ทริสฯ คงอันดับเครดิตองค์กร ROJNA ที่ "BBB+" แนวโน้ม "Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday October 29, 2018 15:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด คงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. สวนอุตสาหกรรมโรจนะ (ROJNA) ที่ระดับ "BBB+" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่"

อันดับเครดิตสะท้อนถึงรายได้ที่สม่ำเสมอจากการขายไฟฟ้าและประสบการณ์ที่ยาวนานของบริษัทในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเพื่อขายในทำเลที่หลากหลายทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวลดทอนลงอย่างชัดเจนจากธรรมชาติที่ผันผวนของธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ตลอดจนการฟื้นตัวที่เชื่องช้าของสวนอุตสาหกรรมโรจนะซึ่งเป็นนิคมอุตสาหกรรมหลักของบริษัทในจังหวัดอยุธยา และระดับหนี้สินที่ค่อนข้างสูงของบริษัท

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

รายได้ที่สม่ำเสมอจากการขายไฟฟ้า ROJNA มีรายได้ประจำที่แน่นอนจากการขายไฟฟ้าเนื่องจากบริษัทมีสัญญาขายไฟฟ้าระยะยาวให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) รวมถึงการเพิ่มขึ้นของลูกค้าอุตสาหกรรมในพื้นที่สวนอุตสาหกรรมของบริษัทในจังหวัดอยุธยา ทั้งนี้ รายได้จากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมและโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซล่าร์ฟาร์ม) มีสัดส่วนคิดเป็น 80% ของรายได้รวมของบริษัท

บริษัท โรจนะ พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทได้ทำสัญญาขายไฟฟ้าระยะยาว (Power Purchase Agreement -- PPA) ให้แก่ กฟผ. ซึ่งอยู่ในโครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (Small Power Producer -- SPP) ทั้งนี้ บริษัทโรจนะ พาวเวอร์ ขายพลังงานไฟฟ้าจำนวน 55% ของกำลังการผลิตทั้งหมดให้แก่ กฟผ. และขายส่วนที่เหลือให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรมในพื้นที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะในจังหวัดอยุธยา สัญญาดังกล่าวมีอายุ 25 ปี และปัจจุบันสัญญามีอายุเหลืออยู่อีก 6 ปีกว่า

นอกจากนี้ บริษัท โรจนะ เอ็นเนอร์จี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยอีกแห่งหนึ่งของบริษัทก็ยังได้ทำสัญญาขายไฟฟ้าระยะยาวให้แก่ กฟภ. จำนวนทั้งสิ้น 3 สัญญาด้วย โดย กฟภ. เป็นลูกค้าเพียงรายเดียวของบริษัทมาตั้งแต่ปี 2557 สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาที่ต่ออายุโดยอัตโนมัติทุก ๆ 5 ปี

ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงคาดว่า ROJNA จะมีผลประกอบการที่ค่อนข้างสม่ำเสมอ โดยรายได้ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 12,000-13,000 ล้านบาทต่อปีในช่วงประมาณการซึ่งเป็นผลจากประมาณการความต้องการใช้ไฟ้ฟ้าที่สูงขึ้นและการขายที่ดินที่เพิ่มขึ้นจากโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ทั้งนี้ บริษัทจะมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ประมาณ 3,000 ล้านบาทต่อปีซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ผ่านมา

มีผลงานเป็นที่ยอมรับในธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมและมีทำเลที่มีความหลากหลายปานกลาง ROJNA เป็นหนึ่งในผู้นำในธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรมของประเทศไทยมาประมาณ 30 ปี ปัจจุบันบริษัทเป็นเจ้าของและเป็นผู้พัฒนาสวนอุตสาหกรรมรวม 6 แห่งในจังหวัดอยุธยา ระยอง ปราจีนบุรี และชลบุรี หลังจากเกิดเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ในพื้นที่จังหวัดอยุธยาในปี 2554 บริษัทได้ขยายธุรกิจไปในพื้นที่จังหวัดอื่น ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงจากอุปสงค์นิคมอุตสาหกรรมที่ซบเซาในพื้นที่จังหวัดอยุธยา

นิคมอุตสาหกรรมของบริษัทในพื้นที่ภาคตะวันออกของประเทศคาดว่าจะเพิ่มยอดขายที่ดินในช่วง 3 ปีข้างหน้าซึ่งเป็นผลจากโครงการสนับสนุนการลงทุนของภาครัฐซึ่งรวมถึงสิทธิประโยชน์ใหม่ ๆ สำหรับนักลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนและรวมถึงโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกด้วย

บริษัทยังคงเป็นผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมรายใหญ่อันดับ 3 ของประเทศโดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 20% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา รองจากอันดับ 1 คือ บมจ. ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) (51%) และอันดับ 2 คือ บมจ. อมตะ คอร์ปอเรชัน (AMATA) (24%)

ธรรมชาติที่ผันผวนของธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมและการฟื้นตัวที่เชื่องช้าของสวนอุตสาหกรรมของบริษัทในจังหวัดอยุธยา ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมเป็นธุรกิจที่มีความผันผวนโดยได้รับอิทธิพลจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะเศรษฐกิจ ตลอดจนสภานการณ์ทางการเมือง และบรรยากาศในการลงทุน ทั้งนี้ เศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาได้ส่งผลต่อการชะงักงันในการลงทุนและกระทบต่อยอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ จากรายงานของ CB Richard Ellis (CBRE) ระบุว่ายอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยยังคงซบเซา โดยยอดขายลดลงเหลืออยู่ที่ระดับ 1,700 ไร่ในปี 2560 และ 511 ไร่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 จากที่ระดับประมาณ 4,000 ไร่ต่อปีในอดีต ส่งผลให้ยอดขายที่ดินของบริษัทก็ลดลงด้วยเช่นกันโดยลดลงเหลือเพียง 390 ไร่ในปี 2560 และ179 ไร่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 เปรียบเทียบกับยอดขายที่ปีละ 500-700 ไร่ในอดีต

ภาระหนี้ของบริษัทอยู่ในระดับสูงในขณะที่กระแสเงินสดอยู่ในระดับดี ภาระหนี้ของบริษัทยังอยู่ในระดับที่สูงแม้ว่าจะได้รับเงินจากการขายหุ้นของ บมจ.ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น (TICON) ก็ตาม นอกจากจะนำเงินที่ได้ไปใช้ในการชำระหนี้และซื้อที่ดินเพิ่มแล้ว บริษัทยังนำเงินดังกล่าวไปลงทุนในหลักทรัพย์เพื่อค้าอื่น ๆ เพื่อเป็นการกระจายการลงทุนอีกด้วย ทั้งนี้ อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทคาดว่าจะลดลงเล็กน้อยในช่วงเวลาประมาณการแต่ก็ถือว่ายังคงอยู่ในระดับสูงที่ประมาณ 50%

กระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้ของบริษัทอยู่ในระดับที่จัดการได้ หนี้ที่จะครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้ามีจำนวน 6,500 ล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วน 78% ที่เป็นตั๋วแลกเงินและเงินกู้ยืมระยะสั้น และส่วนที่เหลือเป็นเงินกู้ยืมระยะยาว เงินลงทุนของบริษัทคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 1,000 ล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2561-2564 โดยอีก 12 เดือนข้างหน้า บริษัทจะจ่ายชำระหนี้และลงทุนด้วยเงินทุนจากการดำเนินงานที่จะมีจำนวน 1,700 ล้านบาท กับเงินสดในมือและเงินลงทุนระยะสั้นจำนวน 5,100 ล้านบาท และวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้จากสถาบันการเงินอีกจำนวน 1,900 ล้านบาท

ทั้งนี้ อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินของบริษัทในระยะเวลาประมาณการคาดว่าจะอยู่ในช่วง 11%-15% ซึ่งจะสูงกว่าอัตราส่วน 8%-11% ในระหว่างปี 2558-2560 ซึ่งเป็นผลมาจากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นและการทยอยจ่ายคืนเงินกู้ยืม

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนความคาดหวังว่าบริษัทจะยังคงสามารถรักษาสถานภาพในธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเอาไว้ได้ นอกจากนี้ สัดส่วนกระแสเงินสดจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าคาดว่าจะช่วยบรรเทาความผันผวนของยอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมของบริษัทได้

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากกระแสเงินสดและความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญอย่างต่อเนื่อง ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากบริษัทมีการลงทุนโดยใช้เงินกู้จำนวนมากจนทำให้สถานะการเงินและกระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้ของบริษัทอ่อนแอลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ