นายชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.นอร์ทอีส รับเบอร์ (NER) เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่ายอดขายปี 64 จะเติบโตตามกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น 100% เป็น 4.6 แสนต้นภายในปี 63 จากปัจจุบัน 2.3 แสนตัน/ปีในปีนี้ ขณะที่บริษัทเน้นการสร้างเสถียรภาพของผลการดำเนินงานไม่ให้ผันผวนตามธรรมชาติของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ด้วยการซื้อสินค้าจริงมาทำมาผลิตเพื่อส่งมอบตามคำสั่งซื้อ ไม่มีนโยบายเก็งกำไรจากสต็อก พร้อมทั้งรักษาสมดุลของฐานลูกค้าเพื่อบริหารความเสี่ยง
แต่อย่างไรก็ตาม มองว่าโอกาสของการขยายตลาดในประเทศมีเพิ่มขึ้น จากผลกระทบสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนอาจจะทำให้โรงงานที่ใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบย้านฐานการผลิตมายังประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศผู้ส่งออกยางหลักของโลก
"จากนี้ไปอีก 3 ปี ยอดขายของบริษัทจะเพิ่มขึ้นตามกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น 100% ปี 62 กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นมา 26% จากกำลังการผลิต และปี 63 เพิ่มขึ้นมาอีก 74% จนถึงสิ้นปี 63 จะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 100% เราก็จะมียอดขายเพิ่มขึ้นตามนั้น"นายชูวิทย์ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
สำหรับผลประกอบการในปี 60 บริษัทมีรายได้รวม 9,819.70 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 224.12 ล้านบาท ส่วนงวด 6 เดือนแรกของปี 61 บริษัทมีรายได้รวม 3,976.51 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 166.67 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 4.19%
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NER กล่าวว่า สินค้ายางเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีราคาผันผวนตามราคาตลาดโลก บริษัทเลือกซื้อของจริงและขายของจริง กล่าวคือจะล็อกราคาซื้อและราคาขายพร้อมวันส่งมอบสินค้า เป็นที่มาของการกำหนดราคาขาย เพื่อทำให้อัตรากำไร (มาร์จิ้น) ของบริษัทค่อนข้างคงที่ ซึ่งบริษัทใช้แนวทางในการดำเนินงานเช่นนี้มาแล้วประมาณ 6 ปี นับจากปี 54 โดยไม่เลือกใช้การซื้อขายยางในตลาดล่วงหน้า หรือการเก็งกำไรสต็อกวัตถุดิบ แต่สาเหตุส่วนหนึ่ง คือ ตลาดซื้อขายล่วงหน้าไม่มีสินค้ามากเพียงพอให้ทุกโรงงานเข้าไปใช้
"สิ่งที่เราทำงาน เราไม่ได้เก็งกำไร เพราะฉะนั้นแล้วเราเองมีการซื้อขายทุกวัน วิธีการของเรา ซื้อวันนี้ บวกค่าการผลิต บวกกำไร แล้วก็ขายออก คือเราซื้อของจริงในวันนี้ และถือของจริงเอาไว้ประมาณ 3-5 เดือนก่อนส่งให้ลูกค้าดังนั้นเราจะไม่กระทบความผันผวนของราคายาง เราไม่ได้เก็งกำไรหรือเทรดในตลาดซื้อขายล่วงหน้า เราซื้อของจริงอย่างเดียว เราซื้อของจริง แล้ว fixed วันส่งมอบไว้... เรายอมจ่ายดอกเบี้ยเพิ่ม โดยยอมตุนสินค้าไว้ 3-4 เดือนแล้วส่งมอบ จากทั่วไปตุนสินค้าไว้ 2 เดือนก่อนส่งมอบ แม้ว่าภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น แต่ความเสี่ยงความผันผวนของราคาของบริษัทแทบจะไม่มีเลย"นายชูวิทย์ กล่าว
ทั้งนี้ บริษัทมีเงินกู้สถาบันจำนวน 3.8 พันล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 6% ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนธุรกิจ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นต้นทุนในการสต็อกสินค้า ซึ่งบริษัทรับภาระดอกเบี้ยประมาณ 250 ล้านบาท/ปี แต่หลังเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) บริษัทจะเจรจาขอปรับลดดอกเบี้ยกับธนาคารที่คาดจะได้รับการปรับลดดอกเบี้ย 0.25% หรือภาระดอกเบี้ยลดลงไปประมาณ 100 ล้านบาท/ปี และใช้เงินส่วนหนึ่งที่ระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์ในต้นทุนต่ำกว่าเงินกู้ก็จะทำให้อัตรากำไรดีขึ้นในอนาคต
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NER กล่าวว่า บริษัทมีแผนงานหลักที่จะนำเงินจากการขายหุ้น IPO จำนวนราว 1,548 ล้านบาท เพื่อใช้ในการขยายกำลังการผลิต 2 ครั้ง ครั้งแรกในปี 62 ใช้เงิน 40 ล้านบาทปรับปรุงเครื่องจักรยางแผ่นผสม (RSS, Mixtures Rubber) ทำให้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 6 หมื่นตัน/ปี หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้น 26% และใช้เงินอีก 456 ล้านบาทในการขยายกำลังการผลิตครั้งที 2 สร้างโรงงานใหม่หลิตยางแท่ง (STR) และยางแท่งผสม (Mixtures Rubber) กำลังการผลิต 1.7 แสนตันต่อปี หรือคิดเป็น 74% และเงินส่วนที่เหลือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน
ปัจจุบัน บริษัทมีกำลังการผลิตที่ 2.3 แสนตัน/ปี มีผลิตภัณฑ์ 3 ประเภทคือ ยางแผ่นรมควัน (RSS) ยางแท่ง (STR) และ ยางผสม(Mixtures Rubber) หรือ ยางคอมปาวด์ (Compound Rubber)
นายชูวิทย์ กล่าวว่า การขยายกำลังการผลิตครั้งนี้เป็นไปตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นของลูกค้าที่มีอยู่แล้ว 22 รายในปัจจุบัน บริษัทจึงกล้าตัดสินใจขยายโรงงานเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ซึ่งมีทั้งลูกค้าในประเทศและต่างประเทศ และจะทำให้บริษัทมีส่วนแบ่งมากขึ้น โดยคาดว่าอันดับผู้ผลิตยางปรับขึ้นมาอันดับที่ 5-7 จากปัจจุบันอยู่อันดับที่ 15 ของไทย
"โรงงานยางในโลก โดยเฉพาะในจีนเขาใช้ยาง 2-3 พันตัน/วัน แต่เรา (NER) ผลิตได้เพียง 500 ตัน/วัน ซึ่งโรงงาน หรือเทรดเดอร์เขาต้องการสินค้าจากเราประมาณ 1,000 ตัน/วัน ที่ทำก็เพื่อรักษาฐานลูกค้า วันนี้เรามีลูกค้าทั้งหมด 22 ราย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ พยายามกระจายการขายออกไปเพื่อไม่ให้หนักไปรายใดรายหนึ่ง และเพื่อป้องกันความเสี่ยงของเราด้วย"นายชูวิทย์ กล่าว
ยอดขายของบริษัทแบ่งสัดส่วนขายในประเทศ 60% โดยมีลูกค้าหลัก คือ กลุ่มผู้ผลิตยางล้อรถยนต์ ได้แก่ บริดสโตนทั้ง 3 โรงงานในประเทศไทย, Linglong (Thailand) ที่ชลบุรี, Sentury Tire (Thailand) ที่ระยอง ทั้งหมดเป็นโรงงานผลิตยางล้อรถยนต์ที่เป็นผู้ใช้รายใหญ่ และอีก 40% จะขายผ่านผู้ค้าคนกลาง (Trader) ในต่างประเทศ อาทิ สิงคโปร์ อาทิ Olam, R-One , Grand forecast ส่วนจีน ได้แก่ Shanghai Victory ซึ่งบริษัทเทรดเดอร์จะส่งต่อขายให้ลูกค้าอีกทอดหนึ่ง และหลังการขยายกำลังการผลิตก็คาดว่าจะคงสัดส่วนตลาดในประเทศ 60% และตลาดต่างประเทศ 40%
อย่างไรก็ตาม บริษัทได้วางเป้าหมายจะขายในประเทศมากขึ้น โดยมองโอกาสที่โรงงานยางล้อรถยนต์ของจากจีนจะย้ายฐานการผลิตมาที่ประเทศไทย โดยเฉพาะในช่วง 1-2 ปีนี้ ซึ่งเป็นผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐที่จะทำให้เกิดการกีดกันการค้าระหว่างกัน ซึ่งกลุ่มล้อยางรถยนต์เริ่มได้รับผลกระทบตั้งแต่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว และได้มีการปรับตัวไปบ้างแล้ว ซึ่งบางส่วนได้ย้ายฐานการผลิตมาที่ไทย เช่น กลุ่ม Linglong (Thailand) จากก่อนหน้านี้ บริษัทได้ส่งออกไปให้โรงงาน Linglong ในจีนอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม บริษัทพยายามรักษาสัดส่วนยอดขายในประเทศ 60% และต่างประเทศ 40% เพราะส่งออกจะเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งบริษัทจะทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนไว้ประมาณ 80% ทำให้ยังมีความเสี่ยงเรื่องนี้ 20% จึงไม่ต้องการขยายการส่งออกไปมากนัก โดยในงวด 6 เดือนแรกของปี 61 บริษัทยังสามารถรักษาสัดส่วนตลาดดังกล่าวไว้ได้
นายชูวิทย์ กล่าวว่า การขยายกำลังการผลิตครั้งนี้ บริษัทจะรับซื้อวัตถุดิบยางจากเกษตรกรพื้นที่ปลูกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นหลัก โดยในบุรีรัมย์มีพื้นที่ปลูกยางราว 6 แสนไร่ ศรีสะเกษ 6 แสนไร่ และ อุบลราชธานี 8 แสนไร่ ส่วนทางภาคใต้และภาคเหนือก็รับซื้อบ้างเพื่อกระจายความเสี่ยงด้านวัตถุดิบ
ส่วนทิศทางตลาดยางพารา นายชูวิทย์ กล่าวว่า คาดการณ์ว่าอยู่ในช่วงที่ราคาอยู่ในระดับต่ำสุด โดยราคาตลาดซื้อขายล่วงหน้าสิงคโปร์ (SICOM) อยู่ที่ 1,450 เหรียญ/ตัน (ณ 26 ต.ค.61) ส่งมอบเดือน มี.ค.62 จากที่เคยทำจุดสุงสุดไม่เกิน 4,000 เหรียญ/ตันเมื่อปี 51 อย่างไรก็ตาม เห็นว่าราคายางในปีหน้าขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจโลก แต่ยางพาราเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่คาดการณ์ยาก จึงย้ำว่าการใช้วิธีซื้อขายโดยล็อกราคาและปริมาณก่อนส่งมอบช่วยลดความผันผวนราคาจากตลาดโลก
ทั้งนี้ ช่วง 9 เดือน ปี 61 ราคายางในประเทศอยู่ที่เฉลี่ย 45 บาท/กก.ต่ำกว่าปีก่อนที่ราคายางเฉลี่ย 50 บาท/กก.
อนึ่ง NER เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 600 ล้านหุ้น ราคา IPO ที่ 2.58 บาท ระหว่างวันที่ 29-31 ต.ค.61 ราคาเสนอขาย IPO คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) เท่ากับ 9.96 เท่า คำนวณกำไรสุทธิจากผลประกอบการของบริษัทในช่วง 4 ไตรมาสย้อนหลัง ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.60 ถึงวันที่ 30 มิ.ย.61 และจะนำหุ้น NER เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในวันที่ 7 พ.ย.61
https://youtu.be/wErIqA1_y8M