นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการสายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้คาดว่าจะปรับตัวขึ้นในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะตลาดหุ้นที่เกี่ยวข้องกับจีน ขานรับ Sentiment ที่ดีจากเงินยูโรและเงินปอนด์แข็งค่าขึ้น ตอบรับผลจากการแยกตัวของสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ และเมื่อคืนที่ผ่านมาประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐทวีตข้อความว่าได้สนทนาทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนเพื่อแก้ไขความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ซึ่งการหารือดังกล่าวเป็นไปด้วยดี
อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันปรับตัวลงต่ำสุดในอรบ 7 เดือนมาอยู่แถว 63 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากกำลังการผลิตน้ำมันของทั้งสหรัฐ, กลุ่มโอเปค และรัสเซีย เพิ่มสูงขึ้น
พร้อมแนะนำให้นักลงทุนติดตามตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯที่จะประกาศออกมาในวันนี้
ให้แนวรับวันนี้ 1,660-1,650 จุด ส่วนแนวต้าน 1,675-1,680 จุด
ประเด็นพิจารณาการลงทุน
- ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (1 พ.ย.61) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 25,380.74 จุด พุ่งขึ้น 264.98 จุด (+1.06%) ขณะที่ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,434.06 จุด เพิ่มขึ้น 128.16 จุด (+1.75%) และดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,740.37 จุด เพิ่มขึ้น 28.63 จุด (+1.06%)
- ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น 73.93 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีน เพิ่มขึ้น 43.01 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง เพิ่มขึ้น 564.44 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวัน เพิ่มขึ้น 30.11 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ เพิ่มขึ้น 22.15 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์ เพิ่มขึ้น 20.82 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซีย เพิ่มขึ้น 4.06 จุด
- ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (1 พ.ย.61) 1,667.55 จุด ลดลง 1.54 จุด (-0.09%)
- นักลงทุนต่างชาติต่างชาติขายสุทธิ 1,582.67 ล้านบาท เมื่อวันที่ 1 พ.ย.61
- ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ธ.ค.ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (1 พ.ย.61) ปิดที่ 63.69 ดอลลาร์/บาร์เรล ร่วงลง 1.62 ดอลลาร์ หรือ 2.5%
- ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (1 พ.ย.61) ที่ 5.43 ดอลลาร์/บาร์เรล
- เงินบาทเปิด 32.92/94 ทิศทางวันนี้แข็งค่า มองกรอบ 32.90-33.00
- สำนักวิจัยฯ จ่อหั่นประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ หลังส่งออกเดือน ก.ย.หดตัวเหนือการคาดหมาย "กรุงไทย"ประเมินเศรษฐกิจจีนชะลอ พิษสงครามการค้ากระทบถึงไทย กระทบจีดีพีโตต่ำเป้า 4.5% ด้าน"ทีเอ็มบี"เผยรอดูตัวเลขเดือนต.ค.ก่อนปรับประมาณการทั้งปีใหม่ ขณะ"ศูนย์วิจัยกสิกร"ห่วงเศรษฐกิจ ก.ย.ชะลอยกแผง ระบุยังมีลุ้น"จีดีพี"โต 4.5%
- "พาณิชย์"เผยเงินเฟ้อเดือน ต.ค.เพิ่ม 1.23% โตในอัตราที่ชะลอตัวลงเป็นเดือนที่ 2 แต่ยังขยายตัวต่อเนื่อง 16 เดือนติดต่อกัน ชี้น้ำมันขึ้นเป็นสาเหตุหลัก และยังมีการสูงขึ้นของอาหารสำเร็จรูป และค่าเช่าบ้าน แต่ผักผลไม้ราคาลดลง เหตุผลผลิตออก ส่วนเงินเฟ้อ 10 เดือน เพิ่ม 1.15% คาดทั้งปีเพิ่ม 1.17-1.21% ต่ำกว่าค่ากลางที่ประเมินไว้ 1.25%
- ธปท.เผยดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือน ต.ค.ลดลงอยู่ที่ 49.6 หวั่นส่งออกทรุด กระทบการผลิต ยอดคำสั่งซื้อ
- อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า สหรัฐได้ออกประกาศผลการพิจารณาโครงการทบทวนจีเอสพีหรือการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร โดยได้ตัดสิทธิจีเอสพีสินค้า 11 รายการ จาก 15 ประเทศ ซึ่งรวมถึงไทยด้วย เนื่องจากมีการนำเข้าไปยังสหรัฐ เกินมูลค่าหรือเกินส่วนแบ่งตลาดที่กำหนดไว้ 180 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกิน 50% ตามเกณฑ์ว่าด้วยความจำเป็นด้านการแข่งขัน ที่สหรัฐกำหนด มีผลเมื่อวันที่ 1 พ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้สินค้าดังกล่าวที่นำไปขายสหรัฐ มีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากภาษีนำเข้า
*หุ้นเด่นวันนี้
- BDMS (ฟินันเซีย ไซรัส) "ซื้อ"เป้า 30 บาท คาดกำไร Q3/61 โต 30% Q-Q และ 10% Y-Y อยู่ที่ 2,651 ลบ. จากโรคระบาดลากยาว และการควบคุมต้นทุนที่ดี ส่วนการเติบโตระยะยาวจะได้แรงหนุนจากสาขาที่กระจายทั่วประเทศ และ Center of Excellent ที่จะช่วยยกระดับอัตรากำไร โดยคาดกำไรปกติปี 61-63 โตเฉลี่ย 16% ต่อปี ด้านราคาหุ้นในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมายัง laggard กลุ่มอยู่ 3% และ SET50 อยู่ 2%
- CENTEL (กรุงศรี) "ซื้อ"เป้า 45 บาท เก็งกำไรก่อนภาครัฐเตรียมออกมาตรการกระตุ้นนักท่องเที่ยว (ฟรีวีซ่า ออน อาร์ไรวัล) ในสัปดาห์หน้า ด้านผลประกอบการ Q3/61 คาดมีกำไรสุทธิ 427 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 16%yoy
- THANI (เคทีบี) "ซื้อ"เป้า 11 บาท ตั้งสำรองลดลงอย่างมีนัยใน Q3/61 สาเหตุจากตั้งสำรองส่วนเกินสูงในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มองเพียงพอต่อการบังคับใช้ TFRS9 ผู้บริหารยังกล่าวถึงธุรกิจนายหน้าค้าประกันภัยที่จะเริ่มในปี 62 ภายหลังได้รับใบอนุญาตในช่วง Q3/61 พร้อมประมาณการกำไรสุทธิปี 61-62 เพิ่มขึ้นปีละ 6% อยู่ที่ 1.6 และ 2.0 พันล้านบาท (+46% และ +20%YoY) เป็นผลจากปรับลดหนี้สงสัยจะสูญลงปีละ 12% และปรับเพิ่มรายได้อื่นปี 62 ที่ 12% จากธุรกิจนายหน้าค้าประกันภัย