นายเสวก ศรีสุชาต ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร บมจ.เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง (PLE) กล่าวว่า บริษัท ตั้งเป้าหมายรายได้ปี 62 พื้นกลับมาเติบโต 10-20% หลังจากปีนี้รายได้หดลงจากปีก่อนมาอยู่ที่ 7-8 พันล้านบาท โดยปี 60 มีรายได้ 8.4 พันล้านบาท ทั้งนี้ เป็นไปตามงานที่ได้รับเข้ามาเพิ่มเติม ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีงานในมือ (Backlog) ราว 2 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะทยอยรับรู้ในปีนี้รวม 7-8 พันล้านบาท และที่เหลือจะทยอยรับรู้ในปีหน้า
ในช่วงที่เหลือของปี นอกจากล่าสุดที่บริษัทได้รับงานก่อสร้างและตกแต่งภายในอาคาร สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แห่งใหม่ มูลค่างานรวม 2,643 ล้านบาทแล้ว บริษัทยังได้รับงานก่อสร้างอาคารของโรงพยบาลเวชธานี มูลค่าราว 200 ล้านบาท และงานก่อสร้างโครงการคอนโดมิเนียม XT พญาไท มูลค่ากว่า 2 พันล้านบาท
นอกจากนั้น บริษัทยังอยู่ระหว่างรอเข้าประมูลงานก่อสร้างอาคารสำนักงาน ธนาคารออมสิน มูลค่างานประมาณ 3 พันล้านบาท คาดว่าน่าจะมีขึ้นภายในปีนี้ และหากได้รับงานดังกล่าวเข้ามาก็จะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยสนับสนุน Backlog ที่จะทยอยรับรู้ในปีหน้า
ส่วนในปี 62 บริษัทก็เตรียมเข้าประมูลงานโครงการภาครัฐอีกหลายงาน เช่น โครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่, ศูนย์ราชการ และโครงการก่อสร้างสนามบิน มูลค่าหลักแสนล้านบาท คาดหวังว่าจะได้รับงานไมต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท
ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมาบริษัทก็ได้เข้าไปซื้อซองเสนอราคาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน แต่คงไม่ได้เข้าร่วมประมูลโครงการดังกล่าวด้วยตัวเอง เนื่องจากเห็นว่าต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง แต่มองโอกาสในการเป็นผู้รับเหมาช่วง (Sub-Contract) แทน รวมถึงการเข้าไปรับงานในลักษณะ Sub-Contract โครงการลงทุนต่าง ๆ ในพื้นที่ EEC ด้วย
พร้อมกันนั้น บริษัทยังสนใจเข้าประมูลงานประเภทโครงการอสังหาริมทรัพย์รูปแบบผสมมิกซ์ยูส (Mixed-used) ของกลุ่ม บมจ.เซ็นทรัล พัฒนา (CPN) ที่ร่วมทุนกับ บมจ.ดุสิตธานี (DTC) ในการพัฒนาและยกระดับพื้นที่ย่านธุรกิจสำคัญใจกลางกรุงเทพฯ มูลค่า 3.67 หมื่นล้านบาท และโครงการ One Bangkok ซึ่งถือเป็นโครงการขนาดใหญ่
ทั้งนี้ สัดส่วนงานในปีหน้าคาดว่าจะมาจากภาครัฐและเอกชนอย่างครึ่ง หรือ 50:50%
นายเสวก กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทยังอยู่ระหว่างศึกษาลงทุนโรงไฟฟ้าชีวมวลในประเทศญี่ปุ่น โดยคาดว่าจะเห็นความชัดเจนว่าจะลงทุนหรือไม่ในปี 62 ซึ่งเบื้องต้นอาจจะลงทุนด้วยตนเอง หรือหาพันธมิตรร่วมลงทุน โดยไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นพันธมิตรท้องถิ่นเท่านั้น ส่วนเงินลงทุนจะขึ้นอยู่กับขนาดของโรงไฟฟ้า หากขนาด 20 เมกะวัตต์ก็คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 1 พันล้านบาท โดยจะมาจากเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท และเงินกู้ยืมจากสถาบันทางการเงิน แต่หากมีขนาด 50 เมกะวัตต์ก็จะใช้เงินลงทุนประมาณ 3 พันล้านบาท ก็อาจจะต้องมีการเพิ่มทุน
"การลงทุนโรงไฟฟ้าชีวมวล เรายังอยู่ในช่วงของการศึกษา ซึ่งเราต้องการหาเชื้อเพลิงให้ได้ก่อน คาดว่าจะเห็นความชัดเจนว่าจะทำหรือไม่ทำได้ก็น่าจะเป็นปีหน้า"นายเสวก กล่าว