัทมีสภาพคล่องที่เพียงพอ ทั้งนี้ ในช่วง 12-24 เดือนข้างหน้าบริษัทจะมีแหล่งเงินทุนที่เพียงพอที่จะรองรับภาระผูกพันทางการเงินต่าง ๆ และเงินลงทุนได้ โดยแหล่งเงินทุนจะมาจากเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 5,651 ล้านบาท ณ เดือนมิถุนายน 2561 โดยที่บริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานประมาณ 14,000-16,000 ล้านบาทต่อปี ในขณะที่ความต้องการใช้เงินทุนจะเป็นค่าใช้จ่ายเงินลงทุนตามแผนการขยายเครือข่ายโรงพยาบาลและเพื่อบำรุงรักษาสินทรัพย์ที่ประมาณ 8,000-10,000 ล้านบาทต่อปี บริษัทมีหนี้ระยะสั้นจำนวน 1,040 ล้านบาท ณ เดือนมิถุนายน 2561 และมีหนี้ระยะยาวที่จะครบกำหนดชำระในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 จำนวน 703 ล้านบาท กับอีกประมาณ 4,200 ล้านบาทในปี 2562 และประมาณ 5,500 ล้านบาทในปี 2563 นอกจากนี้ ยังคาดว่าบริษัทจะจ่ายเงินปันผลประมาณ 5,200-5,500 ล้านบาทต่อปี บริษัทยังมีเงินลงทุนใน บริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โรงพยาบาลรามคำแหง จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีมูลค่ายุติธรรมรวมอยู่ที่ 41,059 ล้านบาท ณ วันที่ 12 ตุลาคม 2561 ที่จะช่วยเสริมความยืดหยุ่นทางการเงินให้แก่บริษัทอีกด้วย

ข้อกำหนดทางการเงินที่บริษัทมีกับผู้ถือหุ้นกู้และธนาคารระบุให้บริษัทต้องคงระดับอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อส่วนทุนไม่ให้เกิน 1.75 เท่าและอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายไม่ให้เกิน 3.25 เท่า ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2560 บริษัทสามารถรักษาข้อกำหนดทางการเงินดังกล่าวเอาไว้ในระดับที่ต่ำกว่าเกณฑ์ได้โดยมีอัตราส่วนอยู่ที่ระดับ 0.5 เท่าและ 1.9 เท่าตามลำดับ เมื่อพิจารณาจากนโยบายทางการเงินที่ระมัดระวังของบริษัทแล้ว ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะยังคงสามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดทางการเงินดังกล่าวได้

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะคงรักษาสถานะผู้นำในธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนเอาไว้ได้และยังคงมีผลประกอบการทางการเงินที่เข้มแข็งต่อไป

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

อันดับเครดิตอาจได้รับแรงกดดันให้ต้องปรับลดลงหากบริษัทมีการลงทุนโดยการก่อหนี้เชิงรุกจนทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนสูงกว่า 45% หรือทำให้อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินอยู่ต่ำกว่า 30% เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง นอกจากนี้ ผลการดำเนินงานที่อ่อนตัวลงอย่างมีนัยสำคัญเป็นระยะเวลาต่อเนื่องอาจส่งผลในเชิงลบต่ออันดับเครดิตได้ ในขณะที่โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตของบริษัทสามารถเกิดขึ้นได้หากผลการดำเนินงานและสถานะทางการเงินของบริษัทปรับดีขึ้นอย่างมากจนทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 2 เท่าเป็นระยะเวลาต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ