โบรกเกอร์มองกลุ่มธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในปี 51 จะมีผลประกอบการที่ดีกว่าปีก่อน โดยเฉพาะ ธนาคารกรุงไทย (KTB) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา(BAY) ธนาคารนครหลวงไทย(SCIB) ธนาคารทหารไทย(TMB) และธนาคารไทยธนาคาร(BT) จากปัจจัยหลักที่ในปีก่อนธนาคารกลุ่มนี้ได้มีการตั้งสำรองค่อนข้างสูง และมีการจัดชั้นสินเชื่อที่เข้มงวดมากขึ้น การตั้งสำรองจึงเพิ่มขึ้นกว่าทุกปีที่ผ่านมาอย่างมีนัยสำคัญ แต่ปีนี้น่าจะกลับมาเป็นปกติได้
เช่นเดียวกับ 3 ธนาคารขนาดใหญ่ อย่างธนาคารกรุงเทพ(BBL) ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB) และธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ที่ปีนี้น่าจะดีกว่าปีที่แล้ว แต่คงไม่มากเท่ากับธนาคารขนาดเล็ก เนื่องจากปีที่แล้วธนาคารกลุ่มนี้ไม่ได้มีค่าใช้จ่ายพิเศษ หรือมีการตั้งสำรองในระดับสูงเช่นเดียวกับธนาคารขนาดกลางและเล็ก เพราะฉะนั้นปีนี้ผลประกอบการของธนาคารในกลุ่มนี้จึงน่าจะดีขึ้นตามภาวะของสินเชื่อที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น
"ธุรกิจกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในปีนี้มีแนวโน้มที่ดีขึ้นกว่าปีที่แล้วอย่างอย่างแน่นอน เนื่องจากสินเชื่อในภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่าปีก่อนที่ค่อนข้างทรงตัว ซึ่งเป็นเพราะได้รับอานิสงส์จากนโยบายภาครัฐที่คาดว่าจะออกมาเพื่อกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน สอดคล้องกับงบประมาณแผ่นดินที่ทำไว้เป็นงบประมาณขาดดุล" น.ส.สุกัญญา อุดมวรนันท์ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าว
ด้านราคาหุ้นของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ก็น่าจะปรับตัวดีขึ้น แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับภาวะตลาดโดยรวมด้วย อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาเป็นรายตัว มองว่า SCIB เป็นหุ้นที่น่าสนใจ เพราะที่ผ่านมาราคาหุ้นลดลงค่อนข้างมาก จากการตั้งสำรองในระดับสูงกว่าปีที่ผ่านๆ มา ขณะนี้ราคาจึงค่อนข้างถูก การตั้งสำรองในปีนี้น่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ ประกอบกับภายในปีนี้จะมีข่าวพันธมิตรใหม่จึงน่าจะกลายเป็นปัจจัยกระตุ้นราคาให้กับ SCIB ได้
ส่วน KTB ราคาในขณะนี้ก็ค่อนข้างถูก แต่มีความไม่แน่นอนในเรื่องการตั้งสำรอง จึงอาจจะไม่เห็นราคาหุ้นวิ่งเร็วนัก ส่วน BAY ปีที่แล้วราคาขึ้นไปมากแล้วจากปัจจัยบวกเรื่องพันธมิตร แต่กระบวนการร่วมทุนของกลุ่มจีอีฯ ก็ยังไม่แล้วเสร็จ ทั้งๆ ที่เดิมประกาศว่าจะเสร็จสิ้นในไตรมาสที่ 4/50 ทำให้ตลาดเริ่มไม่มั่นใจ
สำหรับกรณีของ TMB ซึ่งที่ผ่านมาสินเชื่อขยายตัวในอัตราติดลบ ขณะเดียวกันก็มีปัญหาเรื่องหนี้เสีย และการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นอย่างมาก คาดว่าโดยรวมน่าดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว เพราะได้มีเงินทุนเพิ่มขึ้นจากการเพิ่มทุน ธนาคารจึงน่าจะเร่งขยายธุรกิจเพื่อไม่ให้ผลประกอบการติดลบต่อเนื่อง โดยปีนี้คาดว่าคงจะมีการตัดขายหนี้เสียออกบ้าง เพื่อแก้ปัญหาสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้( NPL)
เช่นเดียวกับ BT คาดว่าผลการขาดทุนจาก CDO จะลดลง เนื่องจากขณะนี้ได้ทำการตัดขายออกไปบางส่วนแล้ว และธปท.ได้สั่งให้ตั้งสำรองเพิ่มค่อนข้างมาก ฉะนั้นการตั้งสำรองในปีนี้คงไม่สูงเท่ากับปีที่แล้ว
ส่วนกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ อย่าง BBL น่าจะปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากสินเชื่อภาคธุรกิจที่มีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้นในปีนี้ เพราะ BBL เป็นธนาคารที่มีส่วนแบ่งตลาดในสินเชื่อประเภทนี้สูงที่สุดในระบบ เช่นเดียวกับ KBANK ที่ราคาในปีนี้มีโอกาสเติบโตจากปัจจัยบวกในเรื่องรายได้ค่าธรรมเนียมที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง
ด้านนายณาศิส ประเสริฐสกุล ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.ฟาร์อีสท์ กล่าวว่า ธุรกิจกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในปีนี้น่าจะดีกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากการตั้งสำรองของธนาคารพาณิชย์ต่างๆ น่าจะกลับมาอยู่ในระดับปกติได้
คาดว่ากลุ่มธนาคารพาณิชย์ 8 ตัว คือ BBL, KBANK, SCB , BAY, KTB, SCIB, TMB, TISCO จะมีกำไรสุทธิปี 51 เติบโตประมาณ 533% โดยเฉพาะ KBANK และ BAY เนื่องจากคาดว่ากำไรของทั้ง 2 แห่งดังกล่าว จะเติบโตได้ต่อเนื่องจากการที่มีพอร์ตสินเชื่อเอสเอ็มอีและสินเชื่อเช่าซื้อค่อนข้างมาก
โดย BAY จะได้รับประโยชน์จากการร่วมเป็นพันธมิตรกับจีอี มันนี่ โดยเฉพาะในกลุ่มเช่าซื้อที่กลุ่มจีอีฯ มีส่วนแบ่งการตลาดสูงที่สุดในกลุ่มรถยนตร์และมอเตอร์ไซค์ ดังนั้น ปีนี้ BAY มีโอกาสที่จะขยายส่วนแบ่งการตลาดของเช่าซื้อเพิ่มขึ้นเป็น 30% กว่า ได้ ส่งผลให้ผลประกอบการของ BAY ในปีนี้เติบโตค่อนข้างดี
ขณะเดียวกันการตั้งสำรองในปีนี้ก็น่าจะลดลงกว่าปีที่แล้วมาอยู่ที่ 4,000 ล้านบาท จากปีที่แล้วที่ตั้งไว้สูงถึง 12,900 ล้านบาท ทำให้เงินทุนสำรอง (CAR) ของ BAY แข็งแกร่งที่สุดในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ด้วยกัน จึงคาดว่าปีนี้ BAY จะมีกำไรสุทธิโต 300% กว่า
KBANK ได้รับอานิสงส์จากการกระจายความเสี่ยงในพอร์ตสินเชื่อที่ค่อนข้างดี เนื่องจากมีสัดส่วนสินเชื่อเอสเอ็มอีและสินเชื่อรายย่อยค่อนข้างมากในพอร์ท ซึ่งทั้ง 2 ส่วนนี้ขยายตัวได้ค่อนข้างดีในปีที่ผ่านมา และมองว่าจะเป็นอย่างนี้ต่อเนื่องจนถึงปีนี้
BBL และ KTB นั้น คล้ายกัน คือ จะมีปัญหาในเรื่องของสินเชื่อรายใหญ่(Corporate) แต่คาดว่าพอร์ตสินเชื่อของ BBL น่าจะเติบโตได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ขณะที่ KTB เพิ่งเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวของสินเชื่อขนาดใหญ่ แต่น่าจะฟื้นตัวได้เต็มที่ในช่วงครึ่งปีหลัง
TMB และ BT เนื่องจากมีสัดส่วนสินเชื่อรายใหญ่ หรือ Corporate ในพอร์ตค่อนข้างมาก แม้ว่าปีนี้จะมีนโยบายที่หันมารุกสินเชื่อรายย่อยเพิ่มขึ้น แต่ก็มีคู่แข่งพอสมควร หรือธุรกิจลีสซิ่ง ก็มี BAY เป็นคู่แข่ง จึงไม่น่าจะสู้ได้ ส่วนสินเชื่อที่อยู่อาศัยก็คงจะแข่งขันกับ SCB ได้ยาก เพราะขณะนี้ SCB ครองส่วนแบ่งตลาดสูงที่สุด ส่วน BT ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างแก้ปัญหาภายใน
สำหรับ SCIB มองว่าปีนี้จะ turnaround แต่ทิศทางยังไม่ชัดเจน แม้จะมีการวางเป้าหมายการขยายธุรกิจในส่วนต่างๆ แต่คาดว่าจะไม่สะท้อนเร็วนัก น่าจะมาสะท้อนได้ชัดเจนในปี 52 มากกว่า แต่อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการของ SCIB ในปีนี้น่าจะเติบโตได้ดี เพราะปีที่แล้วตั้งสำรองไว้สูง แต่กำไรปกติก่อนหักสำรองอาจไม่ดีเท่าไรนัก
ทั้งนี้ บล.ฟาร์อีสท์ ให้ราคาเป้าหมายกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ไว้ดังนี้ KBANK ที่ราคา 102 บาท, BBL ที่ราคา 148 บาท, SCB ที่ราคา 98.50 บาท, BAY ที่ราคา 29.50 บาท , KTB ที่ราคา 12.30 บาท, TISCO ที่ราคา 33.50 บาท โดยแนะนำให้ซื้อเพื่อเก็งกำไร KTB และ TISCO
เปรียบเทียบราคาหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ตั้งแต่ต้นปีถึงสิ้นปี 50
หุ้น ราคาปิด 3 ม.ค. ราคาปิด 28 ธ.ค. เปลี่ยนแปลง
BAY 17.60 26.25 +49.15 %
BBL 106.00 118.00 +11.32 %
KBANK 60.00 87.00 +45.00 %
KTB 11.30 10.10 -10.62 %
SCB 56.00 86.50 +54.46 %
SCIB 16.40 14.80 -9.76 %
TISCO 21.00 30.00 +42.86 %
TMB 2.56 1.46 -42.97 %
--อินโฟเควสท์ โดย อภิญญา วุฒิเมธากุล/เสาวลักษณ์/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--