บล.โกลเบล็ก มองหุ้นไทยสัปดาห์นี้แกว่งผันผวนในกรอบ 1,600-1,650 จุด จับตาคว่ำบาตรอิหร่าน-สงครามการค้า

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday October 30, 2018 14:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บล.โกลเบล็ก (GBS) ประเมินหุ้นไทยสัปดาห์นี้แกว่งตัวผันผวนในกรอบ 1,600-1,650 จุด แม้คาดสถานการณ์การคว่ำบาตรอิหร่านในวันที่ 4 พ.ย.นี้จะส่งผลต่อราคาน้ำมันตลาดโลกเพิ่มขึ้น และภาวะเศรษฐกิจในประเทศยังคงมีทิศทางที่ดีจากการขยายตัวของอุปสงค์ แต่ตลาดยังมีแรงกดดันจากความกังวลต่อหนี้สาธารณะของประเทศในกลุ่มยูโรโซน และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ที่อาจจะส่งผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และยังคงมี Fund Flow ไหลออกต่อเนื่อง

นางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก กล่าวว่า ดัชนีหุ้นไทยในสัปดาห์นี้ ได้อานิสงส์จากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะใกล้ถึงกำหนดวันที่ 4 พ.ย. ที่สหรัฐฯเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ คว่ำบาตรอิหร่าน และมีหลายประเทศส่งสัญญาณลดการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านซึ่งจะส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบโลกตึงตัวมากขึ้น

รวมถึงทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือน ก.ย.61 และไตรมาส 3/61 มีการขยายตัวจากอุปสงค์ภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยการบริโภคภาคเอกชนยังคงส่งสัญญาณบวกจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งและการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ยังขยายตัวได้ดี โดยยังคงคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไทยปี 61 โต 4.5% แม้ปรับลดส่งออกเหลือโต 8% และคาดการณ์ว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจรจะเตรียมเสนอมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจโดยรวมในช่วงปลายปี

ส่วนปัจจัยด้านลบที่ยังคงกดดันการลงทุนอยู่ในช่วงนี้ อาทิ ประเด็นความกังวลหนี้สาธารณะของประเทศในกลุ่มยูโรโซนกลับมาอีกหลังจากรัฐบาลอิตาลีจัดทำงบประมาณขาดดุลที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ ซึ่งทำให้ทั้ง S&P และมูดี้ส์ ต่างประกาศปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของอิตาลี ประกอบกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่ยังไม่จบ และส่งผลให้แนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และ Fund Flow ยังคงไหลออก นักลงทุนต่างชาติมีสถานะขายตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน 2.7 แสนล้านบาท

สำหรับปัจจัยที่น่าจับตาในสัปดาห์นี้ ได้แก่ วันที่ 30 ต.ค. สหภาพยุโรป (อียู) เปิดเผยความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นผู้บริโภค และ GDP ไตรมาส 3/61 (ประมาณการเบื้องต้น) ส่วนสหรัฐฯ เปิดเผย ดัชนีราคาบ้านเดือนส.ค. และความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนต.ค., วันที่ 31 ต.ค. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานภาวะเศรษฐกิจไทย, ธนาคารกลางญี่ปุ่นประชุมนโยบายการเงินและแถลงมติอัตราดอกเบี้ย, อียู เปิดเผย อัตราเงินเฟ้อเบื้องต้นเดือนต.ค. และอัตราว่างงานเดือนก.ย.,สหรัฐฯ เปิดเผย ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนต.ค. และสต็อกน้ำมัน

นอกจากนี้ ยังคงต้องจับตาในช่วงต้นเดือนพ.ย. ธปท.ประกาศหลักเกณฑ์สินเชื่อที่อยู่อาศัย และในวันที่ 1 พ.ย. จีน เปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนต.ค., ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ประชุมนโยบายการเงิน สหรัฐฯ เปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนต.ค. และดัชนีภาคการผลิตเดือนต.ค., วันที่ 4 พ.ย. กำหนดวันที่สหรัฐฯเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ คว่ำบาตรอิหร่าน วันที่ 6 พ.ย. วันเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา กลางเทอมของสหรัฐฯ และในวันที่ 7-8 พ.ย. กำหนดประชุมธนาคารกลางสหรัฐ

ด้านนายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก กล่าวว่า แนวโน้มตลาดหุ้นในสัปดาห์นี้ผันผวนในกรอบ 1,600-1,650 จุด โดยแนะนำเก็งกำไรในหุ้น "Low Beta, High Dividend" ซึ่งคัดสรรจากหุ้นที่มีค่า Beta ต่ำกว่า 1 และ Dividend Yield มากกว่า 5% ได้แก่ ANAN, PSH, QH, ASK, TISCO, KKP, SPRC, TOP และ TKS รวมถึงหุ้นที่ได้อานิสงส์จากเงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องหนุนกลุ่มส่งออก แนะนำ CPF, SVI, XO และ KCE

ส่วนแนวทางการลงทุนในทองคำ ปัจจัยจากสงครามการค้าโลกยังคงเป็นตัวหนุนให้มีการโยกเงินมาลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย โดยเฉพาะทองคำ ประกอบกับความตึงเครียดในตะวันออกกลาง ทั้งจากประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับซาอุดิอาระเบีย และจากการที่สหรัฐฯบีบให้นานาชาติคว่ำบาตรอิหร่าน ส่งผลให้ยอดซื้อสะสมของกองทุนทองคำ SPDR กลับมาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

แต่อย่างไรก็ตาม ราคาทองคำโดยรวมยังคง มีแรงกดดันของเงินดอลลาร์ที่มีแนวโน้มแข็งค่า ทำให้ราคาทองคำในรูปสกุลเงินดอลลาร์ค่อย ๆ แกว่งตัวขึ้น ในขณะที่เงินบาทที่อ่อนค่าอย่างรวดเร็วได้ช่วยหนุนราคาทองคำในประเทศทะยานขึ้นต่อเนื่อง

ดังนั้น ประเมินกรอบการลงทุนทองคำในสัปดาห์นี้อยู่ระหว่าง 1,215–1,250 ดอลลาร์/ออนซ์ แนะนำให้เน้น swing long ในกรอบดังกล่าว หากราคาทะยานขึ้นเหนือ 1,250 ดอลลาร์/ออนซ์ ผู้ที่ถือเล่นรอบระยะกลางควรปิดทำกำไร และหากราคาหลุดลงต่ำกว่า 1,215 ดอลลาร์/ออนซ์ แนะนำปรับมาเล่น swing short


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ