(เพิ่มเติม1) บล.ไทยพาณิชย์ มอง SET พักตัวช่วงสั้นโค้งสุดท้ายก่อนพุ่งทำนิวไฮ 2,000 จุดปีหน้ารับแรงหนุนใน ปท.

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday October 26, 2018 13:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บล.ไทยพาณิชย์ มองตลาดหุ้นไทยอยู่ในช่วงพักตัวระยะสั้นในช่วงโค้งสุดท้ายของปี รับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศ แต่ในปี 62 คาดว่าตลาดจะปรับตัวขึ้นตอบรับปัจจัยหนุนจากในประเทศทั้งเรื่องการเลือกตั้งและการลงทุนภาครัฐจะผลักดันให้ดัชนี SET ขึ้นไปทำสถิติสูงสุดใหม่ที่ระดับ 2,000 จุด ขณะที่กำไรสุทธิต่อหุ้น(EPS) ของบริษัทจดทะเบียนจะเติบโต 8-10% ตามทิศทางการเติบโตเศรษฐกิจไทยที่แข่งแกร่งมากขึ้น

นายพรเทพ ชูพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน สายงานวิจัย บล.ไทยพาณิชย์ (SCBS) กล่าวว่า หุ้นทั่วโลกปรับตัวขึ้นต่อเนื่องและยาวนานนับตั้งแต่จุดต่ำสุดเมื่อต้นปี 59 สร้างผลตอบแทนสูงกว่า 50% ในช่วงที่ผ่านมา เมื่อมองในแง่เศรษฐกิจยังไม่พบสัญญาณเตือนภาวะวิกฤต โดยเฉพาะตลาดหุ้นเอเชียและตลาดหุ้นไทยซึ่งปัจจุบัน Valuation ดูน่าสนใจมากกว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ

สำหรับประเทศไทย เราสังเกตเห็นว่าการใช้จ่ายและการลงทุนภายในประเทศยังแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ จากข้อมูลสถิติ มหภาคของ ธปท. และเริ่มส่งสัญญาณว่าไทยจะเข้าสู่วัฏจักรการลงทุนรอบใหม่ที่นำโดยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล การผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC ) ตลอดจนความต้องการปฏิรูปองค์กรธุรกิจสู่ยุคดิจิทัล

ทั้งนี้ SCBS มองว่าช่วงนี้ SET Index อาจมีการพักฐานตามปัจจัยเสี่ยงภายนอกประเทศ แต่จะปรับตัวขึ้นได้ตามปัจจัยพื้นฐานในประเทศที่จะดีต่อเนื่องไปในปี 62 โดยมองหุ้นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากอัตราการใช้กำลังการผลิตที่เริ่มตึงตัวซึ่งนำไปสู่การลงทุนภาคเอกชนและเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) จะให้ผลตอบแทนที่ดีตามปัจจัยพื้นฐาน

"ตลาดหุ้นไทยยังน่าสนใจในการลงทุนเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาค จากการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังเห็นการเติบโตที่แข็งแกร่ง ประกอบกับการลงทุนที่จะเกิดขึ้นในปี 62 จะช่วยกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ และหนุนภาคการบริโภคครัวเรือนกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น โดยที่หุ้นที่จะโดดเด่นมากในปี 62 จะเป็นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่ได้รับอานิสงส์จากการที่เศรษฐกิจไทยเติบโตดี ทำให้มีหนี้เสียลดลง การลงทุนที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้มีความต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้นตามมา และดอกเบี้ยนโยบายที่มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลบวกต่อกลุ่มธนาคารพาณิชย์ และกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมที่ได้แรงหนุนจากเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น"นายพรเทพ กล่าว

ส่วนการยกเลิกสิทธิประโยชน์ทางภาษีของกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่มีแนวโน้มจะสิ้นสุดในสิ้นปี 62 มองว่าจะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยเล็กน้อย เนื่องจากจะมีเม็ดเงินไหลออกจากตลาดหุ้นราว 7 หมื่นล้านบาท ในช่วงปี 63 ซึ่งเป็นเม็ดเงินของนักลงทุนที่ครบกำหนดอายุในช่วงปี 62 โดยปัจจุบันมีเม็ดเงินของกองทุน LTF รวมกว่า 4 แสนล้านบาทที่อยู่ไนตลาดหุ้นไทย อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) น่าจะมีการออกกองทุนใหม่มาทดแทน เพื่อรองรับการลงทุนหากมีการยกเลิกอง LTF และเป็นการดึงเม็ดเงินของกองทุน LTF ที่ยกเลิกไปกลับเข้ามาในตลาดทุนอีกครั้ง

ด้านเศรษฐกิจโลกมีสัญญาณชะลอตัวบ้าง แต่ไม่ใช่การเข้าสู่ภาวะวิกฤติ โดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ครึ่งหลังของวัฏจักรขาขึ้น เห็นได้จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกลง และมองเศรษฐกิจโลกยังเติบโตต่อเนื่อง แต่จะเติบโตด้วยอัตราที่ชะลอลงหลังจากแตะจุดสูงสุดในปี 61

อย่างไรก็ตาม แม้วัฏจักรขาขึ้นจะดำเนินต่อเนื่องมาถึง 10 ปีแล้วหลังวิกฤติการเงินปี 51 แต่ยังน่าจะดำเนินต่อไปได้ เนื่องจากอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกโดยรวมยังไม่มีสัญญาณของความร้อนแรงจนอันตราย (overheating) ส่วนแรงกดดันด้านเงินเฟ้อก็มีไม่มาก สัญญาณอีกอย่างหนึ่งที่บ่งชี้ว่าวัฏจักรเศรษฐกิจครั้งนี้อาจกินเวลานานกว่าปกติก็คือ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดรอบนี้เป็นการปรับขึ้นที่ช้ามาก ใช้เวลาถึง 3 ปีในการขึ้นดอกเบี้ยได้ 2% ต่างจากรอบก่อนๆ ในอดีตที่ใช้เวลาเพียงปีเดียวในการขึ้นดอกเบี้ยระดับดังกล่าว

ส่วนธนาคารกลางประเทศหลักๆ ส่วนใหญ่ยังไม่ได้เริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยธนาคารกลางยุโรป (ECB) น่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในไตรมาส 4/62 หรือเกือบ 1 ปีนับจากนี้ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ก็ยังไม่ได้ชะลอการซื้อสินทรัพย์อย่างเป็นเรื่องเป็นราว ในทางกลับกันจีนแสดงท่าทีที่ผ่อนคลายการเงินมากขึ้นในระยะหลังนี้เนื่องจากเศรษฐกิจของจีนจะได้รับผลกระทบจากข้อพิพาทการค้ากับสหรัฐฯ

นายพรเทพ กล่าวอีกว่า สำหรับตลาดหุ้นในประเทศอื่นๆที่บล.ไทยพาณิชย์แนะนำเป็นทางเลือกเพื่อให้นักลงทุนสามารถกระจายการลงทุนได้ เช่น ตลาดหุ้นยุโรป และตลาดหุ้นญี่ปุ่น ที่เริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้นหลังจากแนวโน้มของเศรษฐกิจกลับมาเติบโตขึ้น โดยเฉพาะในยุโรปที่เศรษฐกิจขยายตัวอย่างชัดเจน และการที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เตรียมทยอยลดการใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน (QE) เป็นการสะท้อนภาพของเศรษกิจยุโรปที่เห็นได้ชัดมากขึ้น ส่วนตลาดหุ้นจีนยังคงมีความน่าสนใจ แต่ต้องรอติดตามอีกครั้งหลังจากการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ ว่าจะมีผลต่อการกีดกันทางการค้ากับจีนมากน้อยแค่ไหน

โดยที่มองว่าตลาดหุ้นจีนยังมีความน่าสนใจจากการที่หุ้นในตลาดหุ้นจีนได้ปรับตัวลดลงไปมากแล้วในปีนี้ ทำให้หุ้นจีนมีความสนใจค่อนข้างมากหลังจากราคาหุ้นถูกลง และมองว่าผลกระทบจากสงครามการค้าจะมีผลต่อเศรษฐกิจจีนไม่มากนัก เพราะการส่งออกของจีนคิดเป็น 20% ของจีดีพี และการส่งออกของจีนไปสหรัฐฯคิดเป็น 10% ของจีดีพีเท่านั้น ซึ่งการลงทุนในตลาดหุ้นจีนถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่ไห้นักลงทุนสามารถกระจายการลงทุนได้

ส่วนเรื่องความเสี่ยงที่ต้องติดตาม ได้แก่ ปัญหาค่าเงินตลาดเกิดใหม่ซึ่งคาดว่าไม่น่าลุกลามเพราะเป็นปัจจัยเฉพาะตัวของบางประเทศซึ่งขาดวินัยและพึ่งพาเงินทุนไหลเข้าจากมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) มากเกินไปในช่วงก่อนหน้า ทำให้อาจเจอเศรษฐกิจหดตัวเมื่อสหรัฐฯ ปรับขึ้นดอกเบี้ย ส่วนไทยมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศจำนวนมาก หนี้ต่างประเทศน้อย เกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงมาก ฐานะการคลังแข็งแรง น่าจะผ่านพ้นความผันผวนภายนอกเหล่านี้ไปได้สบายๆ

บล.ไทยพาณิชย์ มองว่าไตรมาส 4/61 เริ่มเห็นสัญญาณของไทยที่เข้าสู่วัฏจักรการลงทุนรอบใหม่ เม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มียอดสะสม 12 เดือนรวม 1.14 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (จากตัวเลขล่าสุดถึงเดือนมิ.ย.61) สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 57 โดยดาดว่า FDI จะไหลเข้ามามากขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และสิทธิประโยชน์สำหรับการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) บวกกับในระยะต่อไปน่าจะมีการโยกเม็ดเงิน FDI มาในภูมิภาคจากการย้ายฐานการผลิตออกจากจีน เนื่องจากสงครามการค้ากับสหรัฐฯ

นอกจากนี้ อัตราการใช้กำลังการผลิตในประเทศไทยขยับขึ้นไปที่ 68% สูงสุดในรอบ 4 ปี จะส่งผลทำให้การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวเพิ่มขึ้น สอดคล้อง IMF ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้และปีหน้า สวนทางกับการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลก

ดังนั้น จึงมองว่าปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งจะส่งผลให้ SET index ทำจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 62 ที่ราว 2,000 จุด โดยใช้สมมุติฐาน PE ที่ 15.6 เท่าจาก sentiment เชิงบวกจากการเลือกตั้ง ประกอบกับการเติบโตของกำไรต่อหุ้น (EPS) ของตลาดโดยรวมที่ราว 8-10% ตาม GDP ที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างแข็งแกร่งวัฏจักรการลงทุนขาขึ้นนี้เองจะกระตุ้นให้ความต้องการที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นส่งผลดีต่อหุ้นกลุ่มนี้ นอกจากนี้ ยังส่งผลให้ความต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้นซึ่งเมื่อรวมกับแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายขาขึ้นก็จะหนุนให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ปรับเพิ่มขึ้นด้วยและส่งผลดีต่อธนาคารพาณิชย์ กลุ่มที่น่าจะได้รับอานิสงส์จากวัฏจักรการลงทุนขาขึ้นได้แก่ กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม (AMATA, ROJNA, WHA) และกลุ่มธนาคาร (BBL, KTB, TMB)

AMATA: รับผลดีจากความต้องการที่ดินนิคมฯ เพิ่มมากขึ้นและแม้จะมีที่ดินใน EEC จำนวนมากแล้วยังมีแผนหาที่ดินเพิ่มเติมอีกซึ่งน่าจะเพิ่ม NAV ของบริษัทได้อีกราว 13%

ROJNA: ราคาหุ้นล้าหลังที่สุดในกลุ่มบริษัทกำลังเร่งเพิ่มที่ดินใน EEC ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ผลการดำเนินงานเติบโต 26% (CAGR) ตลอด 3 ปีข้างหน้า

WHA: รับประโยชน์จาก EEC ทั้งจากธุรกิจนิคมฯ และธุรกิจโลจิสติกส์ คาดจำนวนที่ดินที่ขายได้จะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวและผลการดำเนินงานโต 16% (CAGR) ใน 3 ปีข้างหน้า

BBL: การขยายสินเชื่อจะได้รับประโยชน์จากการลงทุนภาคเอกชนที่ฟื้นตัวดีขึ้น BBL มีโอกาสดีที่สุดที่ valuation จะปรับขึ้นสู่ค่าเฉลี่ยในอดีตเพราะ ROE จะปรับตัวเพิ่มขึ้น

KTB: จะเป็นธนาคารที่ตั้งสำรองลดลงมากที่สุด สินเชื่อจะเติบโตเร่งตัวขึ้น valuation น่าสนใจที่ PBV 0.87 เท่า

TMB: ราคาหุ้น TMB ปรับตัว underperform กลุ่มธนาคารอยู่ 20% YTD แต่เราคาดว่ารายได้ค่าธรรมเนียมของ TMB จะเติบโตสูงกว่าธนาคารอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง และ NIM จะฟื้นตัวดีขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ