ฟิทช์ฯ จัดอันดับเครดิตเครดิต AWN ที่ "BBB+" แนวโน้มมีเสถียรภาพ

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday November 1, 2018 15:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศจัดอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ (Long-Term Foreign-Currency Issuer Default Rating) และอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินในประเทศ (Long-Term Local-Currency Issuer Default Rating) ของ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ AWN ที่ ‘BBB+’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต

อันดับเครดิตเท่ากับอันดับเครดิตของบริษัทแม่: อันดับเครดิตของ AWN เท่ากับอันดับเครดิตของบริษัทแม่ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ AIS (ซึ่งมีอันดับเครดิตที่ ‘BBB+’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) โดยสะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งระหว่าง AWN และ AIS ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทลูก (Parent and Subsidiary Rating Linkage Criteria) AIS ถือหุ้นทั้งหมดใน AWN ทำให้มีอำนาจควบคุมการดำเนินธุรกิจ และนโยบายด้านการเงิน และการลงทุนของ AWN

โดย AWN เป็นบริษัทที่มีความสำคัญต่อกลุ่ม โดยมีสัดส่วนรายได้และกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า (EBITDAR) คิดเป็นร้อยละ 97 และ 85 ของกลุ่ม ตามลำดับ นอกจากนี้ AWN ยังมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ต่อกลุ่ม AIS โดยเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ 2.1GHz และ 1.8GHz และ 900Mhz และเพิ่งชนะการประมูลคลื่นความถี่ 1.8GHz เพิ่มเติมจำนวน 5MHz ในเดือนสิงหาคม 2561

รายได้เพิ่มขึ้นจากการเติบโตของบริการด้านข้อมูล: ฟิทช์คาดว่ารายได้จากการให้บริการ (ซึ่งรวมถึงรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง) ของ AIS จะเติบโตประมาณร้อยละ 5-6 ต่อปี ในปี 2561 และ 2562 (ครึ่งปีแรกของปี 2561 เติบโตร้อยละ 4.9) เนื่องจากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของการใช้บริการด้านข้อมูลผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ และจำนวนผู้ใช้บริการบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงที่เพิ่มขึ้น

ฟิทช์คาดว่ารายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จะเติบโตในระดับปานกลางที่ร้อยละ 3-4 ต่อปี ในปี 2561 เนื่องจากการเติบโตที่แข็งแกร่งของการให้บริการที่ไม่ใช่เสียง จะถูกลดทอนโดยรายได้จากการให้บริการด้านเสียงที่ลดลง ในขณะที่รายได้จากการให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงน่าจะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง มาอยู่ที่ 4 พันล้านในปี 2561 จาก 3 พันล้านบาท ในปี 2560 (ครึ่งปีแรกของปี 2561 มีรายได้ 2 พันล้านบาท)

กำไรเติบโต : ฟิทช์คาดว่า EBITDAR ของ AIS จะปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 7.8 หมื่นล้านบาทในปี 2561 จาก 7.4 หมื่นล้านบาทในปี 2560 จากการเติบโตของรายได้ และอัตราส่วนกำไรที่ปรับตัวดีขึ้น อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า ต่อรายได้ (EBITDAR Margin) ของ AIS น่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 47-48 ในปี 2561 และ 2562 เนื่องจากค่าใช้จ่ายทางการตลาด และค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายให้ภาครัฐลดลง โดยสัดส่วนค่าใช้จ่ายทางการตลาด (ซึ่งรวมค่าใช้จ่ายในการให้ส่วนลดค่าเครื่อง) ต่อรายได้จากการให้บริการของ AIS ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2561 ลดลง มาอยู่ที่ร้อยละ 6.6 จากร้อยละ 7.7 ในปี 2560

นอกจากนี้ EBITDAR Margin ของ AIS ยังได้รับผลบวกจากการปรับลดค่าธรรมเนียมในการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (Universal Service Obligation: USO) เป็นร้อยละ 2.5 ของรายได้ จากร้อยละ 3.75 ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2560 เป็นต้นมา ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2561 EBITDA Margin ของ AIS ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 47.5 จากร้อยละ 46.6 ในปี 2560

ความคล่องตัวในการรองรับการลงทุน: กระแสเงินสดสุทธิ (Free Cash Flow) ของ AIS น่าจะยังคงติดลบในปี 2561 แต่น่าจะปรับตัวเป็นบวกในปี 2562 (ปี 2560: ติดลบ 1.2 หมื่นล้านบาท) เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการชำระค่าคลื่นความถี่ที่อยู่ในระดับต่ำในปี 2562 ประกอบด้วยเงินลงทุนด้านเครือข่ายของ AIS น่าจะปรับตัวลดลงในปี 2561 เนื่องจากบริษัทได้ผ่านช่วงการลงทุนสูงในการขยายเครือข่าย 3G และ 4G แล้ว เงินลงทุนด้านเครือข่ายน่าจะลดลงมาอยู่ที่ 2.5-2.7 หมื่นล้านบาทต่อปี ในปี 2561 และ 2562 จาก 4.1-4.8 หมื่นล้านต่อปี ในช่วงสองปีที่ผ่านมา

ดังนั้น อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO-Adjusted Net Leverage) ของ AIS น่าจะปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 1.5-1.6 เท่า ในปี 2561 จาก 1.7 เท่าในปี 2560 ซึ่งจะทำให้ความสามารถในการรองรับหนี้สินที่เพิ่มโดยไม่กระทบต่ออันดับเครดิต และความคล่องตัวด้านการเงินในการรองรับการลงทุนเพิ่มเติมเพิ่มขึ้น

ผู้นำตลาด: AIS สามารถรักษาสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องในฐานะผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ที่สุดในประเทศในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ฟิทช์คาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดตามรายได้จากการให้บริการให้อยู่ในระดับประมาณร้อยละ 50 ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า (ครึ่งปีแรกของปี 2561: ร้อยละ 49) นอกจากนี้สถานะทางธุรกิจของ AIS ยังได้รับการสนับสนุนจากชื่อเสียงทางการค้าของบริษัทที่เป็นที่รู้จักเป็นอย่างดี และเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ครอบคลุมมากที่สุด

การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป

อันดับเครดิตของ AWN เท่ากับอันดับเครดิตของ AIS เนื่องจากความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งระหว่างบริษัททั้งสอง อันดับเครดิตของ AIS สะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในฐานะผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย และสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง AIS มีอันดับเครดิตสูงกว่า DTAC เนื่องจาก DTAC มีขนาดรายได้ที่เล็กกว่า มีสถานะทางการตลาดที่ด้อยกว่า และมีอัตราส่วนกำไรต่อรายได้ที่ต่ำกว่า AIS อันดับเครดิตของ DTAC ได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหนึ่งอันดับจากอันดับเครดิต Standalone ของ DTAC เพื่อสะท้อนถึงความเกี่ยวเนื่องในระดับปานกลางระหว่าง DTAC กับ Telenor โดย Telenor มีอำนาจควบคุมคณะกรรมการและผู้บริหารของ DTAC

อันดับเครดิตของ AIS อยู่ในระดับเดียวกับอันดับเครดิตโดยลำพัง (Standalone Credit Profile) ของ Telekom Malaysia Berhad หรือ TM ที่ ‘BBB+’ TM เป็นผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงในประเทศมาเลเซีย TM มีสถานะทางธุรกิจที่ดีกว่า AIS จากสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งและการแข่งขันที่ต่ำในตลาดอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงในประเทศมาเลเซีย อย่างไรก็ตาม AIS มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งกว่าเนื่องจากอัตราส่วนหนี้สินที่อยู่ในระดับต่ำกว่า มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่กว่า และ มี EBITDAR Margin ที่สูงกว่า

อันดับเครดิตของ AIS สูงกว่าอันดับเครดิตของ PLDT Inc. ซึ่งเป็นผู้ประกอบการโทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดของประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งมีอันดับเครดิตที่ ‘BBB’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ AIS มีอัตราส่วนหนี้สินที่ระดับ 2 เท่า ซึ่งต่ำกว่า PLDT ซึ่งมีอัตราส่วนหนี้สินที่ระดับ 2.6-2.8 เท่าถึงแม้ว่า AIS จะมีบริการโทรคมนาคมที่กระจายตัวน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตของ PLDT ได้รับผลกระทบในระดับปานกลางจากสภาพการดำเนินธุรกิจ (Operating Environment) ในประเทศฟิลิปปินส์ ฟิทช์พิจารณา Operating Environment ของประเทศฟิลิปปินส์ อยู่ที่ระดับ ‘bb’ โดยพิจารณาถึงลักษณะการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ของบริษัท และระบบธรรมาภิบาล (Systematic Governance) ในประเทศฟิลิปปินส์ที่อยู่ในระดับต่ำ

สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ

  • รายได้จากการให้บริการเติบโตร้อยละ 4-6 ต่อปี ในปี 2561 และ 2562
  • EBITDAR Margin ในปี 2561 และ 2562 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 47-48 (2560: ร้อยละ 45) เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการให้ส่วนลดค่าเครื่องที่ลดลง และการปรับลดค่าธรรมเนียม USO
  • เงินลงทุนในการขยายโครงข่ายอยู่ที่ 2.5-2.7 หมื่นล้านบาทต่อปี ในช่วงปี 2561 และ 2562 (2560: 4.1 หมื่นล้านบาท)
  • จ่ายเงินปันผลในอัตราร้อยละ 70 ของกำไร

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต

ปัจจัยบวก คือ - การเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตในแง่บวกของ AIS โดยที่ความสัมพันธ์ระหว่าง AIS และ AWN ไม่อ่อนแอลง ส่วน ปัจจัยลบ คือ - การเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตของ AIS ในแง่ลบ

สำหรับอันดับเครดิตของ AIS ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคตตามรายงานการจัดอันดับลงวันที่ 16 ตุลาคม 2561 มีดังนี้ ปัจจัยบวก คือ บริษัทมีกระแสเงินสดสุทธิเป็นบวก และ EBITDAR Margin ของบริษัทสูงกว่าร้อยละ 45 อย่างต่อเนื่อง ส่วนปัจจัยลบ คือ การเพิ่มขึ้นของอัตราส่วน FFO- Adjusted Net Leverage สูงกว่า 2.0 เท่าอย่างต่อเนื่อง และ การเปลี่ยนแปลงของกฎหมาย หรือกฎระเบียบของกิจการโทรคมนาคมที่ส่งผลในแง่ลบต่อบริษัท

สภาพคล่องที่บริหารจัดการได้: สภาพคล่องของ AIS อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ ถึงแม้ว่ากระแสเงินสดสุทธิจะเป็นลบในปี 2561 โดยสภาพคล่องของ AIS ได้รับการสนับสนุนจากเงินสดจำนวน 1.1 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2560 ซึ่งเพียงพอสำหรับชำระคืนหนี้ที่กำหนดชำระในปี 2561 จำนวน 9.3 พันล้านบาท นอกจากนี้ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2561 บริษัทมีวงเงินกู้จำนวน 1.5 หมื่นล้านบาท เพื่อรองรับกระแสเงินสดที่ติดลบในปี 2561


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ