นายวิโรจน์ วชิรเดชกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ทรีซิกตี้ไฟว์ (TSF) ชี้แจงกรณีปัญหาค้างค่าสัมปทานป้ายโฆษณากรุงเทพมหานครว่า ตามที่นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้สัมภาษณ์ว่า กทม.จะเข้าดำเนินการรื้อถอนป้ายโฆษณาเอง ตั้งแต่วันที่ 26 ต.ค.นี้เป็นต้นไปนั้นว่า บริษัทมอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายตรวจสอบว่าต้องรอการวินิจฉัยของศาลปกครองก่อนหรือไม่ เนื่องจาก กทม.ยกเลิกสัญญา พร้อมทั้งเตรียมถอดป้ายโฆษณาออก ทั้งที่อายุสัมปทานเหลือเพียงแค่ 35 วันเท่านั้น ที่สำคัญสัมปทานนั้นยังมีข้อพิพาทและอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง
ส่วนเรื่องการค้างชำระค่าตอบแทนนั้น เนื่องจากบริษัทมีข้อพิพาทกับ กทม.ทั้งหมด 3 คดี ซึ่งบริษัทได้รับความเสียหาย และศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งให้รวมการฟ้องร้องทั้ง 3 คดีให้เป็นคดีเดียวกัน ฉะนั้น คดีความทั้งหมดยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาล ขณะเดียวกันบริษัทได้ทำหนังสือชี้แจงไปยัง กทม.ตั้งแต่ต้นปี โดยระบุว่าค่าสัมปทานที่จะต้องจ่ายให้กับ กทม.นั้น บริษัทฯ ขอหักลบกลบหนี้กับ กทม.ต้องชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นกับบริษัท เช่นเดียวกับกรณีที่ กทม.ชะลอการดำเนินงานการรื้อถอนกับตู้โทรศัพท์สาธารณะที่มีคดีในศาลปกครอง
อย่างไรก็ตาม ปมปัญหาที่ทำให้เกิดกับ กทม.นั้นบริษัทขอชี้แจงว่า ตั้งแต่ได้รับสัมปทานสิทธิบริหารป้ายโฆษณา ก็ได้มีข้อพิพาทกับทาง กทม.จึงไม่สามารถขายโฆษณาได้ และบริษัทได้ดำเนินการฟ้องร้อง กทม.ให้ชดเชยค่าเสียหายในข้อหาผิดสัญญา ขณะนี้เรื่องอยู่ในระหว่างการตัดสินของศาล
โดยคดีที่ 1 วันที่ 7 เม.ย.58 TSF เป็นโจทก์ฟ้อง กทม.มูลค่า 389 ล้านบาท เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายกรณีที่ กทม.ผิดสัญญาการส่งมอบศาลาที่พักผู้โดยสารและป้ายโฆษณาที่ไม่อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานให้แก่บริษัท ทั้งที่ TSF ทำการประมูล E-Auction ตามขั้นตอนปกติและเป็นผู้ชนะการประมูล โดยได้รับสิทธิดูแลบำรุงรักษาศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทางกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) 3 ฉบับ คือ โครงการ A, C และ 691 ซึ่งทั้ง 3 โครงการนี้ TSF ชนะการประมูลด้วยราคาที่สูงกว่าค่าสัมปทานเดิมถึง 8 เท่า หลังจากสำรวจป้ายที่ผู้ได้รับสัมปทานเดิมติดตั้งไว้พบว่าป้ายมีความสมบูรณ์ 100%
แต่ภายหลังจากที่บริษัทรับมอบสัญญาป้าย ปรากฏว่าอุปกรณ์ภายในถูกถอดออกไปและไม่อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตามที่ระบุใน TOR ทำให้ TSF ต้องใช้เวลาในการติดตั้งป้ายให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานเพื่อดำเนินการขายโฆษณาได้ตามปกติ ดังนั้น TSF จึงได้ขอระงับการชำระค่าใช้สิทธิรายเดือนและค่าตอบแทนรายปี นับตั้งแต่วันที่ 22 ส.ค.56 เพราะทำให้ขาดรายได้ในการขายสื่อโฆษณาเป็นเวลา 6 เดือน แต่ได้รับการปฏิเสธจาก กทม. แต่ TSF ยังคงต้องชำระค่าสิทธิรายเดือนให้กับ กทม. จึงทำให้ขาดทุนในโครงการดังกล่าว จึงเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน จำนวน 389 ล้านบาท
คดีที่ 2 วันที่ 16 ก.พ.59 TSF เป็นโจทก์ฟ้อง กทม. มูลค่า 578 ล้านบาท เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจาก กทม. กรณีมีคำสั่งระงับการติดตั้งป้ายโฆษณาตามสัญญากลุ่ม A และ C เพราะหลังจากที่ TSF ลงนามสัญญากับ กทม.แล้ว สื่อมวลชนได้ลงข่าวว่าป้ายโฆษณาเดิมที่ติดตั้งโดยผู้ได้รับสัมปทานก่อนหน้านี้บดบังทางเท้า ผู้ว่าราชการ กทม.จึงได้สั่งระงับการติดตั้งป้ายโฆษณาไปอีก 6 เดือน ทำให้การดำเนินโครงการล่าช้า TSF จึงได้ยื่นจดหมายขอเจรจาเรื่องงดจ่ายค่าใช้สิทธิรายเดือนและค่าตอบแทนรายปี แต่ได้รับการปฏิเสธจาก กทม. ทำให้ TSF มีผลการดำเนินงานขาดทุนอย่างต่อเนื่อง TSF จึงฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน จำนวน 578 ล้านบาท
ส่วน คดีที่ 3 กทม.เป็นโจทก์ฟ้อง TSF มูลค่า 1,123 ล้านบาท เรียกร้องค่าเสียหายจากการไม่ปฏิบัติตามสัญญาให้สิทธิเอกชนดูแลบำรุงรักษาศาลาที่พักผู้โดยสารประจำทาง
"ที่ผ่านมาบริษัทฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาที่เกิดขึ้นและพยายามขอพบเพื่อเจรจากับทาง กทม. แต่ได้รับการปฏิเสธไม่ให้เข้าพบตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ TSF ได้ดำเนินการฟ้องร้องค่าเสียหายจาก กทม.แต่ไม่ได้รับการตอบรับจนใกล้จะหมดสัญญาสัมปทานในเดือนพฤศจิกายน 2561 ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งผู้บริหารในชุดนั้นบางส่วนได้เกษียณไปแล้ว และเป็นไปได้ว่าคณะทำงานชุดใหม่น่าจะไม่เข้าใจปัญหาจึงไม่เปิดโอกาสให้ TSF เข้าพบเพื่อเจรจา"นายวิโรจน์ กล่าว